‘สศค.‘แจงนโยบายทรัมป์ 2.0 ต่อศก.ไทย
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สศค.ได้ติดตามและประเมินผลกระทบการดำเนินนโยบายระหว่างประเทศ หลังจากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ สมัยที่ 2 อย่างเป็นทางการในวันที่ 20 ม.ค.2568
สำหรับนโยบายทรัมป์ 2.0 มุ่งเน้นโยบาย "America First“ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและการเมืองของสหรัฐฯ มีนโยบายหลัก ดังนี้
1.ด้านการค้า ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากจีน สูงสุด 60%
2.ด้านเศรษฐกิจ ลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 15% สำหรับบริษัทที่ผลิตในสหรัฐฯ เป็นนโยบายที่ต้องการให้เกิดการลงทุนย้ายกลับสู่ถิ่นฐาน (Reshoring)
3.ด้านพลังงาน ส่งเสริมพลังงานฟอสซิล ขยายการขุดเจาะน้ำมันและถ่านหิน
4.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยกเลิกการลงทุนในพลังงานสีเขียว
5.ต่อต้านผู้อพยพ เพิ่มข้อจำกัดด้านการเข้าเมือง เพื่อส่งเสริมอาชีพชาวอเมริกัน
ทั้งนี้ สศค. ประเมินว่านโยบายดังกล่าว จะส่งผลกระทบของต่อเศรษฐกิจไทยในหลายด้าน ประกอบด้วย
1. การค้าการส่งออกไทยไปสหรัฐฯ อาจลดลง นอกจากนี้ การกีดกันจีนทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัว ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและการส่งออกของไทย
2. การลงทุนโดยตรง (FDI) จากสหรัฐ ลดลง เนื่องจากนโยบายสนับสนุนการผลิตในประเทศ การย้ายฐานการผลิตกลับสหรัฐฯ (Reshoring) ซึ่งจะเป็นการเพิ่มต้นทุนวัตถุดิบสำหรับไทย
3. มาตรการการเงิน ซึ่งมีแนวโน้มว่าอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐ อาจเพิ่มขึ้น ทำให้ทุนไหลออกจากไทย ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ส่งผลต่อการนำเข้า
4. ตลาดทุนและสินค้าโภคภัณฑ์ ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์อาจเพิ่มขึ้น ทำให้เงินเฟ้อในไทยสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม มองว่ายังมีโอกาสของเศรษฐกิจไทยในช่วงเวลาดังกล่าว อาทิ การดึงดูดการลงทุนที่ต้องการย้ายฐานผลิตเพื่อหลบกำแพงภาษีที่สูงขึ้น ซึ่งไทยรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสูง เช่น อิเล็กทรอนิกส์ เซมิคอนดักเตอร์ และยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) รวมทั้งสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนเพื่อตอบสนองตลาดโลก
นอกจากนี้ ยังมีโอกาสในการส่งออกสินค้าเกษตรได้มากขึ้น เนื่องจากการกีดกันสินค้าจีนอาจเพิ่มความต้องการสินค้าไทย เช่น อาหารแช่แข็ง ขณะเดียวกัน สศค.มีข้อเสนอเกี่ยวกับแนวทางการปรับตัวของไทยเพื่อเตรียมพร้อมรับมือความเปลี่ยนแปลงของนโยบายสหรัฐที่จะเกิดขึ้น ได้แก่
1. ขยายตลาดส่งออก ลดการพึ่งพาสหรัฐฯ และจีน ขยายตลาดในยุโรป ตะวันออกกลาง และเอเชีย
2.ส่งเสริมเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ลงทุนในพลังงานหมุนเวียนและอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสะอาด
3.พัฒนาแรงงาน เพิ่มทักษะด้านเทคโนโลยีขั้นสูงและการผลิตอัตโนมัติ
ขณะที่ในปี 2568 เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน ทั้งการชะลอตัวของจีน ส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานและความต้องการสินค้าในภูมิภาคค่าเงินบาทผันผวน เพิ่มต้นทุนการนำเข้าและลดความสามารถในการแข่งขัน
ที่มา: TNN
สรุปข่าว