"เลิกอวดรวย" คนจีนลดซื้อแบรนด์หรู I การตลาดเงินล้าน

สรุปข่าว

บริษัท เบน แอนด์ คอมพานี (Bain & Company)ร่วมกับ อัลตาแกมม่า (Altagamma) ซึ่งเป็นองค์กรเครือข่ายแบรนด์หรูในประเทศอิตาลี เผยผลวิจัยตลาดสินค้าหรูหราทั่วโลก โดยคาดการณ์ถึงกลุ่มตลาดสินค้าฟุ่มเฟือยส่วนบุคคลว่า ตลาดมีทิศทางทรงตัว หรือจะมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 0 ถึง 4 หรือคิดเป็นมูลค่าตลาดประมาณ 365,000 ล้านยูโร ถึง 385,000 ล้านยูโร

ตัวเลขดังกล่าว เป็นสมมติฐานที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด แต่หากได้รับแรงสนับสนุนจากปัจจัยบวกเพิ่มขึ้น เช่น ยอดขายในจีนดีกว่าที่คาดไว้ ก็จะส่งผลให้ตลาดโดยรวมก็มีโอกาสเติบโตระหว่างร้อยละ 4 ถึงร้อยละ 6 จากปีก่อนหน้า 

ปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อตลาดสินค้าหรู มีอยู่หลายปัจจัย ตั้งแต่ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ที่ยังคงเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก, ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และ เงินเฟ้อที่พุ่งสูง กระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค ตลอดจนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งจะมีขึ้นปลายปีนี้ ก็มีผลต่อยอดขายของกลุ่มสินค้าแบรนด์หรู เช่นกัน

ส่วนตลาดจีน ช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีส่วนผลักดันทำให้สินค้าลักชัวรีเติบโต แต่เวลานี้ จีน กำลังเผชิญกับประเด็นทางเศรษฐกิจ และปัญหานี้ ยังนำไปสู่ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ลักชัวรี เชม (luxury shame) สะท้อนถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวจีนที่เปลี่ยนไป และมีความคิดว่า การใช้ของหรูหราเป็นเรื่องที่น่าอาย โดยหันมาใช้สินค้าที่เรียบหรู และไม่โดดเด่นมากนักแทน ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ ส่งผลต่อตลาดสินค้าฟุ่มเฟื่อยในไตรมาสแรกที่ผ่านมา ให้ติดลบ ตั้งแต่ ลบร้อยละ 3 ถึง ลบร้อยละ 1

ด้านสำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า จากปัญหาความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐีชาวจีนหลีกเลี่ยงพฤติกรรมการโอ้อวดความมั่งคั่งของตน หรือ เลิกอวดรวย อีกทั้งยังลดการใช้จ่ายสินค้าหรู หันมาระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น เช่นเดียวกัน กับกลุ่มชนชั้นกลาง ก็ระมัดระวังในการแสดงตัวตนอย่างโอ้อวดในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้

นั่นกลายเป็นปัจจัยฉุดรั้งยอดขายสินค้าไฮเอนด์ส่วนบุคคลทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น เสื้อผ้า เครื่องประดับ และผลิตภัณฑ์เสริมความงาม ในปี 2567 ให้มีทิศทางจะทรงตัว หรือเติบโตเพียงร้อย 4 เท่านั้น และถือเป็นการเติบโตของยอดขายที่อ่อนแอสุดนับตั้งแต่ปี 2020 ช่วงการระบาดของโควิด 19 ขณะที่ปี 2022 ตลาดสินค้าหรู เติบโตถึงร้อยละ 13 และ ปี 2023 ที่ผ่านมา ชะลอตัวมาเป็นเติบโตที่ร้อยละ 8

คุณ เฟเดริกา เลวาโต (Federica Levato) หุ้นส่วนของบริษัท เบน แอนด์ คอมพานี พูดถึงปรากฏการณ์ดังกล่าว ว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เลยก็ว่าได้ ที่มีคำว่า ลักชัวรี เชม (luxury shame)หรือ ความหรูหราเป็นเรื่องน่าอาย เกิดขึ้นในประเทศจีน ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้สถาพแวดล้อมการว่างงานที่สูงขึ้น และปัญหาทางเศรษฐกิจ

และแทนที่เหล่านักชอปชาวจีนจะแห่กันไปจับจ่ายซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้า กลายเป็นว่าพวกเขานัดหมายเป็นการส่วนตัวเพื่อเลือกแฟชั่นที่เรียบง่าย มากกว่ากลุ่มสินค้าที่ดูฉูดฉาด สะดุดตา 

ที่มาข้อมูล : -

ที่มารูปภาพ :

แท็กบทความ

การตลาดเงินล้านแบรนด์หรูจีน
luxury shame
สินค้าฟุ่มเฟื่อย