องค์กรอนามัยโลก (WHO) ตั้งค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM 2.5 ในอากาศ ว่าหากมีเกินกว่า 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถือเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ขณะที่ประเทศไทยกำหนดค่ามาตรฐานฝุ่น PM2.5 ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง จะต้องไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม.
สำหรับค่าเฉลี่ยรายปี จาก 25 มคก./ลบ.ม. ถูกปรับลงมา จะต้องไม่เกิน 15 มคก./ลบ.ม.
สรุปข่าว
ทางด้านการแพทย์ เตือนว่า ผลกระทบจากฝุ่นพิษ ส่งผลต่อสุขภาพร้ายแรงได้ เช่น ส่งผลต่อหัวใจ งานวิจัยได้แสดงว่าการเผชิญกับมลพิษในอากาศอาจทำให้เกิดเหตุรุนแรงเฉียบพลันกับกล้ามเนื้อหัวใจได้ รวมทั้งหัวใจวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจเต้นแรงขึ้น ตลอดจนมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้
ส่งผลต่อปอดและทางเดินหายใจ และทำให้โรคที่เป็นอยู่กำเริบขึ้นได้ เช่น โรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคมะเร็งปอด
ส่งผลต่อดวงตา : เกิดการระคายเคืองบริเวณดวงตา แสบตา ทำให้เกิดตาแดง ตาอักเสบได้
ส่งผลต่อผิวหนัง : ทำให้ผิวหนังอักเสบ ระคายเคืองง่าย ไวต่อการแพ้ เป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง
ส่งผลต่อสมอง : การเผชิญกับมลพิษในอากาศเป็นระยะยาวเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้หลอดเลือดแดงในสมองแข็งตัว ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น และความหนืดของเลือดเพิ่มขึ้น และยังเสี่ยงทำให้สมองเสื่อมด้วย
ที่มาข้อมูล : กระทรวงสาธารณสุข
ที่มารูปภาพ : TNN EARTH