
นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า องค์การอนามัยโลก และองค์กรเครือข่ายหยุดยั้งวัณโรคระดับนานาชาติ (Stop TB Partnership) ได้มีมติให้วันที่ 24 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันวัณโรคสากล (World TB Day) เพื่อให้เกิดการรณรงค์ร่วมกันในการต่อต้านวัณโรคและย้ำเตือนให้ประชากรทั่วโลกตระหนักว่าวัณโรคยังคงระบาดและยังเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญ
วัณโรคถือเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของคนไทย
จากข้อมูลรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ปี 2567 พบว่าวัณโรคยังคงเป็นโรคติดเชื้อที่อันตราย มีผู้ป่วยกว่า 10.8 ล้านราย และมีผู้เสียชีวิตจากวัณโรคประมาณ 1.3 ล้านราย ส่วนประเทศไทย ในปี 2567 มีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ประมาณ 113,000 ราย และเสียชีวิตจากวัณโรคกว่า 13,000 ราย ถือเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของคนไทยเช่นกัน

สรุปข่าว
ค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยงสูง
กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินงานควบคุมวัณโรคตามแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านการต่อต้านวัณโรค เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และยุทธศาสตร์ยุติวัณโรค (End TB Strategy) ขององค์การสหประชาชาติและองค์การอนามัยโลก โดยขับเคลื่อนนโยบายผ่านแผนการพัฒนาระบบบริการสุขภาพด้านวัณโรค (Service Plan) ด้วยการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยงสูง การวินิจฉัย การรักษา และการป้องกันการเกิดวัณโรคอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานในทุกด้าน ตั้งเป้าลดอัตราการตายจากวัณโรคลง ร้อยละ 95 และลดผู้ป่วยรายใหม่ลง ร้อยละ 90 ภายในปี 2578
นอกจากนั้น กรมควบคุมโรคยังได้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านการต่อต้านวัณโรคให้เป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ยุติวัณโรค (End TB Strategy) ในปี 2578 โดยให้ความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ คือ 1. การเร่งรัด การค้นหา และตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยวัณโรคและผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาในทุกกลุ่มเสี่ยง 2. ยกระดับการดูแลรักษาผู้ป่วยวัณโรคและผู้ป่วยวัณโรคดื้อยา 3. เพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงการวินิจฉัย การรักษาการติดเชื้อวัณโรคระยะแฝง และการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ และ 4. เสริมสร้างความเข้มแข็งระบบสนับสนุนการดำเนินงานวัณโรค
วัณโรคเป็นโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจ
สำหรับวัณโรคเป็นโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจ ติดต่อจากผู้ป่วยไอ จาม ไม่ปิดปากปิดจมูก อาการสำคัญของผู้ป่วยวัณโรคที่เห็นได้ชัด คือ ไอเรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์ ไอเป็นเลือด และอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีไข้ น้ำหนักลด มีเหงื่อออกผิดปกติในเวลากลางคืน เจ็บหน้าอก เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ซึ่งถ้าหากมีอาการไอมีเลือดออก ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อรับการดูแลรักษาได้อย่างถูกต้อง ป้องกันภาวะหายใจล้มเหลวเฉียบพลันและเสียชีวิต
“รัฐบาลแนะประชาชนสามารถป้องกันวัณโรคได้ โดยการสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ และเข้ารับการตรวจสุขภาพหากมีอาการผิดปกติ เพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่เป้าหมาย “ยุติวัณโรคอย่างยั่งยืน” ตามมาตรฐานสากล” นายคารม กล่าว

ศิริพร บุญเถื่อน