"วัณโรค" แพร่เชื้อง่าย! เช็กอาการ-ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดวัณโรคปอด

"วัณโรค" แพร่เชื้อง่าย! เช็กอาการ-ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดวัณโรคปอด

สรุปข่าว

รู้จัก "วัณโรค" โรคติดต่อที่แพร่เชื้อง่าย มีอาการอย่างไร อะไรคือปัจจัยเสี่ยงในการเกิดวัณโรคปอด


วัณโรค เป็นโรคติดต่อเรื้อรัง ทำให้มีการอักเสบในปอด ซึ่งในผู้ใหญ่มักจะพบส่วนใหญ่เป็นที่ปอด ในเด็กอาจเป็นที่อวัยวะอื่นร่วมด้วย เช่น ต่อมน้ำเหลือง เยื่อหุ้มสมอง กระดูก สาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium tuberculosis ซึ่งเป็น acid fast bacillus (AFB) ย้อมติดสีแดง ซึ่งจะมีอยู่ในปอดของผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษา


เด็กมักจะได้รับเชื้อจากผู้ใหญ่ที่เป็นวัณโรคระยะแพร่เชื้อ โดยเชื้อจะออกมากับการไอ จาม ทำให้เชื้อกระจายในอากาศ ในห้องที่ทึบอับแสง เชื้อวัณโรคอาจมีชีวิตอยู่ได้ถึง 1 สัปดาห์ ถ้าเสมหะที่มีเชื้อลงสู่พื้นที่ไม่มีแสงแดดส่อง เชื้ออาจอยู่ได้ในเสมหะแห้งได้นานถึง 6 เดือน เชื้อจะกระจายอยู่ในอากาศ และเข้าสู่ร่างกายทางการหายใจเอาเชื้อเข้าไป บางครั้งเชื้ออาจผ่านจากแม่ไปยังลูกในท้องโดยผ่านทางรกได้



อาการของผู้ป่วยวัณโรค 

อาการวัณโรคแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะแฝง (Latent TB) และระยะแสดงอาการ (Active TB) โดยในระยะแรกจะสังเกตได้ยากเพราะอาการจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ อาจต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์ ไปจนถึงหลายปีกว่าจะแสดงอาการให้เห็น

-ระยะแฝง (Latent TB) เมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อแล้วจะยังไม่แสดงอาการใดๆ โดยเชื้อจะซ่อนอยู่ภายในร่างกาย จนกว่าร่างกายจะอ่อนแอ จะก่อให้เกิดอาการที่ชัดเจนได้ ดังนั้นหากผู้ป่วยมีการตรวจพบในช่วงระยะแฝง แพทย์จะรักษาโดยการควบคุมการแบ่งตัวของเชื้อ รวมถึงลดความเสี่ยงที่โรคจะเข้าสู่ระยะแสดงอาการ


-ระยะแสดงอาการ (Active TB) ระยะที่เชื้อได้รับการกระตุ้นจนทำให้แสดงอาการต่างๆ ได้ชัดเจน เช่น ไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด เจ็บหน้าอก หรือรู้สึกเจ็บเวลาหายใจหรือไอ อ่อนเพลีย มีไข้ หนาวสั่น มีอาการเหงื่อออกในเวลากลางคืน น้ำหนักลด หรือเบื่ออาหาร


การวินิจฉัยวัณโรค

-ตรวจหาเชื้อวัณโรคโดยการย้อมเสมหะ 2 ครั้ง หรือการตรวจทางอณูชีววิทยาที่มีความไวมากขึ้น
-เอกซเรย์ปอด


วัณโรครักษาได้อย่างไร

เป้าหมายสำคัญในการรักษาวัณโรค คือ การรักษาให้หายขาดเพื่อหยุดการแพร่กระจายของเชื้อและเพื่อป้องกันการดื้อยาของเชื้อวัณโรค แม้ว่าวัณโรคจะสามารถรักษาให้หายขาด แต่ก็มีโอกาสกลับไปเป็นซ้ำได้ หากผู้ป่วยไม่มีวินัยในการรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด


-การรักษาผู้ป่วยวัณโรค 2 เดือนแรก แพทย์จะให้รับประทานยา 4 ชนิด คือ Isoniazid, Rifampicin, Pyrazinamide และ Ethambutol หากผู้ป่วยดื้อยาอาจจำเป็นต้องใช้ยาอื่นร่วมด้วย เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ


-เมื่อรักษาครบ 2 เดือน แพทย์จะตรวจเสมหะหรือเอกซเรย์ปอดซ้ำ หากมีการตอบสนองที่ดีแพทย์จะลดยาให้เหลือเพียง 2 ชนิด และยังต้องให้การรักษาต่อไปอีก 4 เดือน



ยารักษาวัณโรคปอดที่ใช้บ่อยที่สุด

แพทย์อาจเลือกใช้ยารักษาผู้ป่วยที่เป็นวัณโรค ดังต่อไปนี้:

-ไอโซไนอะซิด (Isoniazid)
-ริฟามพิน (Rifampin)
-เอทแทมบูท (Ethambutol)
-ไพราซีนาไมด์ (Pyrazinamide)

ทั้งนี้ แพทย์อาจสั่งยาเพิ่มเติมในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นวัณโรคชนิดที่ดื้อยาแล้ว เช่น:

-เบดาไคลีน (Bedaquiline)
-ไลน์โซลิด (Linezolid)


ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดวัณโรคปอดมีอะไรบ้าง

-มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เนื่องจากมีโรคบางอย่างหรือเข้ารับการรักษาบางประเภท เช่น เป็นเอดส์ หรือ กำลังทำเคมีบําบัดเพื่อรักษาโรคมะเร็ง


-เดินทางหรืออาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดวัณโรคสูง


-กำลังใช้สารบางอย่าง เช่น สูบบุหรี่ ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง


-ไม่มีบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขให้ผู้ป่วยได้เข้าใช้บริการ


-อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อวัณโรค เช่น กำลังอาศัยอยู่หรือเคยทำงานในสถานพยาบาล หรือกำลังอาศัยอยู่ในหรืออพยพมาอยู่ในประเทศที่มีการติดเชื้อวัณโรคสูง หรือกำลังอาศัยอยู่กับผู้ที่ติดเชื้อวัณโรค






ที่มา กรมควบคุมโรค / โรงพยาบาลพญาไท / โรงพยาบาล Medpark
ภาพจาก AFP


ที่มาข้อมูล : -

ที่มารูปภาพ :

แท็กบทความ

วัณโรค
วัณโรคปอด
อาการวัณโรค
ป่วยวัณโรค
ปัจจัยเสี่ยววัณโรค
ยาวัณโรค