TNN เลือกตั้งอินโดนีเซีย 2024: “ประชาธิปไตย” หรือ “ราชวงศ์ทางการเมือง”​?

TNN

World

เลือกตั้งอินโดนีเซีย 2024: “ประชาธิปไตย” หรือ “ราชวงศ์ทางการเมือง”​?

เลือกตั้งอินโดนีเซีย 2024: “ประชาธิปไตย” หรือ “ราชวงศ์ทางการเมือง”​?

“อินโดนีเซีย” กำลังจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้ ผู้นำคนต่อไปจะสานต่อเจตนารมณ์แห่งประชาธิปไตย หรือจะกลายเป็น “ราชวงศ์ทางการเมือง” ที่โจโกวี ปูทางเอาไว้สำหรับลูกชายกันแน่?

---เลือกตั้งอินโดฯ 14 ก.พ.นี้---


อินโดนีเซีย ประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 1 ของภูมิภาคอาเซียน และอันดับที่ 4 ของโลก กำลังจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันแห่งความรัก 14 กุมภาพันธ์นี้ ซึ่งคนกว่า 200 ล้านคนมีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง และในจำนวนนี้กว่า 100 ล้านคน เป็น young voters ทำให้ผู้สมัครเลือกตั้งทุกคนต้องเดินเกมหาเสียงผ่านแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์กันอย่างคึกคัก โดยเฉพาะ TikTok และ Instagram ที่ดึงดูดเหล่า young voters ได้เป็นอย่างดี 


นอกจากเลือกตั้งประธานาธิบดี และคู่ชิงรองประธานาธิบดีแล้ว จะยังมีการเลือกตั้งผู้แทน ทั้งระดับประเทศ จังหวัด และท้องถิ่นอีกเกือบ 20,000 ตำแหน่ง จากผู้สมัครในทุกสนาม รวมแล้วเกือบ 250,000 ชีวิต 


และนี่คือการจัดเลือกตั้งหนึ่งในเวทีที่ใหญ่ที่สุดในโลก


---ประชาธิปไตยวัยเยาว์---


อดีตที่ผ่านมา อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งสูงมาก อย่างเมื่อปี 2019 มีผู้ใช้สิทธิ์มากถึง 80% ขณะที่สหรัฐฯ มีผู้ใช้สิทธิ์เมื่อปี 2020 เพียง 66% ส่วนประเทศไทยมีผู้ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งในปี 2023 ราว 75% 


หากพูดถึงระบอบประชาธิปไตย ต้องยอมรับว่า อินโดนีเซียยังคงอยู่ในวัยเยาว์ เพราะเคยอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร “นายพลซูฮาร์โต” นานถึง 32 ปี ตั้งแต่ปี 1966-1998


เมื่อชาวอินโดนีเซียทนต่อระบอบไม่ไหว จึงผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตย โดยมี “เมกาวตี ซูการ์โนบุตรี” จากพรรค Indonesian Democratic Party of Struggle (PDIP) กวาดที่นั่งในสภาอย่างถล่มทลาย ทำให้เธอก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรก และคนเดียวในประวัติศาสตร์อินโดนีเซีย ระหว่างปี 2001-2004 และพรรค PDIP นี้เองที่ผลักดันให้ “โจโก วิโดโด” ซึ่งเคยเป็นคนนอกวงการการเมือง ได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งในเวลาต่อมา 


ช่วงแรกของการดำรงตำแหน่ง โจโก วิโดโด หรือ “โจโกวี” กลายเป็นผู้นำที่ได้รับความสนใจไปทั่วโลก เนื่องจากมีบุคลิกและหน้าตาคลับคล้าย “บารัค โอบามา” ประธานาธิบดีสหรัฐฯในสมัยนั้น 


แม้กำลังจะก้าวลงจากตำแหน่ง หลังครองเก้าอี้มานาน 10 ปี แต่โจโกวียังคงเป็นผู้นำที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในประเทศ ด้วยคะแนนนิยมสูงถึงราว 80% อีกทั้งยังเป็นผู้นำที่พยายามผลักดันให้อินโดนีเซียขึ้นยืนอยู่บนเวทีโลกได้อย่างสมบูรณ์


เลือกตั้งอินโดนีเซีย 2024: “ประชาธิปไตย” หรือ “ราชวงศ์ทางการเมือง”​?

โจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย 

ภาพ: Reuters 



---ปูทางสู่ “ราชวงศ์ทางการเมือง”?---


การชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอินโดนีเซียปีนี้ อาจดูไม่มีอะไรหวือหวา เพราะดูแล้ว “ปราโบโว ซูเบียนโต” (อายุ 72 ปี) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อดีตคู่ชิงตำแหน่งกับโจโกวีเมื่อปี 2014 พร้อมกับคู่ชิงรองประธานาธิบดี กีบราน ราคาบูมิง รากา (อายุ 36 ปี) ลูกชายของโจโกวี น่าจะนอนมา เหนือคู่แข่งอย่าง กันจาร์ ปราโนโว (อายุ 54 ปี) จากพรรค PDIP และอานีส บัสเวดัน (อายุ 53 ปี) ผู้สมัครอิสระ


แม้ดูเหมือนว่าโจโกวี ที่แม้จะเป็นผู้นำที่ทำให้อินโดนีเซียเป็นที่รู้จักมากขึ้นภายใต้การนำของเขาตลอด 10 ปี แต่ในอีกทางหนึ่ง นักวิเคราะห์มองว่า ระบอบประชาธิปไตยของอินโดนีเซียนั้น อาจกำลังถอยหลังลงคลอง 


และทำให้เกิดการตั้งคำถามว่านี่คือ “ประชาธิปไตย” หรือ “ราชวงศ์ทางการเมือง” กันแน่


เพราะ “กีบราน ราคาบูมิง รากา” วัย 36 ปี ลูกชายโจโกวี ที่ลงสมัครตำแหน่งรองประธานาธิบดี ได้รับการแผ้วถางทางจากศาลรัฐธรรมนูญ ให้สามารถสมัครได้ จากเดิมที่ผู้สมัครประธานาธิบดี และรองประธานาธิบดี จะต้องมีอายุ 40 ปี 


นั่นเพราะพี่เขยของวิโดโด เป็นหัวหน้าของศาลรัฐธรรมนูญผู้ออกคำตัดสินดังกล่าว และหากกีบรานชนะ เขาจะกลายเป็นรองประธานาธิบดีที่อายุน้อยที่สุดของประเทศ เคียงคู่กับ “ปราโบโว สุเบียนโต” นายพลกลาโหม อดีตคู่แข่งคนสำคัญของโจโกวี ที่ชัดเจนว่า โจโกวี กำลังสร้าง “อาณาจักรทางการเมือง” และยังปูทางให้ลูกชายลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2029 นี้อีกด้วย


---จับตาผู้นำอินโดนีเซียคนต่อไป---


อีกสิ่งที่น่าสนใจสำหรับการเลือกตั้งอินโดนีเซีย คือ กฎหมายการเลือกตั้งที่เข้มงวด เพราะผู้ชนะจะต้องได้คะแนนโหวตเกิน 50% และได้คะแนนอย่างน้อย 20% ในกว่าครึ่งของจังหวัดในประเทศ 


ซึ่งหากยังไม่มีใครได้ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้นี้ ก็จะต้องมีการเลือกตั้งซ่อมในเดือนมิถุนายน ที่จะเป็นสนามแข่งขันที่ดุเดือดมากขึ้น 


ผู้ที่ติดตามการเมืองในอินโดนีเซีย มองว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจกับ “เรื่องส่วนตัว” ของผู้สมัคร มากกว่าที่จะสนใจ “นโยบาย” ที่แต่ละคนชูขึ้นมา และคนที่ยังคงครองหน้าสื่อมากที่สุดสำหรับการแข่งขันปีนี้ ก็ยังคงเป็นนายพล “ซูเบียนโต” เพราะเป็นที่รู้จักในวงกว้าง อีกทั้งยังมี Deepfake ของ “พลเอกซูฮาร์โต” ผู้ล่วงลับก็ประกาศสนับสนุนเขาอีกด้วย 


การเมืองอินโดนีเซียปีนี้จึงน่าจับตาไม่น้อย เพราะ 10 ปีที่โจโกวีอยู่ในอำนาจ อินโดนีเซียถูกมองว่าเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพ รุ่งเรือง อีกทั้งก่อนหมดวาระของโจโกวี เขายังเดินหน้าสร้างตัวตนของอินโดนีเซียบนเวทีโลกในหลายเวที เช่น ความพยายามเสนอตัวเป็นตัวกลางเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียและยูเครน ด้วยการเยือนทั้งสองประเทศ และเชื้อเชิญยูเครนให้เข้าร่วมประชุม G20 ที่เกาะบาหลี


จึงน่าสนใจว่า ผู้นำคนต่อไปของประเทศที่ใหญ่สุดในภูมิภาคอาเซียนแห่งนี้ จะสานต่อเจตนารมณ์แห่งประชาธิปไตย หรือท้ายที่สุดแล้ว จะกลายเป็น “ราชวงศ์ทางการเมือง” ที่โจโกวี ปูทางเอาไว้สำหรับลูกชายกันแน่?

—————

แปล-เรียบเรียง: ภัทร จินตนะกุล

ภาพ: Reuters


ข้อมูลอ้างอิง:

1, 2


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง