
ฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) หรือ CGSI ระบุในบทวิเคราะห์ ว่าในไตรมาส 4/2567 KBANK ทำกำไรสุทธิได้ 1.05 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11. 8 เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ( yoy) แต่ลดลงร้อยละ 12.3 เทียบไตรมาสสก่อน( qoq ) ซึ่งสูงกว่าประมาณการของฝ่ายวิเคราะห์ฯ ที่ร้อยละ 4 และสูงกว่า Bloomberg consensus ที่ร้อยละ 7 โดยปัจจัยบวกที่ช่วยหนุนผลประกอบการไตรมาส 4/67 คือ สินเชื่อที่เติบโตสูงกว่าคาดที่ร้อยละ 0.6 yoy และร้อยละ 2.9 qoq
ส่วนปัจจัยที่ทำให้กำไรสุทธิลดลง qoq คือ ค่าใช้จ่ายที่มิใช่ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นตามฤดูกาล ดังนั้น KBANK จึงมีกำไรสุทธิในปี 67 อยู่ที่ 4.86 หมื่นล้านบาท เติบโตร้อยละ 14.6 yoy ขณะที่ กำไรก่อนตั้งสำรอง (PPOP) ในไตรมาส 4/2567 ลดลง ร้อยละ 3.3 yoy และร้อยละ 6.1 qoq แต่ PPOP ในปี 2567 ยังคงเติบโตร้อยละ 2.8 yoy
โดยในการประชุมนักวิเคราะห์เมื่อวันที่ 21 ม.ค.68 ผู้บริหารของ KBANK ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดทั้งหมดของเป้าหมายปี 2568 เพราะ CEO เตรียมจะประกาศระหว่างโรดโชว์ในวันที่ 3 ก.พ. 2568 นี้ อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารยังคงเชื่อว่าอัตราการสำรองหนี้สูญในปีนี้จะกลับมาอยู่ในระดับปกติที่ 140-160 basis point (bp) เทียบกับสมมติฐานของฝ่ายวิเคราะห์ฯ ที่ 170 bp ในปี 2568

สรุปข่าว
ขณะเดียวกัน KBANK ประเมินในเบื้องต้นว่ามาตรการช่วยลูกหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ภายใต้โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” น่าจะกระทบส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) 3-5bp โดยผู้บริหาร กล่าวว่า อัตราการสมัครเข้าร่วมโครงการและได้รับอนุมัติจากธนาคาร น่าจะใกล้เคียงกับฐานข้อมูลของธปท.ที่ร้อยละ 10 ของจำนวนลูกหนี้ที่มีสิทธิเข้าร่วมโครงการ
นอกจากนี้ ผู้บริหารชี้แจงว่าสินเชื่อ stage 2 ที่เพิ่มขึ้นในไตรมาส 4/2567 มาจากลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างการปรับ โครงสร้างหนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อแบบมีหลักประกันและอยู่ในกลุ่มสินเชื่อ SME ขนาดเล็กที่มีหลักประกันและสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลัก
ฝ่ายวิเคราะห์ CGSI ได้ปรับประมาณการ EPS ของ KBANK ในปี 2568-2569 ลงร้อยละ 4.1-5.1 พร้อมกับนำเสนอประมาณการในปี 2570 โดยปรับประมาณการกำไรของ KBANK หลังปรับลดสมมติฐาน คือ
1.อัตราการเติบโตของสินเชื่อจากร้อยละ 4 เป็น ร้อยละ 1.9-2.0
2.ปรับ NIM ลง 9-12bp สะท้อนผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครึ่งแรกปีนี้
3.อัตราการเติบโตของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยจากร้อยละ 4.0-4.4 เป็นร้อยละ 3.4-3.9 ในปี 2568-2569
โดยฝ่ายวิเคราะห์ฯ ยังคงแนะนำ “ซื้อ” หุ้น KBANK ที่ราคาเป้าหมาย 188 บาท ซึ่งเท่ากับ P/BV 0.74 เท่าในปี 2568 โดยมองว่า KBANK น่าจะมี EPS เติบโตดีในอัตราร้อยละ 2.0-5.2 ในปี 2568-2570 ,อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลน่าสนใจที่ร้อยละ 4.7 ต่อปี และสามารถบริหารจัดการ NPL ได้ดีขึ้น
ทั้งนี้ KBANK จะมี downside risk หรือความเสี่ยงขาลง หาก NPL หรือสินเชื่อ stage 2 พุ่งสูงขึ้น รวมถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนปัจจัยบวกที่ช่วยหนุน คือ การปรับเพิ่มประมาณการกำไรใน 2568-2570 เนื่องจากอัตราการสำรองหนี้สูญกลับมาอยู่ในระดับปกติ และการขยายธุรกิจสินเชื่อในต่างประเทศ