โรคอุจจาระร่วง! เตือนปีนี้พบผู้ป่วยแล้ว 129,638 ราย เช็กอาการ-วิธีป้องกัน

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ช่วงฤดูร้อน ขอย้ำเตือนประชาชนให้ระมัดระวังอันตรายจากโรคที่มักจะเกิดขึ้น และขอให้ประชาชนหมั่นดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะของความสะอาดของอาหาร ซึ่งอากาศร้อนทำให้อาหารเสียได้ง่าย ขอให้บริโภคอาหารที่สุก สะอาด ถูกหลักอนามัย ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมควบคุมโรคพบว่า โรคที่มักจะเกิดขึ้นในช่วงอากาศร้อน ประกอบด้วย

1.โรคไข้หวัดใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 14 มีนาคม 2568 มีผู้ป่วยสะสม 211,194 ราย มีผู้เสียชีวิต 23 ราย มีอายุระหว่าง 11 - 88 ปี เป็นเพศชาย 11 ราย เพศหญิง 12 ราย แนวโน้มผู้ป่วยสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่วนกลุ่มอายุที่พบอัตราป่วยมากที่สุด คือ กลุ่มอายุ 5 - 9 ปี สายพันธุ์ที่ตรวจพบมากที่สุด เป็น A/H1N1 ส่วนใหญ่พบการระบาดในโรงเรียน

2.โรคปอดอักเสบ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 14 มีนาคม 2568 มีผู้ป่วยสะสม 111,552 ราย ผู้เสียชีวิต 149 ราย แนวโน้มผู้ป่วยลดลงแต่ยังสูงขึ้นกว่าปี 2567 กลุ่มอายุที่พบอัตราป่วยมากที่สุด คือ กลุ่มอายุ 0 - 4 ปี ผู้เสียชีวิต ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป

โรคอุจจาระร่วง! เตือนปีนี้พบผู้ป่วยแล้ว 129,638 ราย เช็กอาการ-วิธีป้องกัน

สรุปข่าว

รัฐบาลเตือน ระวังโรคอุจจาระร่วง มาหนักช่วงหน้าร้อน แนะยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” เลือกบริโภคน้ำดื่ม-น้ำแข็ง ที่สะอาดปลอดภัย มี อย.รับรอง เผยพบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน เช็กอาการ วิธีป้องกันที่นี่

3.โรคอาหารเป็นพิษระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 14 มีนาคม 2568 พบผู้ป่วยสะสม 37,831 ราย อัตราป่วย 58.28 ต่อประชากรแสนคน ไม่พบผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบอัตราป่วยสูงสุด คือ อายุ 5 - 9 ปี โดยในปี 2568 พบผู้ป่วยสูงกว่าปี 2567

4.โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน ระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 13 มีนาคม 2568 มีผู้ป่วยสะสม 129,638 ราย เสียชีวิต 2 ราย กลุ่มอายุที่พบอัตราป่วยสูงสุด คือ อายุ 0 - 4 ปี ซึ่งปี 2568 พบผู้ป่วยใกล้เคียงกับปี 2567

“แนะประชาชนยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” ล้างมือด้วยสบู่และน้ำให้สะอาด เลือกดื่มน้ำต้มสุก หรือน้ำดื่มบรรจุขวดที่มีเครื่องหมาย อย. ฝาปิดสนิท บรรจุภัณฑ์ไม่มีรอยรั่ว เลือกบริโภคน้ำแข็งที่สะอาด บรรจุถุงต้องไม่มีรอยรั่วฉีกขาด มีเครื่องหมาย อย. และมีข้อความ “น้ำแข็งใช้รับประทานได้” ขอให้สวมหน้ากากอนามัยเมื่อเข้าไปในที่ที่มีคนรวมตัวกันจำนวนมาก หากพบว่าป่วยเป็นโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ ควรหยุดพักรักษาตัวจนกว่าจะหายเป็นปกติ” นายคารม ระบุ

สาเหตุ โรคอุจจาระร่วง

สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการท้องเสียเฉียบพลัน ในที่นี้จะแบ่งออกเป็นสาเหตุดังต่อไปนี้

-การติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร ไม่ว่าจะเป็น การติดเชื้อ แบคทีเรีย, ไวรัส, พยาธิ เป็นต้น
-การได้รับยาหรือสารพิษต่างๆ เช่น ยาปฏิชีวนะ, ยาระบาย, ยารักษาโรคเก๊าท์ เป็นต้น
-โรคอื่นๆ ในระบบทางเดินอาหาร เช่น ไส้ติ่งอักเสบ, เยื่อบุช่องท้องอักเสบ, ลำไส้ขาดเลือด เป็นต้น
-การติดเชื้อ อื่นๆ นอกระบบทางเดินอาหาร เช่น เลปโตสไปโรสิส, มาลาเรีย เป็นต้น

อาการและอาการแสดง

อาการที่ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์ได้แก่ อาการท้องเสียเป็นน้ำหรืออาจจะมีมูกเลือดปนได้ ปวดท้อง ปวดเบ่ง คลื่นไส้ อาเจียนหรือมีไข้ได้ เป็นต้น นอกจากอาการทางด้านระบบทางเดินอาหารแล้ว ผู้ป่วยอาจจะมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย ได้แก่ อาการของการสูญเสียสารน้ำและเกลือแร่ ปากแห้ง อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ปัสสาวะออกลดลง ความดันต่ำและช๊อคได้ เป็นต้น ทั้งนี้ความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการท้องเสียเฉียบพลันด้วย

อาการที่ต้องรีบมาพบแพทย์

หากมีอาการท้องเสียเฉียบพลันร่วมกับอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบมาพบแพทย์ ได้แก่

-มีไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส
-อุจจาระเป็นมูกหรือมูกเลือดหรือมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง
-ถ่ายเป็นน้ำอย่างรุนแรงและปริมาณมากคล้ายน้ำซาวข้าว
-ผู้ป่วยมีโรคประจำตัวเยอะ หรืออายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป หรือผู้ป่วยที่เพิ่งเดินทางกลับมาจากการท่องเที่ยวในต่างประเทศ หรือผู้ป่วยเด็กเล็ก เป็นต้น
-ผู้ป่วยมีอาการซึม กระสับกระส่าย ปากแห้ง ปัสสาวะออกน้อยลง

การป้องกัน

-ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนปรุงอาหาร หรือรับประทานอาหาร
-รับประทานอาหารที่สะอาดและสุกใหม่และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ค้างคืน
-ดื่มน้ำที่สะอาดหรือน้ำต้มสุก
-ผักสดหรือผลไม้ ควรล้างให้สะอาดด้วยน้ำยาล้างผัก น้ำด่างทับทิม เป็นต้น
-มีภาชนะปกปิดอาหารป้องกันแมลงวันตอม

ที่มาข้อมูล : รัฐบาล/โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน

ที่มารูปภาพ : Getty Images

avatar

ธัญวรัตน์ น่วมภักดี

แท็กบทความ

โรคอุจจาระร่วง
อุจจาระร่วง
อาการโรคอุจจาระร่วง
โรคหน้าร้อนโรคฤดูร้อน