

สรุปข่าว
โรคแพนิค หรือที่ไทยเรามักรู้จักในอีกชื่อว่า “โรคตื่นตระหนก” เป็นอีกหนึ่งโรคที่สร้างความลำบากในการใช้ชีวิตแก่ผู้ป่วยเป็นอย่างมาก แม้ว่าอาการของโรคนี้จะไม่รุนแรงถึงขึ้นเป็นอันตรายต่อชีวิต แต่ก็ควรได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง และถูกวิธี เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติมากยิ่งขึ้น ซึ่งในวันนี้เราจะพาทุกคนมารู้จักกับสาเหตุ อาการ ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคแพนิคให้มากยิ่งขึ้นไปพร้อมๆ กันในบทความนี้
“โรคแพนิค” คืออะไร?
โรคแพนิค (Panic Disorder) จัดเป็นโรคทางระบบประสาทชนิดหนึ่ง ที่เกิดจากการที่ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกติ โดยระบบประสาทอัตโนมัตินี้ มีหน้าที่ในการควบคุมการทำงานของร่างกายหลายส่วน จึงทำให้ผู้ป่วยมักเกิดอาการหลายอย่างร่วมกัน เช่น วิตกกังวล หัวใจเต้นรัวเร็ว เหงื่อออก รู้สึกท้องไส้ปั่นป่วน เป็นต้น ซึ่งในบางคนอาจเกี่ยวข้องกับการที่ฮอร์โมนลดหรือเปลี่ยนแปลงกระทันหันด้วย
“โรคแพนิค” เกิดจากสาเหตุอะไร?
สำหรับสาเหตุของการเกิด “โรคแพนิค” คือ ฮอร์โมนลดหรือเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกระทันหัน ทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติเกิดการทำงานที่ผิดปกติ เปรียบเหมือนไฟฟ้าลัดวงจร ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคแพนิคมีหลายอบ่างด้วยกัน เช่น กรรมพันธุ์ การใช้สารเสพติด ความผิดปกติของฮอร์โมน เป็นต้น
อาการของ “โรคแพนิค” เป็นอย่างไร?
สำหรับอาการของโรคแพนิค ที่เด่นชัด มักแสดงออกดังนี้
1. เกิดอาการใจสั่น หัวใจเต้นแรงและเร็ว เหงื่อออกผิดปกติ โดยไม่มีที่มาที่ไป
2. ตัวสั่น หายใจไม่ทั่วท้อง หายใจขัดข้อง ปั่นป่วนในช่องท้อง วิงเวียนคล้ายจะเป็นลม ซึ่งอาการแบบนี้จะเกิดขึ้นประมาณ 15 นาที แล้วค่อยๆหายไปเอง
3. รู้สึกเดี๋ยวหนาว เดี๋ยวร้อนสลับกันไปมา
4. หวาดกลัวไปทุกอย่าง โดยเฉพาะเรื่องของความตาย หรือกลัวตาย
5. รู้สึกไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ และไม่สามารถอยู่คนเดียวได้
6. บางคนอาจรู้สึกว่าตนเองกำลังจะขาดหายใจ และกำลังจะตาย
ซึ่งถ้าคุณมีอาการเหล่านี้โดยไม่มีเหตุผล ควรปรึกษาแพทย์ เพราะเนื่องจากอาจเสี่ยงเป็นอาการของโรคแพนิคหรือโรควิตกกังวลได้
วิธีการรักษา “โรคแพนิค” ทำอย่างไรได้บ้าง?
สำหรับการรักษาโรคแพนิคหรือโรควิตกกังวลให้ได้ผลดี คือการรักษาแบบองค์รวม ซึ่งนอกจากจะเป็นการรับประทานยาต่อเนื่องแล้ว ควรมีการรักษาทางจิตใจ เช่น การบำบัดควบคู่ไปด้วย ซึ่งนอกจากนี้ การพาตัวเองปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ก็จะสามารถช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ที่มาข้อมูล : โรงพยาบาลศิครินทร์, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี, โรงพยาบาลเปาโล
ที่มาภาพปก : freepik
ที่มาข้อมูล : -