
นักจิตวิทยากลุ่มหนึ่งได้ทำการทดลองความสามารถในการจับโกหกของคนทั่วไป โดยผู้วิจัยถามผู้ร่วมการทดลองจำนวนหนึ่งที่สามารถบอกได้ถูกต้องร้อยละ 90 ว่าผู้พูดกำลังพูดจริงหรือโกหก คนที่เก่งกาจในการจับโกหกเหล่านี้ตอบตรงกันว่า เขาสังเกตจากอวัจนภาษา และวิธีการใช้คำพูดของผู้พูดแต่ละคน
ดังนั้น นักจิตวิทยาจึงได้เสนอแนะวิธีสังเกตเบาะแสของการพูดโกหกที่เกิดขึ้นระหว่างปฏิสัมพันธ์กันได้โดยไม่ต้องพึ่งเครื่องจับเท็จ โดยเราสามารถสังเกตสัญญาณของการโกหกได้จากสีหน้าท่าทาง วิธีการพูด การใช้ภาษา

สรุปข่าว
สัญญาณจากพฤติกรรมที่ใช้ในการจับโกหก มีดังนี้
- พูดด้วยน้ำเสียงที่สูงกว่าปกติ พูดเร็ว และดังกว่าปกติ พูดติดขัด พูดผิดบ่อย ๆ เนื่องจากความรู้สึกกลัวว่าจะถูกจับได้ว่ากำลังโกหก
- การพูดด้วยน้ำเสียงต่ำกว่าปกติ พูดช้า สีหน้าเศร้า และมักเหลือบตามองลงต่ำบ่อย ๆ นื่องจากความรู้สึก ละอายใจหรือรู้สึกผิด
- หากเราสังเกตพบว่าคู่สนทนามีสีหน้าแวบแรกที่ขัดแย้งกับสีหน้าและคำพูดที่เขาแสดงต่อมา นั่นอาจเป็นสัญญาณว่าเขากำลังปิดบังความรู้สึกที่แท้จริงของเขาไม่ให้คุณรู้
- มีกิริยาท่าทางที่แสดงให้เห็นถึงการที่ต้องใช้ความพยายามทางความคิดมากกว่าปกติ เช่น การตอบคำถามจะช้ากว่า มีท่าทีลังเลในการพูด การเคลื่อนไหวร่างกาย การใช้มือไม้ประกอบจะน้อยลงกว่าปกติ เพราะเกิดอาการเกร็ง จดจ่ออยู่กับการตั้งใจแต่งเรื่องให้สมเหตุสมผลให้มากที่สุด และควบคุมกิริยาอาการไม่ให้มีพิรุธนั่นเอง
เรื่องราวที่เป็นเรื่องโกหก หากผู้พูดไม่มีโอกาสเตรียมตัวซักซ้อมการเล่าเรื่องมาก่อน เรื่องราวที่เล่าก็จะไม่ค่อยราบรื่น เนื้อเรื่องมักมีแต่ข้อมูลพื้น ๆ ไม่มีรายละเอียด คลุมเครือ ไม่ชี้เฉพาะเจาะจง เช่น ไม่บอกเวลาหรือสถานที่ที่แน่ชัด
ที่มารูปภาพ : Canva

พรรณพิไล ปุกหุต