สงกรานต์ 2567 เปิด 5 จังหวัดปลายทางยอดนิยม คาดปีนี้เงินสะพัดกว่า 4.7 หมื่นล้าน
สงกรานต์ 2567 สนค. เปิดเผยผลสำรวจ 5 จังหวัดปลายทางยอดนิยม คาดปีนี้เงินสะพัดกว่า 4.7 หมื่นล้านบาท สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านอาหารสูงที่สุด
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเดือนมีนาคม 2567 จำนวน 4,728 ตัวอย่าง ครอบคลุมประชาชนทุกอำเภอทั่วประเทศ เกี่ยวกับพฤติกรรมการเดินทางและการจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ในปีนี้ พบว่า ประชาชนมีแผนการเดินทางในช่วงวันหยุดสงกรานต์ในปีนี้เพิ่มขึ้นจากการสำรวจเมื่อปี 2565 อย่างชัดเจน
จังหวัดปลายทางยอดนิยมคือ ชลบุรี เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองหลักที่จะเตรียมจัดงาน “Maha Songkran World Water Festival 2024 เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567” นอกจากนั้น การจับจ่ายใช้สอยในส่วนของกลุ่มกำลังซื้อสูงเพิ่มขึ้นจากปี 2565 เล็กน้อย และมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านอาหารสูงที่สุด
ทั้งนี้ สนค. คาดการณ์ยอดค่าใช้จ่ายเดินทางท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2567 จะมีไม่ต่ำกว่า 4.7 หมื่นล้านบาท
สำหรับรายละเอียดผลการสำรวจ ดังนี้
ประชาชนที่มีแผนเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์ มีสัดส่วนร้อยละ 25.81 ของจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด แบ่งเป็นการเดินทางไปต่างจังหวัด ร้อยละ 23.49 ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนจากการสำรวจเมื่อปี 2565 ที่มีร้อยละ 10.68
สำหรับจังหวัดปลายทาง 5 อันดับแรก ใกล้เคียงกับผลสำรวจปี 2565 คือ
1. ชลบุรี
2. เชียงใหม่
3. กรุงเทพฯ
4. ขอนแก่น
5. ภูเก็ต
ส่วนการเดินทางไปต่างประเทศ มีเพียงร้อยละ 2.32
สำหรับผู้ที่ไม่มีแผนเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ในภาพรวมให้เหตุผล 3 อันดับแรก คือ
1.ประหยัดค่าใช้จ่าย (ร้อยละ 47.55)
2. ไม่ชอบเดินทาง (ร้อยละ 26.46)
3. ดูแลครอบครัว (ร้อยละ 19.10)
ยานพาหนะที่นิยมใช้เดินทางไปต่างจังหวัด 3 อันดับแรก คือ
1. รถส่วนตัว (ร้อยละ 76.03) ซึ่งได้รับความนิยมสูงในทุกระดับรายได้
2.รถทัวร์ (ร้อยละ 7.62) ซึ่งจะนิยมใช้ในกลุ่มที่มีรายได้ระหว่าง 10,001 – 30,000 บาท/เดือน
3. เครื่องบิน (ร้อยละ 5.52) ซึ่งจะนิยมใช้ในกลุ่มที่มีรายได้มากกว่า 30,000 บาท/เดือน
วงเงินที่คาดว่าจะใช้จ่ายตลอดการเดินทางไปต่างจังหวัดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ในภาพรวมประชาชนที่มีแผนเดินทางคาดว่าจะใช้จ่าย
1. ระหว่าง 2,000 – 5,000 บาท/คน (ร้อยละ 36.17)
2. ระหว่าง 5,001 – 10,000 บาท/คน (ร้อยละ 33.17)
3. ระหว่าง 10,001 – 20,000 บาท/คน (ร้อยละ 15.93)
4. มากกว่า 20,000 บาท (ร้อยละ 6.51)
สำหรับการพิจารณาตามระดับรายได้ พบว่า
1. กลุ่มผู้มีรายได้ไม่เกิน 10,000 บาท/เดือน สัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 47.47) คาดว่าจะใช้จ่ายระหว่าง 2,000 – 5,000 บาท/คน รองลงมาคือระหว่าง 5,001 – 10,000 บาท (ร้อยละ 25.35)
2. กลุ่มผู้มีรายได้ระหว่าง 10,001 – 30,000 บาท/เดือน คาดว่าจะใช้จ่ายระหว่าง 5,001 – 10,000 บาท (ร้อยละ 37.54) รองลงมาคือระหว่าง 2,000 – 5,000 บาท/คน (ร้อยละ 36.68)
3. กลุ่มผู้มีรายได้ระหว่าง 30,001 – 50,000 บาท/เดือน คาดว่าจะใช้จ่าย 5,001 – 10,000 บาท/คน (ร้อยละ 30.43) รองลงมาคือระหว่าง 10,001 – 20,000 บาท/คน (ร้อยละ 26.81)
4. กลุ่มผู้มีรายได้ระหว่าง 50,000 บาท/เดือน คาดว่าจะใช้จ่าย 10,001 – 20,000 บาท/คน (ร้อยละ 23.91) รองลงมาคือระหว่าง 5,001 – 10,000 บาท/คน (ร้อยละ 17.39)
เป็นที่น่าสังเกตว่า ระดับการใช้จ่ายที่สูงกว่า 10,000 บาท (ร้อยละ 22.44) มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากการสำรวจเมื่อปี 2565 (ร้อยละ 20.11) สะท้อนว่า การจับจ่ายใช้สอยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดย สนค. คาดการณ์จากผลสำรวจว่า ยอดค่าใช้จ่ายเดินทางท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์จะมีไม่ต่ำกว่า 4.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้มีแนวโน้มคึกคักมากขึ้น
ประเภทค่าใช้จ่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 3 อันดับแรก คือ
1. ค่าอาหาร (ร้อยละ 37.69) ส่วนหนึ่งคาดว่าเป็นผลจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลอง และระดับราคาที่ปรับลดลงเมื่อเทียบกับปี 2566 สะท้อนจากดัชนีราคากลุ่มอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ในตะกร้าสินค้าที่ใช้คำนวณอัตราเงินเฟ้อ ที่ปรับลดลง ต่อเนื่องตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 (เมื่อเทียบเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ธ.ค. 66 ลดลงร้อยละ 0.63 ม.ค. 67 ลดลงร้อยละ 1.06 และ ก.พ. 67 ลดลงร้อยละ 0.97) ตามด้วย
2. ค่าเดินทาง (ร้อยละ 31.16) ซึ่งปรับลดลงจากการสำรวจเมื่อปี 2565 (ร้อยละ 41.96) ค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งคาดว่าในปี 2565 เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจโลกและไทยเกิดความกังวลต่อประเด็นความมั่นคงทางพลังงาน โดยราคาน้ำมันดิบดูไบ และดัชนีราคาผู้บริโภคของไทยกลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิง ในเดือนมีนาคม 2565 ที่ดำเนินการสำรวจครั้งก่อน อยู่ในระดับค่อนข้างสูงกว่าเดือนเดียวกันของปี 2567
3. ของฝาก (ร้อยละ 13.97) ปรับลดลงจากการสำรวจเมื่อปี 2565 (ร้อยละ 16.31)
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า สัดส่วนค่าใช้จ่ายศาสนกิจ (ร้อยละ 0.90) ลดลงค่อนข้างมากจากการสำรวจในป2565 (ร้อยละ 3.26)
นายพูนพงษ์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า เทศกาลสงกรานต์เป็นช่วงเวลาที่คนไทยนิยมเดินทางไปต่างจังหวัด ทั้งเพื่อกลับไปเยี่ยมครอบครัว และเพื่อการท่องเที่ยวพักผ่อน สำหรับปีนี้คาดว่าจะคึกคักเป็นพิเศษ โดยเฉพาะจังหวัดชลบุรี เชียงใหม่ กรุงเทพฯ ขอนแก่น และภูเก็ต ซึ่งเป็นเมืองที่ได้รับความนิยมทุกปี ประกอบกับรัฐบาลโดยความร่วมมือกับทุกภาคส่วนจะจัดงาน “Maha Songkran World Water Festival 2024 เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567” อย่างยิ่งใหญ่ทั่วประเทศยาวต่อเนื่องถึง 21 วัน (วันที่ 1 – 21 เม.ย. 67)
นอกจากนี้ เทศกาลสงกรานต์ยังได้รับการประกาศจากยูเนสโก (UNESCO) เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 ให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ซึ่งเชื่อว่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติได้อย่างหนาแน่น โดยจะเป็นโอกาสของผู้ประกอบการและผู้ที่ต้องการหารายได้เสริม ในการจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม อุปกรณ์เล่นน้ำ ของฝาก และของที่ระลึกในสถานที่จัดงาน สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง และริมเส้นทางถนนไปจังหวัดต่าง ๆ
ทั้งนี้ คาดว่าจะเกิดการจับจ่ายใช้สอยและสร้างรายได้จำนวนมหาศาล ในส่วนของการจราจรทางถนนที่คาดว่าจะหนาแน่นมาก ภาครัฐได้บูรณาการกับทุกภาคส่วนเพื่อป้องกันและแก้ไขอุบัติเหตุทางถนน โดยการจัดตั้งจุดตรวจ จุดอำนวยความสะดวก และจุดบริการ เพื่อให้ประชาชนเดินทางอย่างปลอดภัย สำหรับกระทรวงพาณิชย์ ได้ดำเนินการตรวจมาตรวัดน้ำมันเชื้อเพลิงที่สถานีบริการน้ำมันในจังหวัดต่าง ๆ แล้ว และจะตรวจสอบและติดตามสถานการณ์จำหน่ายสินค้าในช่วงเทศกาลสงกรานต์อย่างใกล้ชิด ทั้งในสถานีขนส่ง สถานีรถไฟ สนามบิน รวมไปถึงสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะมีประชาชนใช้บริการเป็นจำนวนมาก เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทางการค้าในทุกภาคส่วน ทั้งผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และเพื่อให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยได้อย่างมั่นใจตลอดช่วงเทศกาลมงคลของปีนี้
ข้อมูลจาก สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)
ภาพจาก TNN ONLINE
ข่าวแนะนำ