TNN online ทีมวิจัยจับมือ NASA ใช้ระบบกล้องดาวเทียม ตรวจจับมลพิษทางทะเลและปะการังฟอกขาว

TNN ONLINE

Tech

ทีมวิจัยจับมือ NASA ใช้ระบบกล้องดาวเทียม ตรวจจับมลพิษทางทะเลและปะการังฟอกขาว

ทีมวิจัยจับมือ NASA ใช้ระบบกล้องดาวเทียม ตรวจจับมลพิษทางทะเลและปะการังฟอกขาว

ทีมวิจัยจากสหรัฐฯ ร่วมมือกับ NASA ใช้ระบบรีโมตเซนซิง และกล้องดาวเทียม ตรวจจับมลพิษทางทะเลและปะการังฟอกขาวในเบลีซ

ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยลอสแอนเจลิส จากรัฐแคลิฟอร์เนีย และมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแอละแบมา ประเทศสหรัฐอเมริกา ใช้เทคโนโลยีการตรวจวัดพื้นที่จากระยะไกล (Remote Sensing) ด้วยกล้องจากดาวเทียมของนาซาเพื่อช่วยตรวจจับปะการังฟอกขาว ทำให้ดูแลปะการังได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น


สำหรับปะการังในทะเลโดยทั่วไปมักจะต้องการน้ำใสและอุณหภูมิที่สม่ำเสมอในการเจริญเติบโต แต่หากน้ำขุ่นหรืออุณหภูมิสูงขึ้นจนส่งผลทำให้สาหร่ายชีวภาพที่เป็นอาหารแก่ปะการังตายหรือหายไป ปะการังจะสูญเสียสีเป็นสีขาว ซึ่งปรากฏการณ์นี้ถูกเรียกว่า ปะการังฟอกขาว


ด้วยเหตุนี้นักวิจัยจึงได้นำระบบโมดิส (MODIS) คือ เครื่องมือสร้างภาพค่าสเปกตรัมแสงมาตรฐาน (Moderate Resolution Imaging Spectroradiometer - MODIS) ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นที่ศูนย์การบินอวกาศก็อดดาร์ด (Goddard) ของนาซา (NASA) ในเมืองกรีนเบลต์ รัฐแมริแลนด์ เชื่อมต่อข้อมูลดาวเทียมอะควา (Aqua)


จากนั้นทีมก็จะนำเอาภาพแนวปะการังยาว 298 กิโลเมตรของเบลีซ ที่บันทึกด้วยกล้องของดาวเทียมอะควา ตั้งแต่ปี 2002 ถึงปี 2022 มาวิเคราะห์หาค่าตัวแปรต่าง ๆ เช่น อุณหภูมิผิวน้ำ และค่าความใส เริ่มจากการตรวจสอบอุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลในเขตคุ้มครองแต่ละแห่ง และให้คะแนนแต่ละเขตจากเลข 1 ถึง 6 โดยพิจารณาจากค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานที่น้อยลงหรือสูงขึ้น ทั้งยังมีการให้คะแนนค่าความใสของน้ำ จากนั้นจึงนำคะแนนมารวมเพื่อกำหนดดัชนีค่าความเสี่ยงการสูญเสียปะการังตั้งแต่ 2 ถึง 12 ซึ่งตัวเลขที่สูงขึ้นหมายถึงความเสี่ยงการสูญเสียปะการังที่เพิ่มมากขึ้น


ทีมวิจัยจับมือ NASA ใช้ระบบกล้องดาวเทียม ตรวจจับมลพิษทางทะเลและปะการังฟอกขาว


ท่ีมาของรูปภาพ NASA 


การวิเคราะห์ภาพจากระบบโมดิสทำให้นักวิจัยสร้างดัชนีชี้วัดความเปราะบางของสภาพแวดล้อมทางทะเลในเขตอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของเบลีซขึ้นมาได้ รวมถึงยังระบุได้ว่าเขตอนุรักษ์ทางทะเลพอร์ตฮอนดูรัส พื้นที่คุ้มครองขนาด 404 ตารางกิโลเมตร ทางตอนใต้ของเบลีซ มีสภาพความเปราะบางทางสิ่งแวดล้อม และความเสี่ยงการเกิดปะการังฟอกขาวสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ใกล้เคียง


ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ก็จะช่วยให้หน่วยงานบริหารของเบลีซสามารถวางแผนการซ่อมแซมและปกป้องแนวปะการังในพื้นที่จากผลกระทบของน้ำมือมนุษย์ เช่น การพัฒนาพื้นที่, การประมงเกินขนาด, มลพิษ และสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงได้ รวมถึงวางแผนการอนุรักษ์พื้นที่ใกล้เคียงได้ด้วย


ทีมวิจัยเสริมว่า ดัชนีความเปราะบางเหล่านี้ยังสามารถนำไปใช้กับระบบแนวปะการังอื่น ๆ ทั่วโลกได้ อีกทั้งยังสามารถเพิ่มตัวแปรอื่น ๆ ที่คุกคามสุขภาพของปะการัง เช่น ความเป็นกรดของน้ำทะเลจากคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงนั่นเอง


ที่มาของข้อมูลและรูปภาพ NASA


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง