TNN online หุ่นยนต์แบบใหม่ที่สามารถกลิ้งหรือบินก็ได้ด้วยตัวเอง ในรูปทรงลูกบอลแฮมสเตอร์

TNN ONLINE

Tech

หุ่นยนต์แบบใหม่ที่สามารถกลิ้งหรือบินก็ได้ด้วยตัวเอง ในรูปทรงลูกบอลแฮมสเตอร์

หุ่นยนต์แบบใหม่ที่สามารถกลิ้งหรือบินก็ได้ด้วยตัวเอง ในรูปทรงลูกบอลแฮมสเตอร์

นักศึกษาบัณฑิตในสหรัฐอเมริกา สร้างหุ่นยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยการกลิ้งคล้ายกับลูกบอลออกกำลังกายของแฮมสเตอร์ และยังสามารถบินได้ภายใต้การตัดสินใจด้วยตัวเอง

หุ่นยนต์มีลักษณะการเคลื่อนที่หลายแบบ เช่น แบบสายพานตีนตะพาบ แบบล้อหมุน หรือแบบขาที่คล้ายกับมนุษย์ แต่ว่าทีมบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยแอริโซน่า (University of Arizona) จากสหรัฐอเมริกา ได้พัฒนาหุ่นยนต์ที่เคลื่อนที่ได้อย่างอิสระในทุกทิศทางด้วยการกลิ้ง และสามารถบินข้ามสิ่งกีดขวางได้โดยคิดได้ด้วยตัวเอง


หุ่นยนต์ลูกบอลแฮมสเตอร์

หุ่นยนต์ตัวดังกล่าวมีชื่อว่า ไฮบริด โมบิลิตี้ โรบอต (Hybrid Mobility Robot: HMR) มีความสามารถในการเคลื่อนที่แบบผสมผสาน ทั้งการกลิ้งคล้ายลูกบอลออกกำลังกายของแฮมสเตอร์ (Hamster ball) ไปในทิศทางต่าง ๆ ด้วยมอเตอร์ที่ขับเคลื่อนโครงเหล็กทรงกลมพร้อมระบบทรงตัวหรือไจโรสโคป (Gyroscope) 4 แกน (ซ้าย-ขวา, ขึ้น-ลง)


นอกจากการเคลื่อนที่ด้วยการกลิ้งแล้ว HMR ยังรองรับการบินโดยใช้ใบพัดขนาดเล็กจำนวน 4 ใบพัด (Quadcopter) เพื่อข้ามสิ่งกีดขวางได้ และใบพัดยังสามารถทำหน้าที่ช่วยหุ่นยนต์ HMR ไต่ทางชันได้ด้วยเช่นกัน แต่ต้องแลกกับการใช้แบตเตอรี่มากกว่าแบบกลิ้ง 5 เท่า ในตอนนี้


แต่สิ่งที่ทำให้ HMR พิเศษกว่าหุ่นยนต์ทั่วไป คือระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ ไม่ว่าจะกลิ้งหรือทำการบิน ตัวหุ่นยนต์สามารถตัดสินใจได้เองทั้งหมด ผู้ใช้เพียงกำหนดจุดหมายหรือหน้าที่ HMR จะทำการตัดสินใจว่าต้องขึ้นบินเพื่อข้ามสิ่งกีดขวาง หรือใช้การกลิ้งหรือใช้ใบพัดยกตัวหุ่นยนต์เองก็ได้


ศักยภาพของหุ่นยนต์ลูกบอลแฮมสเตอร์

ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดคือการกู้ภัยที่สามารถใช้ HMR ไปค้นหาผู้ประสบภัยหรือดูสภาพสถานที่แทนเจ้าหน้าที่ได้ รองรับใช้สำรวจเหมืองที่ส่วนใหญ่เป็นทางขรุขระได้ หรือจะเอาไปใช้ในด้านการทหารอย่างการกู้ระเบิดหรือเป็นหุ่นยนต์สอดแนมก็ได้เหมือนกัน


อย่างไรก็ตาม หุ่นยนต์ HMR ยังเป็นเพียงตัวทดสอบเท่านั้น แต่ผู้พัฒนาได้จัดตั้งบริษัท รีโวลูต โรบอติกส์ (Revolute Robotics) เพื่อพัฒนาหุ่นยนต์ HMR ไปสู่การผลิตจริง โดยคาดว่าลูกค้ากลุ่มแรกในอนาคตคือกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้หุ่นยนต์สำรวจภายในท่อส่ง เช่น ท่อส่งก๊าซธรรมชาติ และศักยภาพของ HMR ทำให้ได้รับการระดมทุนกว่า 115,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 4 ล้านบาท ไปแล้วในตอนนี้



ที่มาข้อมูล New Atlas

ที่มารูปภาพ Revolute Robotics

ข่าวที่เกี่ยวข้อง