
"มือเท้าเย็น เหงื่อออก ตัวซีด ใจสั่น... ระวัง! อาจเป็นภาวะช็อกที่ต้องรีบช่วย!" ภาวะช็อก (Shock) เป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายได้รับเลือดและออกซิเจนไม่เพียงพอ ทำให้อวัยวะสำคัญเริ่มทำงานผิดปกติ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจนำไปสู่ความล้มเหลวของอวัยวะและอันตรายถึงชีวิต ภาวะนี้สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ และจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยและแก้ไขอย่างรวดเร็ว
ประเภทของภาวะช็อก
1. ช็อกจากการสูญเสียสารน้ำหรือเลือด (Hypovolemic Shock) เกิดจากการสูญเสียเลือดหรือของเหลวในร่างกายจำนวนมาก เช่น จากอุบัติเหตุรุนแรง มีภาวะเลือดออกภายใน การสูญเสียสารน้ำจากการอาเจียน ถ่ายเหลว เป็นต้น ส่งผลให้ความดันโลหิตลดลงและร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ
2. ช็อกจากการขยายตัวของหลอดเลือด (Distributive Shock) เกิดจากหลอดเลือดสูญเสียการตึงตัว ทำให้เลือดเลือดขยายตัว ความดันโลหิตจึงลดลง ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆได้ลดลง ซึ่งมีหลายสาเหตุ เช่นภาวะช็อกจากการติดเชื้อ (Septic shock) ปฎิกิริยาการแพ้รุนแรง (Anaphylactic shock) ภาวะความผิดปกติของระบบประสาท (Neurogenic shock) หรือความผิดปกติของโรคต่อมไร้ท่อบางชนิด
3. ช็อกจากโรคหัวใจ (Cardiogenic shock) เกิดจากหัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้เพียงพอ ส่งผลให้ความดันโลหิตลดลง และอวัยวะสำคัญขาดออกซิเจน เช่น ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะอย่างรุนแรง เป็นต้น

สรุปข่าว
4. ภาวะช็อกจากการอุดกั้น (Obstructive shock) ส่วนใหญ่เกิดจากสาเหตุจากภายนอกหัวใจ ทำให้การบีบตัวของหัวใจล้มเหลว เช่น ภาวะลมรั่วในเยื่อหุ้มปอดภาวะบีบรัดหัวใจจากของเหลวปริมาณมากอยู่ในถุงเยื่อหุ้มหัวใจ ภาวะลิ้มเลือดอุดตันในปอด ภาวะความดันในหลอดเลิอดแดงปอดสูง เป็นต้น
5. ภาวะช็อกจากสาเหตุอื่นๆ
สังเกตสัญญาณอันตรายของภาวะช็อก ภาวะช็อกสามารถสังเกตได้จากอาการสำคัญ เช่น ตัวเย็นซีด เหงื่อออกมาก ชีพจรเต้นเร็วและเบา ความดันโลหิตต่ำ หายใจเร็วและตื้น สับสนหรือหมดสติ นอกจากนี้ ผู้ที่มีภาวะช็อกจากการเสียเลือดอาจมีอาการกระหายน้ำรุนแรง ส่วนผู้ที่มีภาวะช็อกจากการแพ้รุนแรงอาจมีผื่นและบวมที่ใบหน้าและลำคอร่วมด้วย ในกรณีร้ายแรงสุดอาจนำไปสู่ อาการหายใจเฮือกสุดท้าย (Agonal Breathing) ซึ่งเป็นสัญญาณของภาวะวิกฤตที่ร่างกายกำลังขาดออกซิเจนอย่างรุนแรง ผู้ป่วยจะหายใจแบบกระตุก ช้า และไม่สม่ำเสมอ
แนวทางปฏิบัติเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉิน (จากคู่มือการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานในผู้ใหญ่) หากพบผู้ป่วยที่มีอาการเข้าข่ายภาวะช็อก ควรปฏิบัติดังนี้:
1. ประเมินอาการผู้ป่วย หากพบสัญญาณของภาวะช็อค รีบโทรแจ้ง 1669 หรือนำส่งโรงพยาบาลใกล้ตัวที่สุด (การประเมินที่ล่าช้า ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตเพิ่มขึ้น)
2. ให้ผู้ป่วยนอนราบและยกขาสูง (ยกเว้นกรณีที่สงสัยว่ามีอาการบาดเจ็บที่ศีรษะ คอ หรือไขสันหลัง) เพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองได้ดีขึ้น
3. คลายเสื้อผ้าให้หลวม เพื่อให้ร่างกายหายใจได้สะดวกขึ้น
4. ควบคุมภาวะเสียเลือด หากมีบาดแผลที่มีเลือดออก ควรใช้ผ้าสะอาดกดปิดแผลเพื่อหยุดเลือด
5. เฝ้าระวังการหายใจ หากผู้ป่วยหมดสติ ให้ตรวจสอบว่ามีการหายใจหรือไม่ หากไม่มี ควรทำ CPR ทันที
6. ห้ามให้ผู้ป่วยดื่มน้ำหรืออาหาร เพราะอาจทำให้สำลักหรือเกิดอาการแทรกซ้อนได้
ภาวะช็อกเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็ว การเรียนรู้เกี่ยวกับประเภทของช็อก วิธีสังเกตอาการ และการปฐมพยาบาลเบื้องต้นสามารถช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตและลดความเสียหายของอวัยวะสำคัญได้ หากพบอาการที่น่าสงสัย อย่าลังเลที่จะขอความช่วยเหลือทางการแพทย์โดยทันที เพราะการตอบสนองที่รวดเร็วอาจเป็นตัวแปรสำคัญระหว่างชีวิตและความสูญเสีย

ชมภู ศรียามาตย์