รู้จัก "โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท" อันตรายแค่ไหน พบมากในวัยใด?

รู้จัก "โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท" อันตรายแค่ไหน พบมากในวัยใด?

สรุปข่าว

รู้จัก "โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท" อันตรายแค่ไหน ความรุนแรงแบ่งออกเป็นกี่ระยะ พบมากในวัยใด?


โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท สาเหตุหลักมาจากความเสื่อมของหมอนรองกระดูก จากการใช้งานที่ส่งผลต่อกระดูกสันหลังโดยตรงเป็นระยะเวลานาน ซ้ำๆ กัน เช่น การก้มหลังยกของหนัก การทำกิจกรรมที่ต้องก้มๆ เงยๆ หลังเป็นประจำ อุบัติเหตุที่กระทบกระเทือนต่อกระดูกสันหลังโดยตรงจากการชอบก้มหลังพร้อมบิดตัว หรือแม้แต่ความเสื่อมตามอายุ จนทำให้เกิดจากการฉีกขาดของเส้นใยของหมอนรองกระดูกสันหลัง และจะค่อยๆ ดันตัวและปลิ้นออกมาจนไปกดเบียดเส้นประสาทที่อยู่ด้านหลัง


ซึ่งในอดีตจะพบโรคนี้ในวัยสูงอายุบ่อย แต่ในปัจจุบันกลับพบมากขึ้นในวัยทำงาน โดยเฉพาะพนักงานออฟฟิศที่นั่งทำงานติดต่อกันเป็นเวลานานๆ ไม่ยอมลุกขยับไปไหน นั่งอยู่ท่าเดียวตลอดทั้งวัน และพฤติกรรมการนั่งทำงานแบบนี้ จะทำให้โครงสร้างกระดูกสันหลังเกิดการทรุดตัวจนไปเบียดทับเส้นประสาท


เมื่อกระดูกสันหลังเกิดการทรุดตัว หรือหมอนรองกระดูกปลิ้นออกมาจนไปเบียดทับเส้นประสาท ก็จะเกิดอาการปวดหลังเรื้อรัง มีความรู้สึกชาบ่อยๆ บริเวณขา น่อง และเท้า คล้ายเหน็บชา หรือตะคริวถี่ๆ บางครั้งเป็นจนไม่สามารถเดินต่อได้ หนักเข้าอาจรุนแรง อันตรายถึงขั้นกล้ามเนื้อขาอ่อนแรง กระดกข้อเท้าและนิ้วเท้าไม่ขึ้น บางคนก็ควบคุมการขับถ่าย อุจจาระ ปัสสาวะได้ลำบากขึ้น


ความรุนแรงของอาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

-ระยะเริ่มต้น เมื่อหมอนรองกระดูกเกิดความเสื่อมจะส่งผลให้เกิดอาการปวดหลังเรื้อรัง ซึ่งในช่วงแรกอาจมีอาการเป็นๆ หายๆ จากนั้นระดับความเจ็บปวดจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยอาการจะเป็นมากกว่า 2 สัปดาห์ หากมีอาการแบบนี้ไม่ปล่อยไว้ ควรรีบปรึกษาแพทย์


-ระยะปานกลาง หากเริ่มมีอาการในระยะต้นแล้วปล่อยผ่าน สำหรับระยะนี้หมอนรองกระดูกจะเริ่มเคลื่อนและปลิ้นออกมา ทำให้เกิดอาการปวดร้าวหรือปวดหลังร้าวลงขา จากนั้นจะเริ่มลามไปที่ขาหรือเท้า ผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการชาร่วมด้วย


-ระยะรุนแรง เมื่ออาการกดทับเส้นประสาทเริ่มมีความรุนแรงขึ้น ก็จะทำให้ร่างกายเกิดความเจ็บปวด ชา และกล้ามเนื้ออ่อนแรงมากขึ้นเท่านั้น รวมทั้งมีอาการผิดปกติทางระบบประสาทที่รุนแรง เช่น มีอาการผิดปกติในการควบคุมปัสสาวะและ อุจจาระ เป็นต้น และมีปัญหาในการเดิน เช่น ทรงตัวได้ไม่ดี เดินลำบาก ขาแข็งเกร็ง ซึ่งจะมีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บและพิการ ทั้งนี้ผู้ป่วยจะทุกข์ทรมานมากจนไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ ซึ่งอาจเป็นอัมพาตได้

หากใครมีอาการดังกล่าว ไม่ควรปล่อยไว้ หรือไปรักษาผิดวิธี เพราะอาจจะทำให้รักษาได้ยากและใช้เวลานานขึ้น


ภาวะนี้พบมากในวัยใด

ส่วนใหญ่โรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทจะเกิดกับคนไข้ 2 กลุ่ม ที่พบบ่อยคือ

1.กลุ่มผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป 


ซึ่งเริ่มมีความเสื่อมของกระดูกสันหลัง หรือหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมอยู่แล้ว พอออกแรงหรือใช้แรงเบ่งมาก ๆ อาจทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังแตกออกมากดทับเส้นประสาทได้ในทันที เรียกว่า โรคหมอนรองกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาทชนิดเฉียบพลัน


2.กลุ่มวัยหนุ่มสาวที่มี Activity มาก ๆ 


ชอบออกกำลังกายหนัก ๆ โลดโผน หรือเคยมีอุบัติเหตุ ย่อมมีโอกาสเกิดการบาดเจ็บของหมอนรองกระดูกสันหลังได้ง่ายกว่า เปรียบเทียบง่าย ๆ ฝาแฝด 2 คน เหมือนกันทุกอย่าง คนหนึ่งเรียบร้อย อีกคนชอบทำกิจกรรม เล่นบันจี้จัมพ์ อเมริกันฟุตบอล ในบั้นปลายของชีวิต คนที่มี Activity มากจะมีความเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลังมากกว่า อย่างไรก็ดี คนที่เรียบร้อย หากใช้งานกระดูกสันหลังไม่ถูกต้อง เช่น เป็นพวกออฟฟิศซินโดรม หมอนรองกระดูกสันหลังก็เสื่อมได้เช่นกัน แต่ท้ายที่สุด หมอนรองกระดูกสันหลังของทุกคนต้องเสื่อมสภาพอยู่แล้ว แต่จะช้าหรือเร็วเท่านั้น



ขอบคุณที่มา โรงพยาบาลนครธน / โรงพยาบาลกรุงเทพ 

ภาพจาก AFP

ที่มาข้อมูล : -

ที่มารูปภาพ :

แท็กบทความ

โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
โรคหมอนรองกระดูก
โรคหมอนรองกระดูกอักเสบ
ปวดหลัง
ปวดกระดูก