ดัชนีความพร้อมด้านเอไอของไทยอยู่อันดับ 37 จาก 193 ประเทศ หล่นลง 6 อันดับจากปีก่อนที่อยู่ในลำดับที่ 31 จาก 181 ประเทศ


สรุปข่าว
ที่งานมหกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์ "AI Thailand Forum 2024" ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์(เอไอ) แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวถึงการดำเนินงานขับเคลื่อนแผน AI แห่งชาติตามแผนยุทธศาสตร์ในด้านต่าง ๆ ในปีที่ผ่านมาได้สะท้อนผ่านการจัดอันดับดัชนีความพร้อมด้านปัญญาประดิษฐ์ของรัฐบาล (AI Government Readiness Index) ปี 2566 ที่ประเทศไทยยังคงรักษาตำแหน่งในกลุ่ม 40 อันดับแรกของโลก ท่ามกลางการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นและจำนวนประเทศที่เข้าร่วม การจัดอันดับที่เพิ่มขึ้น โดยอยู่ในลำดับที่ 37 จาก 193 ประเทศ แม้จะปรับตัวลง 6 อันดับจากปีก่อนที่อยู่ในลำดับที่ 31 จาก 181 ประเทศ เมื่อพิจารณาในรายละเอียด พบว่าไทยมีจุดแข็งในด้านภาครัฐที่ได้ 77.21 คะแนน และด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ได้ 70.55 คะแนน สะท้อนความพร้อมของกลไกภาครัฐและระบบโครงสร้างพื้นฐานในการรองรับการพัฒนา AI ขณะที่ด้านเทคโนโลยีได้ 41.33 คะแนนซึ่งสูงขึ้นจากปีก่อน แต่ก็ยังเป็นส่วนสำคัญที่ไทยต้องเพิ่มการพัฒนาต่อยอดเพื่อยกระดับขีดความสามารถด้าน AI ในองค์รวมของประเทศในระยะต่อไป
สำหรับการจัดทำแผนปฏิบัติการ AI แห่งชาติตลอดสองปีที่ผ่านมามีผลการดำเนินงานที่สำคัญในด้านต่าง ๆ ได้แก่ ด้านจริยธรรมและธรรมาภิบาล มีการจัดทำคู่มือแนวทางการประยุกต์ใช้ AI อย่างมีธรรมาภิบาลสำหรับองค์กร พร้อมเครื่องมือประเมินด้าน AI อีกทั้งยังสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายต่างประเทศเพื่อร่วมนำเสนอและรับฟังความคิดเห็นแนวทางการกำกับดูแล AI ในระดับสากล เพื่อนำมาเตรียมความพร้อมด้านจริยธรรมและธรรมภิบาล AI ของไทย ด้านโครงสร้างพื้นฐาน มีการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางบริการ AI ประเทศไทย (National AI Service platform) ภายใต้การสนับสนุนของ GDCC มีจำนวนการใช้งานโดยเฉลี่ยเดือนละ 1 ล้านครั้งต่อเดือน รวมทั้งให้บริการ LANTA ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพการคำนวณอันดับ 1 ในอาเซียน
ขณะที่ การวิจัยด้าน AI ของภาครัฐและเอกชน ด้านการพัฒนากำลังคนด้าน AI ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่สุดของแผนฯ ซึ่งในปีที่ผ่านมาได้ดำเนินพัฒนากำลังคนด้าน AI ผ่านการพัฒนาทักษะทางด้าน AI ในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ แพลตฟอร์มออนไลน์ที่เรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง หลักสูตรอบรมทักษะ AI ระยะสั้นและหลักสูตรพัฒนาทักษะ AI ที่ผสมผสานตั้งแต่การเรียนรู้ด้วยตนเองจนปิดท้ายด้วยการฝึกงานในสถานที่จริงเป็นจำนวนรวมมากกว่า 1 แสนคน
ประเทศไทยได้แสดงความพร้อมรับมือผ่าน “แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย พ.ศ. 2565-2570″ โดยมีการขับเคลื่อนมาแล้ว 2 ปี ภายใต้การบูรณาการความร่วมมือระหว่าง 2 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งได้ร่วมกับพันธมิตร ได้แก่ สมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIEAT) สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIAT) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) บริษัทเอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) (SCBX)กสิกร บิซิเนส เทคโนโลยี กรุ๊ป(KBTG) จัดงานมหกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์ "AI Thailand Forum 2024" ภายใต้แนวคิด “Sustainable Growth with AI” ที่รวบรวมผู้เล่นหลักในตลาด AI แลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย AI พร้อมผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นผู้นำด้าน AI ในภูมิภาค
ที่มา - ภาพ : สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย
ที่มาข้อมูล : -