TNN กรมอุตุฯ ชี้แจงไทยเจออากาศร้อนลากยาวถึงเดือนกันยายน จริงหรือ?

TNN

Earth

กรมอุตุฯ ชี้แจงไทยเจออากาศร้อนลากยาวถึงเดือนกันยายน จริงหรือ?

 กรมอุตุฯ ชี้แจงไทยเจออากาศร้อนลากยาวถึงเดือนกันยายน จริงหรือ?

กรมอุตุฯ ชี้แจงประเทศไทยเจอสภาพอากาศร้อน ลากยาวจนถึงเดือนกันยายน จริงหรือไม่?

จากกรณีมีการเผยแพร่ข้อมูลในโลกออนไลน์ระบุว่า ‘วิกฤตโลกอากาศสุดขั้วไทยร้อนต่อถึง เดือนกันยายน’ กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกมาชี้แจ้ง โดยระบุว่า ฤดูร้อนของประเทศไทย โดยปกติจะเริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงกลางเดือนพฤษภาคม ของทุกปี รวมระยะเวลาราว 2 เดือนครึ่ง โดยในช่วงนี้เป็นช่วงที่โลกเคลื่อนที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ และดวงอาทิตย์จะทำมุมตั้งฉากกับเขตโซนร้อนพอดี (เนื่องจากประเทศเราอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรมาก) 


ในเดือนเมษายน บริเวณประเทศไทย ดวงอาทิตย์จะอยู่เกือบตรงศีรษะในเวลาเที่ยงวัน ทำให้ได้รับรังสีจากดวงอาทิตย์เต็มที่ ในช่วงฤดูร้อน ทิศทางลมมีความแปรปรวน บางวันลมมีกำลังอ่อน ประกอบกับมักมีหย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมอยู่เป็นประจำ จึงทำให้อากาศค่อนข้างร้อนอบอ้าว มีอากาศร้อนถึงร้อนจัด อุณหภูมิบางวันสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส 


เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งเริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงประมาณกลางเดือนตุลาคม ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นลมที่มีความชื้นพัดปกคลุมประเทศไทย ลมนี้ยังช่วยระบายอากาศร้อน และทำให้มีฝนตกเพิ่มขึ้นโดยทั่วไป ซึ่งจะทำให้อุณหภูมิของอากาศคลายความร้อนลงได้


ดังนั้นเดือนกันยายน ซึ่งเป็นช่วงปลายของฤดูฝน โดยปกติจะมีฝนตกชุกเกือบทุกภาคของประเทศไทย อุณหภูมิเฉลี่ยของอากาศจะไม่สูงนัก เนื่องจากมีฝนตก  ความชื้นสูง มรสุมมีกำลังแรง สถานการณ์ความร้อนจะคลื่คลายลง จึงไม่เกิดวิกฤตโลกอากาศสุดขั้วไทยร้อนถึงกันยายน หากมีสภาพอากาศที่คาดว่าจะมีความรุนแรงและมีผลกระทบ กรมอุตุนิยมวิทยา 

จะออกประกาศให้ทราบทันที และขอให้ติดตามข่าวพยากรณ์อากาศเป็นระยะ ๆ 


ทั้งนี้ด้านกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศการคาดหมายลักษณะอากาศช่วงฤดูฝนของประเทศไทย ว่า ฤดูฝนของประเทศไทยปีนี้ จะเริ่มประมาณสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งจะช้ากว่าปกติ 1-2 สัปดาห์และจะสิ้นสุดประมาณปลายเดือนตุลาคม ส่วนปริมาณฝนโดยรวมของทั้งประเทศในช่วงฤดูฝนปีนี้จะใกล้เคียงค่าเฉลี่ยปกติและใกล้เคียงกับปีที่แล้ว  โดยในช่วงครึ่งแรกของฤดูฝน ตั้งแต่วันเริ่มต้นถึงเดือนกรกฎาคม  ปริมาณฝนโดยรวมส่วนใหญ่จะใกล้เคียงค่าเฉลี่ยปกติ ส่วนในช่วงครึ่งหลังของฤดูฝน หรือตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงปลายเดือนตุลาคม  ปริมาณฝนโดยรวมส่วนใหญ่จะมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติประมาณร้อยละ 5


สำหรับในช่วงประมาณกลางเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม ปริมาณและการกระจายของฝนจะมีน้อย และส่งผลให้เกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง ซึ่งจะทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำในด้านการเกษตรในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน ประชาชนจึงควรใช้น้ำเพื่อประโยชน์สูงสุด  ส่วนในช่วงเดือนสิงหาคม กันยายนและตุลาคม เป็นช่วงที่มีฝนตกชุกหนาแน่นที่สุด และมีโอกาสสูงที่จะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านบริเวณประเทศไทย ซึ่งส่งผลให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ และก่อให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งน้ำล้นตลิ่งได้ในหลายพื้นที่


ขณะที่ พายุหมุนเขตร้อนในช่วงฤดูฝนปีนี้ คาดว่า จะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย 1 - 2 ลูก โดยมีโอกาสสูงที่จะเคลื่อนผ่านบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและ ภาคเหนือในช่วงเดือนสิงหาคมหรือกันยายน


ข้อมูลจาก: กรมอุตุนิยมวิทยา 

ภาพจากAFP 


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง