
นายราเชน ศิลปะรายะ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ด้านปฏิบัติการ เปิดเผยว่า จากข้อมูลการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าการสะสมของฝุ่นละออง และหมอกควันบริเวณประเทศไทยตอนบนยังคงอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างมาก แต่มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากลมที่พัดปกคลุมจะมีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้การระบายอากาศมีแนวโน้มดีขึ้น เมื่อวานนี้ (26 ม.ค.) จึงได้สั่งการให้ทำการบินตรวจสภาพอากาศในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่ความสูงต่ำกว่า 1,500 ฟุต บริเวณสนามบินดอนเมือง พบว่าค่าฝุ่นเริ่มระบายออกจากพื้นที่แล้ว
กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จึงได้มีการประชุมวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการสลายฝุ่น พร้อมกันใน 5 หน่วยปฏิบัติการ ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการ จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดแพร่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดระยอง และจังหวัดกาญจนบุรี โดยใช้เทคนิคการโปรยน้ำแข็งแห้ง และสเปรย์น้ำลดอุณหภูมิผกผันเพื่อระบายฝุ่นก่อนเข้าและออกจากพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่ รวมทั้งระบายฝุ่นออกจากพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง

สรุปข่าว
นายราเชน บอกว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตรจะเร่งปฏิบัติการสลายฝุ่น PM2.5 ทั้งในช่วงเช้า และ บ่ายทุกวันจนกว่าค่าฝุ่นละออง PM2.5 จะอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง สวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อออกนอกอาคาร และติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศจากหน่วยงานของรัฐอย่างใกล้ชิด และสามารถติดตามข่าวสารการปฏิบัติการดัดแปรสภาพอากาศของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ทุกวัน ผ่านทาง เว็บไซต์ หรือ เฟซบุ๊ก กรมฝนหลวงและการบินเกษตร
ด้าน พลอากาศโท ประภาส สอนใจดี โฆษกกองทัพอากาศ เปิดเผยว่า พลอากาศเอก พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ ก็มีความห่วงใยเกี่ยวกับสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน จึงสั่งการให้เปิดศูนย์ปฏิบัติการกองทัพอากาศ เพื่อประชุมวางแผน ติดตามสถานการณ์และบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง ช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วน โดยจัดเครื่องบิน BT-67 จำนวน 2 ลำ เปิดปฏิบัติการลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ด้วยวิธีการเจาะชั้นบรรยากาศ ในรูปแบบการโปรยน้ำแข็งแห้งและสารฝนหลวง ซึ่งแต่ละเที่ยวบินสามารถบรรทุกน้ำแข็งแห้งหรือสารฝนหลวงประมาณ 2,000 กิโลกรัมต่อเที่ยวบิน
ที่มาข้อมูล : กรมฝนหลวงและการบินเกษตร
ที่มารูปภาพ : กรมฝนหลวงและการบินเกษตร