เปิด 3 รอยเลื่อนอันตราย จุดกำเนิดแผ่นดินไหวกระทบกรุงเทพฯ - ดินอ่อนเพิ่มความรุนแรง

เปิด 3 รอยเลื่อนเสี่ยงต้นเหตุแผ่นดินไหวรุนแรง กระทบกรุงเทพฯ - ปริมณฑล

นายเป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหว สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เสวนาหัวข้อ "สังคายนาระบบเตือนภัย" ว่า ในภูมิภาคนี้ มีแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวอยู่จำนวนมาก ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศเมียนมา และบางส่วนอยู่ในประเทศจีน และประเทศไทย เพียงแต่ในไทยเป็นรอยเล็ก และมีอัตราการเลื่อนตัวต่ำกว่าในเมียนมา ซึ่งในเมียนมายังมีแนวรอยต่อระหว่างแผ่นเปลือกอินเดีย และไทย หรือตามแนวทะเลอันดามัน-ตะวันตกของเมียนมา ซึ่งทั้งหมดเป็นแหล่งกำเนิดที่จะเกิดแผ่นดินไหว
ทั้งนี้แหล่งแผ่นดินไหวที่จะส่งผลกระทบต่อกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีทั้งหมด 3 แหล่ง คือ

1. รอยเลื่อนในจังหวัดกาญจนบุรีของไทย ระยะห่าง 200 กิโลเมตร อาจทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดสูงสุด 7.5 และส่งผลกระทบมาถึงกรุงเทพฯ ได้ โดยเมื่อหลาย 10 ปีก่อน เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.9 และกระทบมาถึงกรุงเทพฯ แต่ตอนนั้นยังมีอาคารสูงน้อย
2. รอยเลื่อนสะกาย ที่ผ่ากลางประเทศเมียนมา ระยะห่าง 400-1,000 กิโลเมตร อาจทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดสูงสุด 8
3. แนวมุดตัวของแผ่นเปลือกที่อยู่ฝั่งตะวันตกของเมียนมา เรียกว่า แนวมุดตัวอาละกัน ระยะห่าง 600-700 กิโลเมตร ซึ่ง

สามารถเกิดแผ่นดินไหวได้สูงถึงระดับขนาด 9 โดยแนวมุดอาละกัน เคยเกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุดเมื่อประมาณ 260 ปีที่แล้ว ซึ่งโดยเฉลี่ยแผ่นดินไหวขนาดใหญ่จะเกิดซ้ำ 400-500 ปี ดังนั้น ตอนนี้แนวมุดอาละกัน อาจจะอยู่ระหว่างการสะสมพลังงานอยู่ แต่ยังไม่ถึงขั้นระเบิดในเร็ววัน แต่ก็เป็นไปได้ที่จะระเบิดก่อน หรือยังไม่ระเบิดก็เป็นไปได้ แต่ที่สำคัญคือมีศักยภาพที่จะกระทบกรุงเทพฯ แน่นอน

เปิด 3 รอยเลื่อนอันตราย จุดกำเนิดแผ่นดินไหวกระทบกรุงเทพฯ - ดินอ่อนเพิ่มความรุนแรง

สรุปข่าว

กรุงเทพฯ เสี่ยงได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวจาก 3 แหล่งหลัก ได้แก่ รอยเลื่อนกาญจนบุรีในไทย, รอยเลื่อนสะกายในเมียนมา และแนวมุดตัวอาละกัน ซึ่งอาจก่อให้เกิดแรงสั่นสะเทือนรุนแรง โดยเฉพาะเมื่อผ่านเข้ามายังแอ่งดินอ่อนขนาดใหญ่ของกรุงเทพฯ ที่สามารถขยายความรุนแรงได้ 3-4 เท่าตัว

กรุงเทพฯ แอ่งดินอ่อนปัจจัยกระตุ้นแผ่นดินไหวรุนแรงทวีคูณ

นายเป็นหนึ่งระบุว่า กรุงเทพฯ ตั้งอยู่บนแอ่งดินอ่อนขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถขยายความรุนแรงของแผ่นดินไหวได้ 3 - 4 เท่าตัว ส่งผลให้การสั่นสะเทือนแม้จะอ่อนแรงลงเมื่อเดินทางมาถึง แต่กลับถูกขยายแรงขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะต่ออาคารสูง

เหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา เกิดการสั่นไหวแบบช้า ๆ ซึ่งไม่ค่อยส่งผลต่ออาคารเตี้ย แต่กระทบต่ออาคารสูงโดยตรง ซึ่งนำไปสู่การพังถล่มของอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศระบุว่า นี่เป็นอาคารสูงที่อยู่ในระยะไกลที่สุดที่พังจากแผ่นดินไหว เมื่อเทียบกับสถิติทั่วโลก และยังเป็นอาคารสูงที่สุดที่พังจากแผ่นดินไหวอีกด้วย

มาตรฐานก่อสร้างอาคารในไทยต้องเข้มงวดขึ้น รองรับแผ่นดินไหวในอนาคต

มาตรฐานการออกแบบอาคารต้านทานแผ่นดินไหวในประเทศไทยมีมาตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งกำหนดให้อาคารในกรุงเทพฯ และปริมณฑลต้องสามารถรองรับแผ่นดินไหวได้ อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ล่าสุดเกิดขึ้นเพียง 1 ใน 3 ของระดับสูงสุดที่มาตรฐานกำหนด แต่ก็ยังมีอาคารถล่ม ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความเข้มงวดของมาตรฐานก่อสร้าง

นายเป็นหนึ่งเสนอว่า จำเป็นต้องมีการทบทวนมาตรฐานการก่อสร้างอาคารสูง โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงอย่างโซนหมายเลข 5 ของกรุงเทพฯ และฝั่งธนบุรี รวมถึงการเสริมความแข็งแรงของอาคารเก่าที่อาจมีโครงสร้างอ่อนแอ นอกจากนี้ ควรมีการสำรวจรอยเลื่อนแผ่นดินไหวเพิ่มเติม โดยเฉพาะในพื้นที่กาญจนบุรีและภาคเหนือ ซึ่งยังมีรอยเลื่อนที่ยังไม่ได้รับการศึกษาเพียงพอ

"จากนี้ไป ทุกฝ่ายต้องจริงจังกับปัญหาแผ่นดินไหวมากขึ้น ต้องปรับปรุงมาตรฐานก่อสร้าง และเพิ่มงบประมาณในการสำรวจรอยเลื่อนแผ่นดินไหว เพื่อความปลอดภัยของประชาชนในอนาคต" นายเป็นหนึ่งกล่าว


ที่มาข้อมูล : ศูนย์วิจัยแผ่นดินไหว

ที่มารูปภาพ : TNN

avatar

ชญาภา ภักดีศรี

แท็กบทความ

แผ่นดินไหว
รอยเลื่อนแผ่นดินไหว
กรุงเทพฯ เสี่ยงแผ่นดินไหว
แอ่งดินอ่อน
แนวมุดตัวอาละกัน