
กรุงเทพมหานครเชิญชวนประชาชนและทุกภาคส่วนร่วมแสดงพลังเชิงสัญลักษณ์และลดการใช้พลังงานที่ไม่จำเป็น เพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อนในกิจกรรม 60+ Earth Hour 2025: ปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน โดยร่วมปิดไฟที่ไม่จำเป็นและถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้งาน รวมถึงลดการใช้พลังงานทุกประเภท เป็นเวลา 1 ชั่วโมง พร้อมกันกับประชาชนทั่วโลกใน วันเสาร์ที่ 22 มีนาคม 2568 เวลา 20.30 – 21.30 น.
กรุงเทพมหานครร่วมกับองค์การ WWF ประเทศไทย และภาคีเครือข่าย รณรงค์กิจกรรมปิดไฟ 1 ชั่วโมงมาตั้งแต่ปี 2551 รวมระยะเวลากว่า 17 ปี สามารถลดการใช้พลังงานได้ถึง 22,537 เมกะวัตต์ และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 12,272 ตัน
ในปี 2567 เพียงปีเดียว การมีส่วนร่วมของประชาชนในกรุงเทพฯ สามารถลดการใช้ไฟฟ้าได้ 24.65 เมกะวัตต์ ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลง 11 ตัน ซึ่งเทียบเท่ากับการลดเที่ยวบินระหว่างกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ จำนวน 92 เที่ยวบิน หรือการลดการใช้รถยนต์ดีเซลเป็นระยะทาง 66,000 กิโลเมตร

สรุปข่าว
สำหรับปี 2568 กรุงเทพมหานครยังคงเดินหน้ารณรงค์กิจกรรมปิดไฟ 1 ชั่วโมง โดยขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นองค์กรภาครัฐ เอกชน ร้านค้า ผู้ประกอบการ ประชาชนทั่วไป รวมถึงสื่อมวลชน ให้ร่วมกัน ปิดไฟที่ไม่จำเป็นและลดการใช้พลังงาน เช่น ไฟประดับ ไฟอาคาร ป้ายโฆษณา เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องปรับอากาศ
นอกจากนี้ ขอเชิญชวนประชาชนแชร์การมีส่วนร่วมผ่านโซเชียลมีเดีย โดยใช้แฮชแท็ก #EarthHour2025 #BiggestHourForEarth #MyHourForEarth พร้อมทั้งร่วมกิจกรรมปิดไฟเชิงสัญลักษณ์ ณ สถานที่สำคัญในกรุงเทพฯ ได้แก่
- วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) พระบรมมหาราชวัง
- วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
- เสาชิงช้า
- สะพานพระราม 8
- ภูเขาทอง (วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร)
รวมถึงสำนักงานเขต 50 เขต และภาคีเครือข่ายที่ร่วมกันปิดไฟตามอาคารและบ้านเรือนในพื้นที่
การเข้าร่วมกิจกรรมนี้ไม่เพียงช่วยลดค่าไฟภายในบ้าน แต่ยังช่วยประหยัดพลังงานของชาติและรักษาสิ่งแวดล้อม หากทุกคนร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง จนเป็นพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน จะช่วยผลักดันให้การลดใช้พลังงานเป็นไปอย่างยั่งยืน ปิดไฟ 1 ชั่วโมงในวันนี้ คือการแสดงพลังของคนไทย เพื่อโลกของเรา
ที่มาข้อมูล : กรุงเทพมหานคร
ที่มารูปภาพ : Reuters