

สรุปข่าว
ผู้ป่วย "วัณโรค" ควรปฏิบัติตัวอย่างไร? เปิดข้อควรปฏิบัติ และ ข้อควรหลีกเลี่ยงเมื่อป่วยเป็นวัณโรค
วัณโรค เป็นโรคติดต่อที่เกิดจาก เชื้อมัยโครแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซิส (Mycobacterium tuberculosis) ซึ่งติดต่อกันได้ทางการหายใจเอาเชื้อวัณโรคเข้าไป จากการไอ จาม ปัจจุบัน ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่สูง มีจำนวนผู้ป่วยวัณโรคเป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง 2 เท่า และมีผู้ป่วยเสียชีวิตจากวัณโรคกว่า 10,000 คนต่อปี โดย องค์การอนามัยโลกคาดว่าอาจมีผู้ป่วยวัณโรค 150 คน ต่อประชากร 100,000 คน และผู้ป่วยรายใหม่ 100,000 คนต่อปี
ผู้ป่วยวัณโรคควรปฏิบัติตัวอย่างไร ?
ข้อควรปฏิบัติในผู้ป่วยวัณโรค
-กินยาให้ครบตามที่แพทย์กำหนด
-ผู้ป่วยควรแยกห้องนอนและหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้อื่นในช่วงแรกของการรักษา
-ขณะไอหรือจามต้องใช้ผ้าปิดปาก ปิดจมูก บ้วนเสมหะลงในภาชนะที่ปิดมิดชิด แล้วนำไปทิ้งในถังขยะเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ
-รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อเสริมสร้างภูมิต้านทาน
-ออกกำลังกายได้ตามความเหมาะสม
-อยู่ในสถานที่หรือห้องที่มีลักษณะโปร่ง โล่ง มีหน้าต่างที่สามารถถ่ายเทอากาศได้สะดวก
ข้อควรหลีกเลี่ยงเมื่อป่วยเป็นวัณโรค
-งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
-หลีกเลี่ยงการใช้ยาอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคตับอักเสบจากการใช้ยา
-หลีกเลี่ยงการเดินทางในที่สาธารณะที่มีผู้คนแออัด เช่น โรงภาพยนตร์ ห้างสรรพสินค้า หรือการเดินทางด้วยยานพาหนะร่วมกับผู้อื่นเป็นเวลานาน
-หลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์และการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเอสโตรเจนในระหว่างรักษาวัณโรค เพราะจะทำให้การคุมกำเนิดไม่ได้ผล
รักษาวัณโรคล่าช้าหรือไม่ต่อเนื่อง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน
ภาวะแทรกซ้อนของวัณโรคมักเกิดขึ้นจากการรักษาที่ล่าช้า หรือการรักษาที่ไม่ต่อเนื่อง โดยมีทั้งอาการที่ไม่รุนแรง หรืออาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตเมื่อเชื้อวัณโรคกระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น มีฝีในปอด ภาวะน้ำในช่องหุ้มปอด ปวดหลัง ข้อต่อกระดูกอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ปัญหาเกี่ยวกับตับและไต และหัวใจ เป็นต้น
รักษาวัณโรค
-วัณโรคปอดสามารถรักษาให้หายขาดได้ ด้วยการรับประทานยาอย่างต่อเนื่องตามที่แพทย์สั่ง
-ไม่ควรหยุดยาเองเด็ดขาด เมื่อรับประทานยาไปแล้วประมาณ 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นแต่ห้ามหยุดยาเด็ดขาด เพราะอาจทำให้เชื้อวัณโรคดื้อยาจนยากต่อการรักษา
-หากสงสัยว่ามีอาการแพ้ยาหรือมีผลข้างเคียง ควรปรึกษาแพทย์
-ขณะรักษาวัณโรค ควรงดเหล้า บุหรี่ และสารเสพติดทุกชนิด
-ใช้ผ้าปิดปากและจมูกเมื่อไอหรือจามเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
วัณโรคที่ไม่ดื้อยาใช้เวลาในการรักษานาน 6 เดือน โดยควรมีผู้ดูแลให้ผู้ป่วยกินยาและพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เเต่ถ้ากินยาไม่สม่ำเสมออาจทำให้เกิดวัณโรคดื้อยาหลายขนานได้ และจะต้องปรับเป็นสูตรดื้อยาที่มีผลข้างเคียงมากขึ้น ราคายาสูงขึ้น เเละต้องกินยานานขึ้น
ขอบคุณที่มา โรงพยาบาลจุฬาฯ / โรงพยาบาลพญาไท
ภาพจาก AFP
ที่มาข้อมูล : -