

สรุปข่าว
วันนี้ ( 20 ก.พ. 66 )สถานการณ์ฝุ่นพิษ PM2.5 เริ่มกลับมาอีกครั้ง ซึ่งอันตรายที่ทราบกัน จากการสัมผัส "ฝุ่น ต่อเนื่อง คือปัจจัยที่ทำให้เกิดการทำร้ายผิวหนัง เซลล์ทำงานผิดปกติ เกิดการอักเสบและผิวเสื่อมแก่เร็วล่าสุดยังมีผลการศึกษาของคิงส์คอลเลจลอนดอน พบว่า ผลกระทบระยะยาวของมลพิษฝุ่น ทำให้เสี่ยงเป็นความดันโลหิตสูงโดยเฉพาะ “วัยรุ่น” เนื่องจาก มีความรู้สึกไวต่อผลกระทบ
ผลการศึกษาของคิงส์คอลเลจลอนดอน ระบุว่า วัยรุ่นในกรุงลอนดอน มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะความดันโลหิตสูง เพราะว่า สัมผัสกับมลพิษทางอากาศในระยะยาว
คณะนักวิจัยพบว่า ฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 ซึ่งมาจากท่อไอเสียรถยนต์ , ควัน , อาคาร และวัสดุในงานอุตสาหกรรม มีส่วนเกี่ยวข้องกับความดันโลหิตสูงทั่วทุกวัย โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กผู้หญิง
โดยการวิจัยของคิงส์คอลเลจลอนดอน ได้วิเคราะห์ผลกระทบของมลพิษทางอากาศต่อเด็กที่ไปเรียนหนังสือตามโรงเรียนต่างๆ 51 แห่งทั่วกรุงลอนดอน
การวิเคราะห์ข้อมูลจากวัยรุ่น 3,284 คน จากอายุระหว่าง 11 ถึง 13 ปี และ14 ถึง 16 ปี ทั้งหมด 51 โรงเรียนในลอนดอน เพื่อกำหนดว่า มลพิษทางอากาศส่งผลกระทบต่อสุขภาพของวัยรุ่นอย่างไร และวัยรุ่นมีการเติบโตทางร่างกายอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กวัยรุ่นเหล่านี้ อาจมีความรู้สึกไวต่อผลกระทบในระยะยาวของการสัมผัสมลพิษทางอากาศ
ดร.อเล็กซิส คารามานอส แห่งคิงส์คอลเลจลอนดอน เปิดเผยว่า ผลการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เป็นเรื่องจำเป็น เพื่อให้เข้าใจว่า การสัมผัสมลพิษทางอากาศ อาจส่งผลกระทบต่อหัวใจและหลอดเลือดของเด็กและวัยรุ่น ขณะที่ เว็บไซต์ของรัฐบาลแจ้งว่า คุณภาพอากาศที่ต่ำ ถือเป็นความเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่ต่อสุขภาพของประชาชนในสหราชอาณาจักร เนื่องจากการสัมผัสมลพิษทางอากาศในระยะยาว สามารถเป็นสาเหตุของโรคเรื้อรัง เช่น หัวใจและหลอดเลือด กับโรคทางเดินหายใจ ตลอดจนโรคมะเร็งปอด ที่จะทำให้อายุสั้นลง
ขณะที่ผลการศึกษาก่อนหน้านี้ จากสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เผยข้อมูลจากงานวิจัยพบว่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ทำร้ายผิวหนัง เซลล์ทำงานผิดปกติ เกิดการอักเสบและแก่เร็ว เนื่องจาก PM 2.5 สามารถจับตัวกับสารเคมีและโลหะต่างๆ และนำพาเข้าสู่ผิวหนัง มีผลทำร้ายเซลล์ผิวหนังโดยตรง และทำให้การทำงานของเซลล์ผิวหนังผิดปกติ ทั้งในด้านกลไกการป้องกันของผิวหนังจากสิ่งแวดล้อมภายนอกและการซ่อมแซมผิวหนัง กระตุ้นให้เกิดกระบวนการอักเสบของเซลล์ผิวหนัง ทำให้เกิดผื่นคัน โดยเฉพาะในผู้ที่มีโรคผิวหนังอยู่เดิม เช่น โรคภูมิแพ้ผิวหนังหรือโรคผื่นผิวหนังอักเสบ จะมีการระคายเคืองคันมากยิ่งขึ้น ผื่นกำเริบมากขึ้นได้
การสัมผัสกับฝุ่นดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผิวเสื่อมชราได้เร็วขึ้นนอกเหนือจากปัจจัยทางแสงแดดและการสูบบุหรี่
ดังนั้นการปกป้องผิวหนังให้สัมผัสกับฝุ่นดังกล่าวให้น้อยที่สุดจึงเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนที่มีโรคผิวหนังอยู่เดิมเพื่อป้องกันไม่ให้โรคกำเริบมากยิ่งขึ้น ซึ่งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่าเป็นข้อมูลจริง
ภาพจาก : AFP
ที่มาข้อมูล : -