การเติบใหญ่ขององค์กรพัฒนาชนบทแดนมังกร (ตอน 2) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

การเติบใหญ่ขององค์กรพัฒนาชนบทแดนมังกร (ตอน 2) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

สรุปข่าว

วันนี้จะชวนคุยต่อว่าทำไมผมจึงกล่าวว่า สี จิ้นผิง เป็นผู้นำที่ผลักดันนโยบายการสร้างความกระชุ่มกระชวยให้กับพื้นที่ชนบทอย่างชัดเจน และมูลนิธิจีนเพื่อการพัฒนาชนบท (CFRD) เข้ามาเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจีนในตอนไหน อย่างไร ...


ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา เมื่อกล่าวถึง “ชนบท” พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ให้ความสำคัญกับ 3 ประเด็นหลัก อันได้แก่ ภาคการเกษตร พื้นที่ชนบท และเกษตรกร


แต่หากพิจารณาจากผลของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจีนนับแต่เปิดประเทศสู่ภายนอก ก็อาจพบว่า “ความรุดหน้า” เกิดขึ้นในลักษณะกระจุกตัวในหลายส่วน เช่น ด้านซีกตะวันออกมากกว่าตอนกลางและซีกตะวันตก ชุมชนเมืองมากกว่าในพื้นที่ชนบท และภาคอุตสาหกรรมและบริการมากกว่าภาคการเกษตร


สัญญาณ “ความเอาจริงเอาจัง” ในการพัฒนาชนบทดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นโดยลำดับ ครั้นถึงช่วงวาระที่ 2 ของการดำรงตำแหน่งผู้นำจีน ในปี 2017 สี จิ้นผิงได้แนะนํายุทธศาสตร์ “การฟื้นฟูชนบท” ครั้งแรกในการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 19 เพื่อเน้นย้ําถึงความสําคัญของการพัฒนาพื้นที่ชนบท


นับแต่นั้นเป็นต้นมา นโยบายและการปฏิรูปที่เกี่ยวข้องก็ทยอยคลอดออกมา และปรากฏผ่านแผนเชิงกลยุทธ์สําหรับการฟื้นฟูพื้นที่ชนบทปี 2018-2022 แผนพัฒนา 5 ปีฉบับที่ 14 (ปี 2021-2025) และกฎหมายส่งเสริมการฟื้นฟูชนบท


รวมทั้งการจัดตั้งองค์กรเพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายและแผนงานที่เกี่ยวข้อง การจัดตั้งสํานักงานบริหารแห่งชาติเพื่อการฟื้นฟูชนบทเพื่อแทนที่สํานักงานบรรเทาและพัฒนาความยากจนเป็นตัวอย่างหนึ่ง ทำนองเดียวกันเกิดขึ้นกับการแปรสภาพ CFPA ไปสู่ CFRD


 ยุทธศาสตร์ “การฟื้นฟูชนบท” ของจีนเป็นองค์ประกอบหลักของเป้าหมายของรัฐบาลในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่สมดุลมากขึ้น และเพื่อขจัดความยากจนอย่างเป็นรูปธรรมในวงกว้าง


ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์การฟื้นฟูชนบทให้ทันสมัยได้กำหนดเป้าหมายระยะกลางในปี 2025 ไว้ว่า อุปทานผลผลิตการเกษตรหลักจะได้รับการประกันด้วย “คุณภาพ” ประสิทธิภาพ และความสามารถในการแข่งขัน” เพื่อขจัดความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จ และลดความไม่เท่าเทียมกันของรายได้


การเติบใหญ่ขององค์กรพัฒนาชนบทแดนมังกร (ตอน 2) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก AFP

 


 

นอกจากนี้ ยุทธศาสตร์ดังกล่าวยังมีเป้าหมายระยะยาวสำคัญ 2 ประการ โดยประการหนึ่ง เพื่อบรรลุ “ความก้าวหน้าอย่างเด็ดขาด” ในการฟื้นฟูชนบทและความทันสมัยทางการเกษตรภายในปี 2035 และ “ได้รับการฟื้นฟูอย่างเต็มที่” เพื่อให้เกษตรกรมีฐานะดีและภาคเกษตรกรรมมีความเข้มแข็งภายในปี 2050


เพื่อให้บรรลุเป้าหมายระยะกลางและระยะยาวดังกล่าว รัฐบาลจีนได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการสารพัดโครงการ เช่น การส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยทําฟาร์มสมัยใหม่ การปรับปรุงสิทธิในการใช้ประโยชน์ในที่ดินของเกษตรกร และการกําหนดให้รัฐบาลฟื้นฟูความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม


และเมื่อต้นปี 2022 สภาประชาชนแห่งชาติและคณะกรรมการกลางของพรรคฯ ยังได้ร่วมกันเผยแพร่ “เอกสารหมายเลข 1” ซึ่งเป็นเอกสารเชิงนโยบายฉบับแรกของรัฐบาลแห่งปี โดยมีสาระที่กําหนดแผนพัฒนาชนบท สิ่งนี้เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สะท้อนถึงความสําคัญในเชิง “สัญลักษณ์” ที่พรรคฯ ให้ความสําคัญอย่างยิ่งยวดกับการแก้ไขปัญหาในชนบท


เอกสารหมายเลข 1 ดังกล่าวมี 3 หัวข้อหลัก อันได้แก่ การประกันความมั่นคงด้านอาหาร การหลีกเลี่ยงการถอยหลังในการแก้ไขปัญหาความยากจน และการแก้ไขปัญหาทางสังคม เช่น การปฏิบัติต่อผู้หญิงและเด็ก


นอกจากนี้ เอกสารดังกล่าวยังครอบคลุมถึงการเรียกร้องให้เสนอ “สิ่งจูงใจ” แก่เกษตรกรในการปลูกพืชสําคัญ (ที่ดูจะอ่อนแรงอย่างมากในการจูงใจหนุ่มสาวยุคใหม่ในการทำการเกษตร) สนับสนุนการนําแนวปฏิบัติทางการเกษตรสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ ปรับปรุงการป้องกันและตอบสนองต่อภัยพิบัติ และปรับปรุงคุณภาพดินและระบบชลประทาน


ความพยายามในการสร้างความกระชุ่มกระชวยให้กับพื้นที่ชนบทนับว่ามีความสลับซับซ้อนมาก โดยเกี่ยวข้องโดยตรงกับการรักษา “ความมั่นคงด้านอาหาร” ที่เป็นนโยบายหลักของรัฐบาลจีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา


ดังจะเห็นได้ว่า รัฐบาลจีนภายใต้การนำของสี จิ้นผิง ได้ทุ่มเทพัฒนาภาคการเกษตรอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้จีนเป็น 1 ใน 5 อันดับแรกของประเทศที่มีการปรับปรุงด้านการเกษตรในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา


แต่ใช่ว่าทุกอย่างจะราบรื่น เพราะแหล่งข้อมูลหนึ่งระบุว่า ท่ามกลางการขยายตัวของอุปสงค์สินค้าเกษตรในเชิงคุณภาพในช่วงปี 2000-2020 ระดับการพึ่งพาตนเองด้านอาหารของจีนได้ลดฮวบจาก 93.6% เหลือเพียง 65.8% เท่านั้น


ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ไม่นาน สี จิ้นผิง ผู้นำจีน ได้กล่าวในเวทีการประชุม Central Rural Work Conference ของพรรคฯ ณ กรุงปักกิ่ง ว่า “ชามข้าวของคนจีนต้องอยู่ในมือของเราอย่างมั่นคง ชามข้าวของเราควรเต็มไปด้วยพืชผลจีนเป็นหลัก” ดังนั้น ตัวเลขเป้าหมายระดับการพึ่งพาตนเองฯ ในปี 2023 ที่ 97% จึงเต็มไปด้วยความท้าทายยิ่ง


การเติบใหญ่ขององค์กรพัฒนาชนบทแดนมังกร (ตอน 2) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก AFP

 


การประชุมนี้มีความสำคัญเฉกเช่นเดียวกับ Central Economic Work Conference ที่มักประชุมในช่วงโค้งสุดท้ายของแต่ละปี เพื่อประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจ กำหนดเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจ และนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจในปีต่อไป


แม้ว่าจะเผชิญกับความท้าทายอย่างยิ่งยวด แต่จีนก็ไม่ย่อท้อ มิหนำซ้ำยังทำงานในเชิงรุกเพื่อต่อสู้กับปัญหาที่เกี่ยวข้อง โดยเมื่อกลางปี 2023 สภาประชาชนแห่งชาติจีนยังได้ออกกฎหมายว่าด้วยความมั่นคงด้านอาหาร


กฎหมายดังกล่าว “ครอบคลุม” ทั้งในด้านการปกป้องพื้นที่การเพาะปลูก การผลิตอาหาร อาหารสำรอง การหมุนเวียนอาหาร การแปรรูปอาหาร เหตุฉุกเฉินด้านอาหาร การอนุรักษ์อาหาร และการกำกับดูแลและจัดการด้านอาหาร


ในทางปฏิบัติ รัฐบาลจีน “มิได้เดินอย่างเดียวดาย” แต่ยังได้ดีงเอาภาคเอกชนจีนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินสารพัดโครงการในจีน เพื่อนำทางด้านสิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสะอาด


คราวหน้าผมจะพาไปตรวจสอบความสำคัญในส่วนนี้และแง่มุมอื่นของปัญหา ก่อนไปดูกิจกรรมและโครงการเด่นที่ CFRD ดำเนินการในช่วงหลังกันครับ ...



ที่มาข้อมูล : -

ที่มารูปภาพ :

แท็กบทความ

ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร
พัฒนาชนบทแดนมังกร
แดนมังกร
ไพจิตร
มูลนิธิจีน