

สรุปข่าว
"โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท" มีปัจจัยเสี่ยงจากอะไร เมื่อป่วยแล้วดูแลตัวเองอย่างไร?
หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท คือ โรคที่เกิดจากการเคลื่อนของหมอนรองกระดูก การเคลื่อนในที่นี้ยังหมายรวมถึงการแตกของหมอนรองกระดูก, การปลิ้นออกมาของหมอนรองกระดูก หากหมอนรองกระดูกเคลื่อนออกมาแต่ไม่ได้กดทับรากประสาท จะส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวดเพียงอย่างเดียว มีลักษณะอาการปวดแบบเฉพาะที่ เช่น ปวดคอ ปวดเอว ปวดหลัง ปวดสะโพก แต่เมื่อใดก็ตามที่มีการปลิ้นของหมอนรองกระดูกแล้ว เคลื่อนกดทับรากประสาท ผู้ป่วยจะมีอาการค่อนข้างมากคือ มีอาการปวดขาร่วมกับมีอาการชา และอ่อนแรงได้ โดยเฉพาะบริเวณเท้า และข้อเท้าจะมีอาการอ่อนแรงได้และมักเป็นที่ขาข้างเดียว
แนวทางตรวจวินิจฉัยโรค “หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท”
เมื่อพบว่าตนเองมีอาการปวดหลังที่ผิดปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคให้แน่ชัด โดยส่วนใหญ่แพท์จะเริ่มวินิจฉัยจากประวัติของผู้ป่วยสอบถามถึงอาการปวด ระยะเวลาในการปวด และช่วงเวลาที่ปวด เช็คประวัติตรวจร่างกาย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการปวดแบบเฉียบพลันทันที เช่น ปวดหลังรุนแรงจาก อุบัติเหตุกระแทก หกล้ม ยกของหนัก ยืด หรือเอี้ยวตัวแล้วรู้สึกปวดหลังทันที และปวดมากขึ้นมากขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งปวดร้าวลงขา
เมื่อแพทย์วินิจฉัยเบื้องต้นแล้ว มีอาการต้องสงสัยเกี่ยวกับอาการปวดหลังที่อันตราย มักจะสั่งตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมในส่วนของห้องปฎิบัติการเช่น การตรวจแบบคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ MRI ซึ่งวิธีการตรวจนี้จะทำให้มองเห็นพยาธิสภาพได้ชัดเจนว่ามีหมอนรองกระดูกเคลื่อนเบียดรากประสาทมากน้อยแค่ไหนซึ่งจะช่วยแพทย์ได้ดีมากในการวางแผนการรักษาที่เหมาะสม
ปัจจัยเสี่ยงภาวะ “หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท”
-น้ำหนักตัวมาก อ้วนลงพุง
-ยกของหนัก หรือ ยกของผิดท่าโดยไม่ระวัง
-ขาดการออกกำลังกาย
การดูแลตัวเองเมื่อเป็นป่วยเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
1.ไม่ยกของหนักจนเกินไปและยกของอย่างถูกวิธี
2.บริหารร่างกายเพื่อเสริมกล้ามเนื้อหลังและกล้ามเนื้อ หน้าท้องเป็นประจำ
3.รับประทานยาแก้ปวด เพื่อบรรเทาอาการ
4.พยายามเปลี่ยนอิริยาบถ เมื่อต้องนั่งทำงานเป็นเวลานาน ทำกายภาพ ตามคำแนะนำของแพทย์
ขอบคุณที่มา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาดไทย / โรงพยาบาลเปาโล
ภาพจาก AFP
ที่มาข้อมูล : -