เมื่อจีนเอาชนะคู่แข่งด้วย “ความเร็ว” (ตอน 4) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

“ความเร็ว” จากหลายด้านและตัวอย่างที่ผมหยิบยกก่อนหน้านี้สะท้อนว่า ธุรกิจจีนในยุคหลังได้แสดงให้ตลาดโลกในยุคใหม่เห็นว่า “ความประหยัดอันเนื่องจากความเร็ว” (Economies of Speed) มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า “ขนาด” (Scale) และ “ขอบข่าย” (Scope)


เมื่อจีนเอาชนะคู่แข่งด้วย “ความเร็ว” (ตอน 4) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

สรุปข่าว

เมื่อจีนเอาชนะคู่แข่งด้วย “ความเร็ว” (ตอน 4) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

และด้วยการพัฒนาของระบบดิจิตัลที่รุดหน้าและแพร่หลายอย่างไม่หยุดยั้ง “ความเร็ว” ก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มความสำคัญยิ่งขึ้นในเวทีการแข่งขันโลกในอนาคต เราไปดูประโยชน์และศักยภาพของความเร็วในห่วงโซ่แห่งคุณค่าอื่นผ่านกรณีศึกษากันต่อเลยครับ ...

จากประสบการณ์ของผมพบว่า ความเร็วในการตัดสินใจและการดําเนินการก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จีนโดดเด่น เราจะรู้สึกได้ว่า ในเชิงเปรียบเทียบ จีนทั้งในระดับรัฐบาลและเอกชน ขยับตัวอย่างเป็นระบบ ต่อเนื่อง และรวดเร็ว ทำให้สิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมอย่างคาดไม่ถึง

ในเชิงนโยบาย การเป็นรัฐบาลแบบพรรคเดียวและการดำรงอยู่ในตำแหน่งของผู้บริหารระดับสูงอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน (วาระละ 5 ปี) เมื่อเทียบกับของต่างชาติ ทำให้รัฐบาลจีนสามารถคิดและวางแผนเชิงกลยุทธ์ในระยะยาวได้ และไม่ต้องเสียเวลากับการเลือกตั้งครั้งต่อไป

บ่อยครั้งที่เราพบว่า วัฒนธรรมก็มีผลกระทบอย่างยิ่งต่อการดำเนินธุรกิจ การมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นนับเป็นแรงผลักดันให้ชาวจีนมุ่งหน้าสู่ความสำเร็จ อันนำไปสู่วัฒนธรรมการทำงานหนักและมีประสิทธิภาพในสูตร “996” ของชาวจีน (ทํางานตั้งแต่เก้าโมงเช้าถึงสามทุ่มเป็นเวลา 6 วันต่อสัปดาห์) ซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การดำเนินงานของธุรกิจจีนเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ

แน่นอนว่า การตัดสินใจอย่างรวดเร็วโดยไม่มีข้อมูลที่เกี่ยวข้องที่มากพอก็อาจนำไปสู่ความเสี่ยงและความผิดพลาด แต่ผู้ประกอบการจีนก็ยังคง “หิวกระหายต่อความสำเร็จ” พยายามทุ่มเททรัพยากรที่มีอยู่และทำทุกอย่างเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ทะเยอทะยาน

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจีนยัง “กล้าที่เผชิญกับความเสี่ยง” และเลือกที่จะ “ล้มเหลวไปข้างหน้า” โดยพยายามเรียนรู้จากความผิดพลาดที่ผ่านมาอย่างรวดเร็ว

งานวิจัยหนึ่งพบว่า นักธุรกิจจีนที่ประสบความสำเร็จในยุคหลังมักประสบความล้มเหลวมาเฉลี่ย 3 ครั้ง แต่ทุกคนเลือกที่จะ “ผิดเป็นครู” เรียนรู้จากความผิดพลาดที่ผ่านมาและนำไปใช้เป็นบทเรียนสอนใจ มิให้เกิดขึ้นซ้ำซ้อนอีก

ยิ่งในโลกอนาคตที่ปัญญาประดิษฐ์จะเข้ามาช่วยเราสแกนข้อมูลและคิดวิเคราะห์ก่อนนำเสนอทางเลือกในการแก้ไขปัญหา พัฒนากลยุทธ์ทางธุรกิจ และอื่นๆ การมีมุมมองที่ถูกต้องและทักษะในการตัดสินใจและการดำเนินการอย่างรวดเร็วจึงนับเป็นสิ่งหนึ่งที่คนรุ่นใหม่ควรมี

ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา ผมยังสัมผัสได้ว่า ผู้ประกอบการไทยไม่ให้ความสำคัญกับการปกป้องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญามากเท่าที่ควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดเป้าหมายต่างประเทศ ในกรณีของตลาดจีน การละเลยนี้อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ในการประกอบธุรกิจได้

ผู้ส่งออกส่วนใหญ่มักจะรอจนกระทั่งมีคู่ค้าแล้วจึงค่อยตัดสินใจคิดเรื่องการจดเครื่องหมายการค้าหรือทรัพย์สินทางปัญญาอื่นในจีน ซึ่งบ่อยครั้งพบว่า “สายเกินไป” แล้วเพราะกว่าจะคิดชื่อสินค้าในภาษาจีนและ

อื่นๆ ก็อาจถูกคนจีนเอาเครื่องหมายการค้าที่ถือครองอยู่ไปลักลอบจดทะเบียนเรียบร้อยแล้ว ทำให้การเข้าตลาดจีนยุ่งยากและอาจเสียเวลาและค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมาก

ในทางกลับกัน การเปิดตัวสินค้าใหม่ของผู้ประกอบการจีนที่ผ่านการจดทะเบียนคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาจึงเต็มไปด้วยความมั่นใจและความเสี่ยงทางธุรกิจที่ลดลง

สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการพัฒนาความร่วมมือทางธุรกิจกับจีน ก็อาจกังวลใจกับ “ถูกโกง” ทำให้ต้องใช้เวลานานมากขึ้นในการพิจารณา ซึ่งอาจทำให้สูญเสียโอกาสทางธุรกิจระหว่างกัน

ผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่นิยมรวมกลุ่มกันอย่างหลวมๆ ไม่พร้อมหรือไม่ชอบเป็นสมาชิกขององค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร อาทิ หอการค้าไทยในจีน บางส่วนอาจเพราะไม่อยาก “เสียค่าสมาชิก” ทำให้ไม่ทราบว่าจะขอคำปรึกษาหรือใช้บริการองค์กรเครือข่ายใดในการตรวจสอบข้อมูลจากที่ใด แต่เลือกที่จะเสี่ยง “เสียค่าโง่” ที่มีมูลค่าอันสูงลิ่ว

ตลอดเวลาหลายปีที่ผมจัดกิจกรรมเจรจาการค้ามาอย่างต่อเนื่อง ผมเลือกที่จะสร้างกลไกพิเศษสำหรับการตรวจสอบและรับรองสถานะของผู้เข้าร่วมกิจกรรมผ่านองค์กรที่เชื่อถือได้ อาทิ CCPIT เพื่อ “ยกระดับ” ความไว้วางใจให้เกิดขึ้นระหว่างผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง
โดยทั้งสองฝ่ายต่างคัดกรองผู้ประกอบการที่มีความน่าเชื่อถือเข้าร่วมกิจกรรม และหากมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกระทำผิดพลาด เราก็รู้ว่าจะไปที่หน่วยงานใดในการช่วยแก้ไขปัญหา

การจัดกิจกรรมรับประทานอาหารและกิจกรรมพิเศษร่วมกันเพื่อเป็นเวทีการเรียนรู้นิสัยใจคอและเสริมสร้างความสัมพันธ์ส่วนบุคคลระหว่างกัน ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยให้โอกาสของความสำเร็จในการเจรจาธุรกิจเกิดขึ้นรวดเร็วขึ้น กลไกพิเศษเหล่านี้เองทำให้ “ความเร็ว” ในการพัฒนาความร่วมมือระหว่างกันเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

ขณะเดียวกัน การคิดหานวัตกรรมใหม่อย่างต่อเนื่องก็เป็นสิ่งหนึ่งที่จีนมีเหนือกว่าของหลายชาติ ... เรียกว่ารวดเร็วอย่างคาดไม่ถึงเลยก็ว่าได้ นี่อาจเป็นสาเหตุที่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผมโดน FC ซักถามเชิงสงสัยอยู่เนืองๆ ว่า ทำไมกิจการในจีนสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว

ในประเด็นนี้ คนส่วนใหญ่มักนึกถึงปัจจัยด้าน “อุปทาน” ที่ความพร้อมด้านประชากรศาสตร์ โครงสร้างพื้นฐาน และขีดความสามารถของธุรกิจจีนเป็นปัจจัยสำคัญ

การมีประชากรจำนวนกว่า 1,400 ล้านคนทำให้การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกของภาครัฐ อาทิ สนามบิน รถไฟใต้ดิน และรถไฟความเร็วสูง ได้รับประโยชน์จาก “ขนาด” นำไปสู่ความคุ้มค่าด้านการลงทุน

ขณะเดียวกัน การสร้างคลัสเตอร์อุตสาหกรรมไฮเทคที่พร้อมสรรพในกลุ่มเมืองหลัก อาทิ ปากแม่น้ำแยงซีเกียง “อกไก่” และ GBA “ท้องไก่” ทำให้ธุรกิจในพื้นที่สามารถแสวงหาชิ้นส่วนประกอบที่จำเป็นสำหรับการคิดค้นนวัตกรรมได้ภายใน 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น

ตอนหน้า ผมจะพาไปพูดคุยเกี่ยวกับปัจจัยด้านอุปสงค์ที่มีผลต่อความเร็วของจีนกันครับ ...


ที่มาข้อมูล : อื่น ๆ

ที่มารูปภาพ : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร