โรงงานแห่ปิดตัวสัญญาณเตือนแข่งขันยาก

สรุปข่าว

ช่วงนี้มีข่าวการปิดตัวของกิจการและโรงงานหลายแห่งและหลายธุรกิจทั้งจากภาวะเศรษฐกิจไม่ดีนัก  กำลังซื้ออ่อนแอ  การส่งออกลดลง ทำให้โรงงานไม่มีออเดอร์เข้ามา เช่นธุรกิจร้านซีฟู้ด  ค้าปลีกในต่างจังหวัด โรงงานผลิตผ้าลูกไม้ บริษัทแลกเปลี่ยนรับซื้อรถยนต์มือสอง และล่าสุดมีข่าวการเตรียมปิดตัวของโรงงานการผลิตของซูบารุ และ ซูซูกิ ล่าสุดนั้นส้รางความสั่นสะเทือนวงการรถยนต์ไม่น้อย จากข้อมูลของ KKP Research โดย กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร  ได้วิเคราะห์ถึงสัญญาณของ“โรงงานไทยที่กำลังปิดตัวบอกอะไรเรา” ไว้อย่างน่าสนใจ  เนื่องจากในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาการเปลี่ยนแปลงที่เป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดีนักของเศรษฐกิจไทย คือการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่วัดจากดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ได้มาจากการสำรวจผู้ผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศไทย เผยแพร่โดย สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมมีการหดตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 จนถึงเดือนมีนาคม 2567 หรือต่อเนื่องกันกว่า 1 ปี 3 เดือน ซึ่งนับเป็นการโตติดลบติดต่อกันยาวนานมากที่สุดครั้งหนึ่ง แม้ว่าวัฏจักรการค้าโลกจะเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ปลายปี 2566  แล้วก็ตาม


สัญญาณถัดมาที่น่ากังวลกว่านั้น คือ ข้อมูลการปิดโรงงานในภาคอุตสาหกรรม ที่เร่งตัวขึ้นชัดเจน ตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2566 โดยค่าเฉลี่ยปิดโรงงานของไทยเคยอยู่ที่ 57 โรงงานต่อเดือนในปี 2564  เพิ่มมาเป็น 83 โรงงานต่อเดือนในปี 2565  และพุ่งสูงขึ้นถึง 159 โรงงานต่อเดือนในช่วงครึ่งหลัง ของปี 2566 เป็นต้นมา ส่งผลให้หากนับรวมตั้งแต่ต้นปี 2566 มาจนถึงไตรมาสแรกของปี 2567 มีโรงงานปิดตัวลงไปแล้วกว่า 1,700 แห่ง กระทบการจ้างงานกว่า 42,000 ตำแหน่ง เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้าถือว่าเร่งตัวสูงขึ้นมาก จากที่มีโรงงานการปิดตัวไปกว่า  1,100  แห่ง กระทบการจ้างงาน กว่า  31,000 ตำแหน่ง เท่านั้น

โรงงานแห่ปิดตัวสัญญาณเตือนแข่งขันยาก


สอดคล้องกับข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรมพบว่าช่วง 5 เดือนแรกปี 2567 มีโรงงานปิดกิจการ 488 โรงงาน และหากนับรวมตั้งแต่ปี 2564 ถึงพฤษภาคม 2567 คาดปิดตัวไปแล้วมากกว่า 3,500 โรงงาน  โดยโรงงานอุตสาหกรรมที่ปิดตัวส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง ยางและผลิตภัณฑ์ยาง อาหาร ผลิตเครื่องจักรและเครื่องกล ผลิตภัณฑ์โลหะ แปรรูปไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ เป็นต้น  ทั้งนี้โรงงานไทยนับจากนี้ยังมีแนวโน้มที่จะปิดตัวเพิ่มขึ้น

โรงงานแห่ปิดตัวสัญญาณเตือนแข่งขันยาก


สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือไม่ใช่แค่โรงงานปิดตัว  แต่โรงงานเปิดใหม่ก็ลดจำนวนลงเช่นกัน  ซึ่งการปิดตัวของโรงงานเพียงอย่างเดียวอาจไม่สะท้อนภาพทั้งหมด แต่ตัวเลขการเปิดตัวโรงงานใหม่ที่ลดลงกว่าในอดีตยังย้ำให้เห็นถึงสถานการณ์ในภาคอุตสาหกรรมไทยที่ไม่ดีนัก เพราะการเปิดโรงงานใหม่มีทิศทางที่ชะลอตัวลงเช่นกัน จึงทำให้ยอดการเปิดโรงงานสุทธิ (จำนวนโรงงานเปิดหักลบด้วยโรงงานปิด) ในภาพรวมชะลอตัวลงอย่างมากจากค่าเฉลี่ยที่เป็นบวกสุทธิประมาณ 150 โรงงานต่อเดือน ลดลงเหลือเพียง 50 โรงงานต่อเดือน


สถานการณ์เปิดและปิดตัวของโรงงานอุตสาหกรรมยังมีความแตกต่างกันอย่างมากในแต่ละกลุ่ม สอดคล้องกับการเติบโตของดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่มีความแตกต่างกันโดยอุตสาหกรรมที่มีการปิดตัวโรงงานเร่งขึ้นในช่วงที่ผ่านมาเป็นกลุ่มเดียวกันกับอุตสาหกรรมที่ดัชนีการผลิตมีการหดตัวลง   ซึ่งสะท้อนว่าการพิจารณาภาคการผลิตในภาพรวมอาจไม่สะท้อนสถานการณ์ของบางกลุ่มธุรกิจที่อยู่ในสถานการณ์ย่ำแย่กว่าค่าเฉลี่ย โดยอุตสาหกรรมที่มีทิศทางน่ากังวลเนื่องจากมีการหดตัวของการผลิตและโรงงานปิดตัวเพิ่มขึ้นมาก คือกลุ่มการผลิตเครื่องหนัง การผลิตยาง อุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมไม้ และการผลิตเครื่องจักร


ในมิติของขนาดและพื้นที่ของโรงงานการปิดตัวของโรงงานอุตสาหกรรมในช่วงที่ผ่านมาพบว่ากระจุกตัวอยู่ในกลุ่มโรงงานขนาดใหญ่เป็นหลัก ในขณะที่โรงงานเปิดใหม่ส่วนใหญ่ที่เป็นโรงงานขนาดเล็ก สะท้อนว่าปัญหาการผลิตที่ชะลอตัวลงในช่วงที่ผ่านมา ไม่ได้เกิดจากปัจจัยเฉพาะของกิจการเอง เนื่องจากโรงงานขนาดเล็กมีแนวโน้มที่จะเปราะบางกว่าโรงงานขนาดใหญ่ จากสถานะทางการเงินที่มีแนวโน้มอ่อนแอกว่าบริษัทใหญ่ การปิดตัวที่เกิดขึ้น จากโรงงานขนาดใหญ่เป็นหลักเป็นภาพสะท้อนว่าปัญหาการปิดตัวโรงงานเกิดจากปัจจัยเชิงโครงสร้างในภาพใหญ่ที่กระทบกับอุตสาหกรรมทั้งอุตสาหกรรม


ที่มาข้อมูล : -

ที่มารูปภาพ :

แท็กบทความ