กษ. พร้อมจับมือ Syngenta Group ดันไทยเป็นศูนย์กลางผลิตเมล็ดพันธุ์พืชของโลก
ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้หารือทวิภาคีกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัท Syngenta Group ได้แก่ Ms. Alexandra Brand , EVP Sustainability and Corporate Affairs และ Mr. Mark Ball, Global Head of Public Affairs เกี่ยวกับการเกษตรในประเทศไทยและบทบาทของนวัตกรรม เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนและเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตทั่วโลก
ศ.ดร.นฤมล กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรเป็นอับดับต้น ๆ ของโลก ภาคเกษตรจึงมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก แต่ปัจจุบันเราต้องเผชิญกับความท้าทายในหลายมิติ เช่น ความผันผวนของราคาสินค้าเกษตร ปัจจัยการผลิตมีราคาสูงจากผลของความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ แรงงานภาคการเกษตรมีอายุเฉลี่ยเพิ่มขึ้น และภัยธรรมชาติที่รุนแรงจากสภาพอากาศที่แปรปรวนที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
สรุปข่าว
“สิ่งสำคัญที่กระทรวงเกษตรฯ จะดำเนินการเพื่อรับมือกับความท้าทายข้างต้น คือ การเตรียมความพร้อมด้านปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะเมล็ดพันธุ์ ซึ่งประเทศไทยมีความหลากหลายของเมล็ดพันธุ์พืช และยังมีความเหมาะสมทางภูมิศาสตร์และภูมิอากาศ ในการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชเมืองร้อนหลายชนิด สามารถผลิตได้มากกว่า 1 รอบต่อปี ซึ่งปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกเมล็ดพันธุ์อันดับ 2 ของเอเชีย รองจากประเทศจีน และเป็นอันดับ 9 ของโลก จึงอยากเชิญชวนให้บริษัท Syngenta Group มาลงทุนด้านเมล็ดพันธุ์ในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น เพื่อตอบรับนโยบายของไทยในการเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์พืชของโลก”ศ.ดร.นฤมล กล่าว
ศ.ดร.นฤมล กล่าวต่อว่า การวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ เป็นสิ่งที่ประเทศไทยให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ที่สามารถต้านทานสภาพอากาศที่แปรปรวน รวมถึงการวิจัยและปรับปรุงพันธุ์พืชโดยใช้เทคโนโลยีปรับแต่งจีโนม (Gene-editing) ดังนั้น การสร้างความร่วมมือทางวิชาการด้านการวิจัยเมล็ดพันธุ์ กับบริษัท Syngenta จึงเป็นโอกาสอันดี เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางผลิตเมล็ดพันธุ์พืชคุณภาพดีของโลก
ศ.ดร.นฤมล กล่าวต่อด้วยว่า กระทรวงเกษตรฯ ยังได้มีแนวทางการพัฒนาภาคเกษตร ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ด้วยระบบการผลิตที่ยั่งยืน ครอบคลุมทั้งด้านคุณภาพ ความปลอดภัย โภชนาการ สังคม และสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐาน Codex ปรับเปลี่ยน การทำเกษตรแบบดั้งเดิมที่ “ผลิตมาก แต่สร้างรายได้น้อย” (More for less) ไปสู่เกษตรสมัยใหม่ที่ “ผลิตน้อย แต่สร้างรายได้มาก” (Less for more) โดยมุ่งเน้นการพัฒนาสินค้าเกษตรให้มีมูลค่าสูง หรือเป็นสินค้าพรีเมียม โดยเฉพาะ กาแฟ โกโก้ ถั่วเหลือง ซึ่งในระยะแรกของการปรับเปลี่ยน เกษตรกรต้องใช้ระยะเวลาและเงินทุน ดังนั้น ทางกระทรวงเกษตรฯ จึงมีระบบกลไกสหกรณ์ โดยร่วมมือกับ ธ.ก.ส เพื่อช่วยสนับสนุนด้านแหล่งเงินทุนให้เกษตรกรรายย่อยด้วยเช่นกัน
“กระทรวงเกษตรฯ ยินดีที่จะสร้างความร่วมมือทางวิชาการกับบริษัท Syngenta Group ในการทำการเกษตรที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประเทศไทยสามารถเป็นแหล่งอาหารที่มีความยั่งยืนและสนับสนุนการสร้างความมั่นคงอาหารของโลก ด้วยแนวทางสำคัญ คือ ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ ภายใต้นโยบายหลัก 9 นโยบาย พร้อมมุ่งมั่นในยกระดับสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูงด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น เกษตรแม่นยำ เกษตรอัจฉริยะ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ อากาศยานไร้คนขับ มาพัฒนาอาชีพด้านพืช ปศุสัตว์ และประมง เพื่อตอบสนองความต้องการของโลกด้านความมั่นคงอาหาร ซึ่งมีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ
ด้านบริษัท Syngenta Group ระบุว่า ยินดีที่จะให้ความร่วมมือกับกระทรวงเกษตรฯ ของไทยเช่นกัน ในการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในเรื่องการปรับปรุงพันธุ์ และมีแผนที่จะเดินทางมาไทยเพื่อหารือและผลักดันความร่วมมือกันต่อไป
ที่มาข้อมูล : กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ที่มารูปภาพ : กระทรวงเกษตรและสหกรณ์