

สรุปข่าว
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า สทนช. ได้ขับเคลื่อนติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำช่วงฤดูแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำวังตอนล่าง จังหวัดลำปางและจังหวัดตาก ซึ่งมักจะเกิดขึ้นเป็นประจำเกือบทุกปีอย่างใกล้ชิด โดยใช้กลไกของคณะกรรมการลุ่มน้ำวังและคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด เพื่อบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งได้ถอดบทเรียนจากการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเกิดสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ทั้งน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค น้ำเพื่อการเกษตร และน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศมาวางแผนรับมือในฤดูแล้งปี 2566/67
อย่างไรก็ตามจากการติดตามสถานการณ์และแนวโน้มการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค ในพื้นที่ลุ่มน้ำวังตอนล่างล่าสุด แม้ขณะนี้ยังไม่มีพื้นที่เสี่ยงที่จะขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค นอกเขตพื้นที่การประปาส่วนภูมิภาค (พื้นที่ประปาท้องถิ่น) ก็ตาม แต่ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง และดำเนินการตาม 9 มาตรการรับมือฤดูแล้งปี 2566/67 อย่างเคร่งครัด เพราะประเทศไทยยังอยู่ในสภาวะเอลนีโญ ซึ่งอาจจะเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำในบางพื้นที่ได้ รวมทั้งได้สั่งการให้ สทนช.ภาค 1 ประสานงานหน่วยที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดลําปางและจังหวัดตาก เพื่อบูรณาการรวบรวมข้อมูลสภาพปัญหาและสถานการณ์น้ำของทั้งสองจังหวัด เพื่อนำมาวางแผนแก้ไขปัญหาได้ทันต่อสถานการณ์

สำหรับการดำเนินการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ ในพื้นที่ลุ่มน้ำวังตอนล่างในช่วงที่ผ่านมานั้น ล่าสุดในปี 2566 ได้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค น้ำเพื่อการเกษตร และน้ำรักษาระบบนิเวศ โดยได้ดำเนินการแก้ไขปัญหา ผ่านทางคณะกรรมการลุ่มน้ำวัง ซึ่งได้มีมติให้สำนักงานชลประทานที่ 2 พิจารณาจัดทำแผนการจัดสรรน้ำจากอ่างเก็บน้ำแม่พริก (ผาวิ่งชู้) จำนวน 5 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เพื่อรักษาระบบนิเวศและเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับผลิตประปาหมู่บ้าน ในพื้นที่ลุ่มน้ำวังตอนล่าง โดยเริ่มจัดสรรน้ำตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม – 26 กรกฎาคม 2566 ผลจากการดำเนินการดังกล่าวมีการจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำรวมทั้งสิ้น 1.68 ล้าน ลบ.ม. นอกจากนี้ในช่วง ต้นฤดูฝนปี 2566 พื้นที่ลุ่มน้ำวังตอนล่างขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค ได้มีการพิจารณาเพิ่มการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำแม่พริก (ผาวิ่งชู้) สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันต่อสถานการณ์ ทำให้ไม่มีรายงานผลกระทบที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด เลขาธิการ สทนช. กล่าวด้วยว่า สำหรับสถานการณ์น้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ลุ่มน้ำวัง 2 แห่งในปีนี้
มีปริมาณค่อนข้างดีมาก คือ อ่างเก็บน้ำกิ่วลม จังหวัดลำปาง มีปริมาณน้ำ 105 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 99% ของปริมาณ การกักเก็บ โดยวางแผนการจัดสรรน้ำในฤดูแล้งปี 2566/67 เพื่อการอุปโภค-บริโภค 16.13 ล้าน ลบ.ม. เพื่อรักษาระบบนิเวศ 21.90 ล้าน ลบ.ม. เพื่อการเกษตร 121.94 ล้าน ลบ.ม. โดยรับน้ำเพิ่มจากอ่างเก็บน้ำกิ่วคอหมา 90 ล้าน ลบ.ม. รวมกับน้ำท่าที่ไหลเข้าอ่างฯ สำรองไว้ในช่วงต้นฤดูฝนปี 2567 จำนวน 40.52 ล้าน ลบ.ม. และอื่น ๆ 30.30 ล้าน ลบ.ม. ส่วนอ่างเก็บน้ำกิ่วคอหมา จังหวัดลำปาง มีปริมาณน้ำ 189 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 111% ของปริมาณการกักเก็บ โดยวางแผนจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค 1.45 ล้าน ลบ.ม. เพื่อรักษาระบบนิเวศ 7.78 ล้าน ลบ.ม. เพื่อการเกษตร 9.58 ล้าน ลบ.ม. สำรองไว้ในช่วงต้นฤดูฝนปี 2567 อีก 70.56 ล้าน ลบ.ม. และอื่นๆ 90 ล้าน ลบ.ม. นอกจากนี้อ่างเก็บน้ำที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำวังตอนล่าง ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง คือ อ่างเก็บน้ำแม่พริก (ผาวิ่งชู้) จังหวัดลำปาง มีปริมาณน้ำ 36.49 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 100% ของปริมาณการกักเก็บ
“สทนช. จะนำบทเรียนจากการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในที่ลุ่มน้ำวังตอนล่างในช่วงที่ผ่านมา และสถานการณ์น้ำปัจจุบันมาบูรณาการในการวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำผ่านทางคณะกรรมการลุ่มน้ำวังและคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำช่วงฤดูแล้งปีนี้ โดยเฉพาะน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค จึงมั่นใจได้ว่าจะมีน้ำเพียงพอกับความต้องการใช้ตลอดทั้งปีอย่างแน่นอน” เลขาธิการ สทนช. กล่าวในตอนท้าย
ที่มาข้อมูล : -