สธ. เปิดศูนย์ฯ สื่อสารเชิงรุกดูแลสุขภาพจากฝุ่น PM 2.5 เตรียมใช้กฎหมายด้านสาธารณสุขให้พื้นที่ดำเนินมาตรการควบคุมฝุ่น

วันนี้ (22 มกราคม 2568) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ด้านแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 พร้อมด้วย นพ.ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมอนามัย นพ.สกานต์ บุนนาค รองอธิบดีและโฆษกกรมการแพทย์ และ พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค แถลงแนวทางการดูแลสุขภาพจากสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 โดย ดร.นพ.วรตม์ กล่าวว่า รัฐบาลมีความห่วงใยสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ที่มีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้นในหลายพื้นที่จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพของพี่น้องประชาชน จึงให้ทุกหน่วยงานเร่งดำเนินมาตรการช่วยเหลือตามภารกิจที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานในสังกัดดำเนินการเชิงรุกในการดูแลสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหอบหืด โรคถุงลมปอดอุดกั้นเรื้อรัง เป็นต้น และให้เร่งสื่อสารสร้างความรอบรู้ในการดูแลสุขภาพและป้องกันตนเองจากฝุ่น PM 2.5 

สธ. เปิดศูนย์ฯ สื่อสารเชิงรุกดูแลสุขภาพจากฝุ่น PM 2.5 เตรียมใช้กฎหมายด้านสาธารณสุขให้พื้นที่ดำเนินมาตรการควบคุมฝุ่น

สรุปข่าว

กระทรวงสาธารณสุข เปิดศูนย์ข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพ ฝุ่น PM 2.5 สื่อสารสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพให้ประชาชน ล่าสุดมี 9 จังหวัด ค่าฝุ่นเกินมาตรฐานในระดับสีแดง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ แนะ “เช็ก ใช้ เลี่ยง ลด ปิด” ป้องกันฝุ่น ใช้บริการสายด่วน 1478 สอบถามข้อมูลสุขภาพ หากป่วยหรือมีอาการผิดปกติจากฝุ่นใช้บริการคลินิกมลพิษได้ทั้งในสถานพยาบาลทั่วประเทศและออนไลน์ เตรียมใช้กฎหมายโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อมให้พื้นที่ สีแดงดำเนินมาตรการควบคุมป้องกันเข้มข้น

โดยสถานการณ์ภาพรวมวันนี้ ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ พบจังหวัดที่มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐานรวม 60 จังหวัด แยกเป็น ระดับสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (37.6 - 75 มคก./ลบ.ม) จำนวน 51 จังหวัด และระดับสีแดง มีผลกระทบต่อสุขภาพ (75.1 มคก./ลบ.ม. ขึ้นไป) จำนวน 9 จังหวัด ได้แก่ สระบุรี เพชรบุรี กรุงเทพฯ ระยอง สุโขทัย พระนครศรีอยุธยา นครพนม สมุทรสาคร และราชบุรี ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ล่วงหน้า 7 วัน ระหว่างวันที่ 23 - 29 มกราคม 2568 พื้นที่ กทม.และปริมณฑล ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ยังคงมีค่าฝุ่นเกินมาตรฐานในระดับสีส้ม ดังนั้น ขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 อย่างต่อเนื่อง และปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด  

นพ.ธิติ กล่าวว่า กรมอนามัยมีคำแนะนำประชาชนในการปฏิบัติตนตามค่าฝุ่น PM 2.5 โดยระดับสีเหลือง (25.1-37.5 มคก./ลบ.ม.) ให้เลี่ยงออกกำลังกายกลางแจ้ง/การทำงานที่ใช้แรงมาก ระดับสีส้ม (37.6-75 มคก./ลบ.ม.) ให้เพิ่มการสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นทุกครั้งเมื่ออยู่กลางแจ้ง สำหรับผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นตั้งแต่ระดับสีเหลือง ลดระยะเวลาออกกำลังกายกลางแจ้ง/การทำงานที่ใช้แรงมาก หากเป็นระดับสีส้ม ต้องจำกัดระยะเวลาออกกำลังกายกลางแจ้ง/การทำงานที่ใช้แรงมาก และควรอยู่ในห้องปลอดฝุ่น และหากเป็นระดับสีแดง ทุกคนควรงด ออกกำลังกาย/ทำงานที่ใช้แรงมาก สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น และอยู่ในห้องปลอดฝุ่น ทั้งนี้ หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ กรณีผู้มีโรคประจำตัว ควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นติดตัวเสมอ สำหรับการป้องกันตนเองจากฝุ่น ให้ปฏิบัติตามแนวทาง "เช็ก-ใช้-เลี่ยง-ลด-ปิด" คือ เช็กค่าฝุ่นจากแอปพลิเคชัน Air4Thai หรือ Life Dee ก่อนออก จากบ้าน, ใช้หน้ากากป้องกันฝุ่นทุกครั้ง เช่น หน้ากาก N95, เลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งและเฝ้าระวังสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง, ลดกิจกรรมก่อฝุ่น เช่น การจุดธูป การปิ้งย่าง การเผา การสูบบุหรี่ รวมถึงตรวจเช็กสภาพรถเป็นประจำ และปิดประตู หน้าต่าง ให้มิดชิด หมั่นทำความสะอาดที่พัก หรือทำห้องปลอดฝุ่น หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามสายด่วนกรมอนามัย 1478 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

พญ.จุไร กล่าวว่า พื้นที่ที่มีค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 ในรอบ 24 ชม. มากกว่า 75 มคก./ลบ.ม. ติดต่อกัน 3 วัน จะถือเป็นพื้นที่สีแดง ซึ่งกรมควบคุมโรคจะร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่คัดกรองสุขภาพเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยงและให้ความรู้สุขภาพกับประชาชน โดยตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2567 – 14 มกราคม 2568 ได้ออกคัดกรองสุขภาพรวม 517 ราย ใน 9 จังหวัด พบผู้ที่มีอาการใน 4 กลุ่มโรค (ระบบทางเดินหายใจ, ระบบหัวใจและหลอดเลือด, ตา, ผิวหนัง) 77 ราย ส่วนใหญ่เป็นระบบทางเดินหายใจ รองลงมาคือ ตา ทั้งนี้ คณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม ได้เตรียมออกแนวทางในการประกาศพื้นที่ควบคุมโรคจากฝุ่น PM 2.5 เพื่อให้ผู้บริหารในพื้นที่สามารถดำเนินมาตรการต่างๆ ได้อย่างเข้มข้น อาทิ การออกประกาศ Work from home การสนับสนุนหน้ากากป้องกันฝุ่น เป็นต้น 

ด้าน นพ.สกานต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมการแพทย์ได้จัดทำคลินิกมลพิษออนไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการติดตามข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ตรวจสอบค่าฝุ่น ประเมินอาการตนเองเบื้องต้น และพบแพทย์ ผ่านทาง LINE ID : @pm2.5 ปัจจุบันมี 177 แห่ง ครอบคลุม 13 เขตสุขภาพทั่วประเทศ และยังได้ร่วมกับ Line หมอพร้อม เพื่อเพิ่มช่องทางเข้าถึงบริการมากขึ้น โดยในปี 2568 นี้ มีผู้ป่วยเข้ารับบริการผ่านคลินิกมลพิษออนไลน์ 298 ราย เป็นอาการระบบทางเดินหายใจมากที่สุด 75% รองลงมา คือ โรคตา 42% และโรคผิวหนัง 21%

ที่มาข้อมูล : กระทรวงสาธารณสุข

ที่มารูปภาพ : กระทรวงสาธารณสุข