เมื่อจีนเอาชนะคู่แข่งด้วย “ความเร็ว” (ตอน 5) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ในอีกด้านหนึ่ง พฤติกรรมการบริโภคของชาวจีนก็นับว่ามีส่วนสำคัญยิ่ง รายได้เฉลี่ยต่อหัวที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วช่วยเพิ่มความต้องการของชาวจีนในเชิงคุณภาพ
พฤติกรรมดังกล่าวยังมีลักษณะพิเศษที่ “เปิดกว้าง” ต่อการพัฒนาใหม่ การมีประชากรอินเตอร์เน็ตระดับ 1,000 ล้านคนซึ่งมากที่สุดในโลก ทำให้ผู้บริโภคในจีน “รับรู้” และ “กล้าลอง” ของใหม่มากและเร็วกว่าของชาติอื่น ช่วยเพิ่มโอกาสของความสำเร็จของธุรกิจในการนำเสนอสินค้าและบริการใหม่ๆ และการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพตลาดได้อย่างรวดเร็ว
ยิ่งไปกว่านั้น ผมรู้สึกว่า ผู้บริโภคชาวจีนในช่วงหลายปีหลังต่างมองหา คาดหวัง และตอบรับใน “เชิงรุก” ต่อโซลูชั่นและวิธีการที่จะทําให้ชีวิตสะดวกง่ายดายยิ่งขึ้น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ธุรกิจที่มีโมเดลธุรกิจและโซลูชั่นที่ตอบโจทย์ของผู้บริโภคจีนสามารถเติบใหญ่ได้อย่างรวดเร็วไปด้วย
รถยนต์ไฟฟ้าก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่อาจพูดถึงได้ ย้อนกลับไปเมื่อราว 10 ปีก่อน ผู้บริโภคจีนต่างเฝ้าดูการเปิดตัว EV ใหม่ของแต่ละค่ายโดยให้ความสำคัญกับสมรรถนะระยะทางต่อการชาร์จ และอื่นๆ โดยผู้บริโภคจีนมักใช้เกณฑ์ 500 กิโลเมตรต่อการชาร์จเป็นพื้นฐาน
หาก EV รุ่นใหม่ไม่ผ่านเกณฑ์ดังกล่าวก็จะไม่ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภค แต่ผ่านไปไม่นาน เกณฑ์ดังกล่าวในปัจจุบันถูกขยับไปสู่ 1,000 กิโลเมตรต่อการชาร์จซะแล้ว และผมเชื่อว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต สิ่งนี้ทำให้ค่ารถยนต์ต้องเร่งพัฒนาแบตเตอรีเจนใหม่ออกมา ไม่อย่างนั้นก็จะ “ตกขบวน”
ขณะเดียวกัน ธุรกิจในจีนยังสามารถใช้จังหวะโอกาสของการพัฒนาด้านเทคโนโลยีเพื่อประโยชน์อื่น การสะสมฐานข้อมูลลูกค้าผ่าน “บิ๊กดาต้า” ก็เป็นประโยชน์ต่อการวิเคราะห์พฤติกรรมการบริโภคและโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ มากมายในอนาคต
ขณะที่พัฒนาการของสื่อสังคมออนไลน์ของจีนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “โต่วอิน” (Douyin) ที่เรารู้จักกันในชื่อของ “ติ๊กต็อก” (TikTok) ก็ทำให้เกิดการนำเสนอคอนเท้นต์รูปแบบใหม่ หนึ่งใน “ความร้อนแรง” ด้านการตลาดของอุตสาหกรรมบันเทิงจีนในปี 2024 ก็ได้แก่ ความนิยมใน “ละครสั้น” หรือ “ไมโครดราม่า” (Micro Drama) ซึ่งส่วนใหญ่มีความยาวไม่เกิน 2 นาที
คอนเท้นต์ลักษณะนี้นิยมถ่ายทำในฉากที่เรียบง่าย นักแสดงนำที่ไม่มีชื่อเสียงโด่งดัง โดยใช้เวลาเพียง 7-10 วันเท่านั้นในการถ่ายทําทั้งซีรีส์ ทำให้ใช้ต้นทุนและระยะเวลาในการผลิตที่ต่ำ รวมทั้งยังไม่ติดเงื่อนไขในการเซนเซอร์ที่เข้มข้นของรัฐบาลจีน ส่งผลให้มีความเสี่ยงน้อยในเชิงธุรกิจ
ประการสำคัญ ละครสั้นเหล่านี้มีคอนเท้นต์ที่น่าตื่นเต้นและมักหักมุมอย่างสร้างสรรค์ในตอนท้าย ทำให้ผู้คน “ติดอกติดใจ” ขณะเดียวกัน คอนเท้นต์ที่สั้น กระชับ ไม่ต้องใช้เวลาในการรับชมยาวนาน ก็ยัง “ถูกจริต” กับกลุ่มวัยรุ่นและคนวัยทำงาน และเป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่ผู้รับชมทางสมาร์ตโฟนขณะเดินทาง
ในระยะแรก คอนเท้นต์เหล่านี้ถูกนำเสนอให้ชมแบบไม่มีค่าใช้จ่ายใน 2-3 ตอนแรกหรือเมื่อเรื่องดำเนินไปจนคนติดกัน “งอมแงม” แล้ว หลังจากนั้น ผู้ชมก็จะได้รับแจ้ง “ทางเลือก” ในการชำระเงินเพื่อรับชมต่อ เช่น ซีรีส์ที่มีความยาว 100 ตอน อาจเสนอแพ็กเกจรับชมแบบ 20, 30 หรือ 50 ตอน

เมื่อจีนเอาชนะคู่แข่งด้วย “ความเร็ว” (ตอน 5) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

สรุปข่าว

พฤติกรรมการบริโภคของชาวจีนก็นับว่ามีส่วนสำคัญยิ่ง รายได้เฉลี่ยต่อหัวที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วช่วยเพิ่มความต้องการของชาวจีนในเชิงคุณภาพ พฤติกรรมดังกล่าวยังมีลักษณะพิเศษที่ “เปิดกว้าง” ต่อการพัฒนาใหม่ การมีประชากรอินเตอร์เน็ตระดับ 1,000 ล้านคนซึ่งมากที่สุดในโลก ทำให้ผู้บริโภคในจีน “รับรู้” และ “กล้าลอง” ของใหม่มากและเร็วกว่าของชาติอื่น ช่วยเพิ่มโอกาสของความสำเร็จของธุรกิจในการนำเสนอสินค้าและบริการใหม่ๆ และการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพตลาดได้อย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญในวงการคาดว่าอุตสาหกรรม “ละครสั้น” นี้จะมีมูลค่ารวมถึง 13,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2027 เลยทีเดียว!!!
นอกจากนี้ ในช่วงหลายปีหลังนี้ เทคโนโลยียังได้กลายเป็นหนึ่งใน “คำตอบ” สำหรับการแก้ไขปัญหาคอขวดระหว่างกระบวนการพัฒนาและการคิดหานวัตกรรมใหม่เชิงพาณิชย์
ท่ามกลางความแพร่หลายของสมาร์ตโฟนในหมู่ผู้บริโภคจีน การวิจัยออนไลน์ก็เป็นวิธีการที่ทำให้ธุรกิจอยู่ใกล้ชิดและเข้าถึงความรู้สึกนึกคิดของผู้บริโภคในจีนมากขึ้นจนเป็นแบบ “เรียลไทม์” มากขึ้นทุกขณะ ซึ่งนั่นอาจหมายถึงการผุดขึ้นของโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ
จากศักยภาพทางธุรกิจดังกล่าว ในฐานะนักกลยุทธ์ทางธุรกิจ เราควรถามตัวเองอยู่เสมอว่า เราจะ “เปลี่ยนเลนส์แซง” โดยการสร้างสรรค์รูปแบบการดําเนินงานที่แตกต่างจากคู่แข่งขันเดิมได้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพปัจจัยทางธุรกิจที่มีทรัพยากรจำกัดและระดับการแข่งขันที่สูง
ประการสำคัญ กระแส “ปัญญาประดิษฐ์” ในระยะหลังกำลังทำให้โลก “เปลี่ยนโฉม” ไปอย่างรวดเร็ว กิจการในจีนจึงเริ่มคิดหาแนวทางและวิธีการในการลดกระบวนการพัฒนาดังกล่าวโดยมิได้อาศัยความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของ “สมองมนุษย์” เท่านั้น แต่ยังใช้การคิดอย่างเป็นระบบและเปี่ยมประสิทธิภาพของ “สมองจักรกล” อีกด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น ธุรกิจจีนยังให้ความสำคัญกับ “การตอกย้ำ” อย่างต่อเนื่องและเป็นระบบในเชิงการตลาด ผู้บริหารของไอเอ็มมอเตอร์ (IM Motors) กิจการรถยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะภายใต้อแบรนก์ IM ที่เป็นการร่วมทุนระหว่างแซ็คมอเตอร์ (SAIC Motors) กับอาลีบาบา (Alibaba) เคยกล่าวไว้ว่า “แบรนด์ที่ไม่เร่งความเร็วและทำซ้ำมากพอจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ...”
ทำนองเดียวกันเกิดขึ้นในอุตสาหกรรม FMCG เกม ลอจิสติกส์ ความบันเทิง เทคโนโลยีระดับสูง และอื่นๆ เราจึงเห็นแบรนด์ในจีนกําลังเคลื่อนไหวเชิงกลยุทธ์และมองหาทางออกจากวิกฤติของความท้าทายจากปัจจัยเชิงภูมิรัฐศาสตร์ได้อย่างรวดเร็ว

ยกตัวอย่างเช่น เพียง 2 เดือนหลังจากถูกสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีดำเมื่อต้นปี 2021 เสียวหมี่ (Xiaomi) หนึ่งในแบรนด์อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภคชั้นนำของจีน ก็ประกาศ “ดาวดวงใหม่” ที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการขยายธุรกิจเข้าสู่โลกยานยนต์ภายใน 3 ปี ทั้งที่ไม่มีประสบการณ์โดยตรงในธุรกิจนี้มาก่อน
เพียง 3 ปีต่อมา บริษัทฯ ก็เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า “สุดแจ่ม” คันแรกที่แสดงถึงวัฒนธรรมองค์กรของเสียวหมี่ที่ “กล้าเสี่ยง” และ “ปฏิบัตินิยม” และตอกย้ำถึงแนวคิดในการสร้างแบรนด์ที่ “นอกกรอบ” ขยายขอบข่ายข้ามประเภทสินค้าและบริการที่ยึดถือมาโดยตลอดอีกครั้ง ท่ามกลางกระแสความสนใจของนักการตลาดและกระแสการตอบรับเชิงบวกจากผู้บริโภคจีน
ความสำเร็จในการคิดวิเคราะห์ ตัดสินใจ และดำเนินการดังกล่าว รวมทั้งการเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทานและอุตสาหกรรมยานยนต์ของจีนก็นำไปสู่ “ความเร็วของจีน” ที่ช่วยให้เสียวหมี่เริ่มผลิตสินค้าสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เลยไปจนถึงหมวดหมู่ “อินเตอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง” และยานยนต์ไฟฟ้าในยุคหลัง และผมเชื่อมั่นว่า เสียวหมี่และกิจการอื่นในจีนจะสานต่อแนวคิดในการพัฒนาบนพื้นฐานของ “ความเร็ว” ต่อไปอย่างแน่นอน
ธุรกิจจีนยังมีตัวอย่างให้เราได้ศึกษาเรียนรู้อีกมาก แต่ต้องอ่านต่อตอนหน้าครับ ...

ที่มาข้อมูล : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ที่มารูปภาพ : AFP

แท็กบทความ

จีน
พฤติกรรมผู้บริโภคชาวจีน
ตลาดจีน
จีนยุคใหม่
การค้าขายจีน