“ปารีส 1924” ฝรั่งเศส “ฟื้นภาพลักษณ์ทางกีฬา” ด้วยการเป็นเจ้าภาพ “โอลิมปิก” อีกครั้ง

“ปารีส 1924” ฝรั่งเศส “ฟื้นภาพลักษณ์ทางกีฬา” ด้วยการเป็นเจ้าภาพ “โอลิมปิก” อีกครั้ง

สรุปข่าว

ฝรั่งเศสในช่วงต้นคริสต์ศวรรษที่ 20 แม้ว่าจะมีความโดดเด่นทางด้านศิลปวิทยาการ ความสุนทรีย์ สินค้าระดับแบรนด์เนม การต่างประเทศ หรือแม้กระทั่งการเป็นเจ้าภาพเวิลด์แฟร์ (World’s fair) แต่ในเรื่องกีฬา โดยเฉพาะการเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬา นั้น ถือได้ว่ายังห่างไกลจากมาตรฐานระดับสูงพอสมควร


ฝรั่งเศสมีประสบการณ์ที่เลวร้ายอย่างมาก จากการจัดโอลิมปิก 1900 ที่สะท้อนความไม่พร้อมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการต้องจัดร่วมกับเวิลด์แฟร์เพื่อควบคุมงบประมาณ สนามแข่งขันที่พื้นไม่ราบเรียบและเปียกแฉะ ระเบียบตารางเวลาที่ทำนักกีฬาสับสน และการประชาสัมพันธ์ที่ทำให้สื่อมวลชนเข้าใจผิดว่าไม่ใช่โอลิมปิก จนได้รับเสียงวิพากษ์อย่างมากมาย


จนในที่สุด ฝรั่งเศสก็ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกอีกครั้งในชื่อ “ปารีส 1924” และเมื่อพิจารณารายละเอียดเหมือนกับว่าครั้งนี้เป็นการ “แก้ตัว” เพื่อปรับภาพลักษณ์ทางกีฬาของฝรั่งเศสอีกครั้ง


ครั้งนี้ขอแก้ตัว


ปิแอร์ เดอ คูแบร์แต็ง (Pierre de Coubertin) ยังคงเสียหน้าไม่หายภายหลังจากการเป็นโต้โผใหญ่ในการจัดงานโอลิมปิก 1900 แต่ได้รับคำวิจารณ์ทางลบอย่างหนาหูอย่างน้อย 3 เรื่องใหญ่ ๆ นั่นคือ


ประการแรก การประชาสัมพันธ์เข้าขั้นเลวร้าย เพราะผู้คนไม่ทราบว่ามีการแข่งขันโอลิมปิกเกิดขึ้น คิดเพียงเป็นหนึ่งใน “Showcase” หนึ่งของเวิลด์แฟร์เท่านั้น เรื่องนี้สร้างความงุนงงให้หลายฝ่าย นักกีฬาก็ไม่ทราบตารางการแข่งขันแน่ชัดว่าจะต้องไปยังสถานที่ใด ไม่เว้นแม้แต่นักข่าวที่ก็ไม่เข้าใจว่างานนี้คือโอลิมปิก และนำไปพาดหัวข่าวว่า “International Contests of Physical Exercise and Sport” มากกว่าที่จะเขียนว่าโอลิมปิก


ประการต่อมา เรื่องของสนามแข่งขันที่ก็ไม่ได้พร้อมสำหรับการแข่งขัน เพราะมีการใช้งานร่วมกับเวิลด์แฟร์ บางทีสิ่งของที่ใช้ออกร้านหรือตั้งโชว์ ก็ได้ไปทำลายสนามหญ้าและทำให้พื้นเปียกแฉะ เวลานักกีฬาลงแข่งขันทำให้เสี่ยงต่อการบาดเจ็บและผิดพลาดได้ง่าย หรือการแข่งขันว่ายน้ำในแม่น้ำแซน นักกีฬาต้องมานั่งวัดดวงว่ากระแสน้ำจะเชี่ยวกรากขนาดไหน หรือจะพบกับสิ่งปฏิกูลที่มาจากงานเวิลด์แฟร์หรือไม่


ประการสุดท้าย คือความแปลกของการมอบรางวัล เพราะปกติจะมอบเป็น “เหรียญรางวัล” ทอง เงิน ทองแดง แต่กับโอลิมปิก 1900 นี้ จะเป็นการมอบ “ถ้วยรางวัล” ที่ประทานโดยคูแบร์แต็งด้วยตนเอง จึงเกิดเป็นคำถามตามมาว่า ตกลงแล้วเป็นงานโอลิมปิกเกมส์หรือ “คูแบร์แต็งเกมส์” กันแน่


หลังจากนั้นไม่นาน เมื่อเขาขึ้นเป็นประธานกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ IOC จึงหมายมั่นปั้นมืออย่างมาก ว่าจะทำการล้างอายให้ฝรั่งเศสให้จงได้ และอีกนัยหนึ่ง คือต้องการที่จะไปให้เหนือกว่าโอลิมปิกที่ผ่าน ๆ มา อย่าง ลอนดอน 1908 หรือแอนท์เวิร์ป 1920 ที่สร้างความนิยมให้แบรนด์โอลิมปิกเพิ่มมากขึ้น


อีกทั้งเขาจะหมดวาระในการเป็นประธาน IOC ในปี 1905 เขาจึงทำทุกวิถีทางเพื่อให้ปารีสได้กลับมาเป็นเจ้าภาพ โดยเขาทำการ Lobby คณะกรรมการสรรหาเจ้าภาพโดยให้เหตุผลว่า ฝรั่งเศสนั้นมีความพร้อมในการจัดมหกรรมนี้มากที่สุด เพราะเคยจัดมาก่อนแคนดิเดทที่เหลือ นั่นคือ เนเธอร์แลนด์ (อัมสเตอร์ดัม) สเปน (บาร์เซโลนา) สหรัฐอเมริกา (ลอสแองเจลิส) สาธารณรัฐเช็ก (ปราก) และอิตาลี (โรม)


อีกทั้ง เขาได้ไปทำการดีลลับกับเนเธอร์แลนด์ โดยสัญญาว่า จะให้โอกาสในการเป็นเจ้าภาพในครั้งถัดไป (โอลิมปิก 1928) หากลงคะแนนเสียงให้ฝรั่งเศส ทำให้คูแบร์แต็งมีพันธมิตร มากกว่าแคนดิเดทอื่น ๆ ที่ห้ำหั่นกันเอง


และในที่สุด คูแบร์แต็งก็ได้สมใจอยาก และหลังจากนั้น เขาก็ได้ทำการฟื้นภาพลักษณ์ทางกีฬาให้แก่ฝรั่งเศสมากยิ่งขึ้น


สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ 


สิ่งที่คูแบร์แต็งหมายมั่นปั้นมือที่จะกระทำ นั่นคือ ความพยายามในการ “สร้างแบรนด์แบบใหม่หมด” เพื่อให้โอลิมปิกนั้นได้รับ “การรับรู้” ที่แตกต่างจากที่ผ่าน ๆ มา แรกเริ่มคือการคิด Motto แบบใหม่ที่ว่า Citius, Altius, Fortius” หมายถึง “เร็วกว่า ไปไกลกว่า และแข็งแรงกว่า” ซึ่งคูแบร์แต็งเสนอว่า


“สามศัพท์นี้ฉายให้เห็นจริยศาสตร์อันงดงามของโอลิมปิก สุนทรียศาสตร์นี้เป็นสิ่งซึ่งขึ้นหิ้งทีเดียว”


จริง ๆ ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ คูแบร์แต็งคิด Motto นี้ออกตั้งแต่ช่วงเข้ารับตำแหน่งประธาน IOC แล้ว แต่ที่เลือกเปิดตัว Motto นี้ ในโอลิมปิก 1924 ก็เป็นที่ประจักษ์ว่า เขาต้องการ “หาซีน” ให้บ้านเกิดของตน


เท่านั้นยังไม่พอ เขายังให้การรับรอง “ไอร์แลนด์” สามารถเข้าแข่งขันโอลิมปิกในฐานะรัฐอิสระ ไม่ต้องมาในนามสหราชอาณาจักร ได้เป็นครั้งแรก แม้จะแยกออกมานานแล้วก็ตาม เรื่องนี้ ถือได้ว่าสร้างความเชื่อมั่นแก่ปณิธานของโอลิมปิกที่ว่า “กีฬาคือกีฬา การเมืองคือการเมือง” แม้อังกฤษจะไม่พอใจ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้


และที่สำคัญที่สุด คือการสร้าง “หมู่บ้านนักกีฬา” ขึ้นเป็นครั้งแรกในโอลิมปิก เพราะก่อนหน้านั้น นักกีฬาที่เข้าแข่งขันต้องจัดหาที่พักด้วยตนเอง เพราะคณะกรรมการโอลิมปิกสากลถือคติว่า “กีฬาคือกีฬา” ไม่มีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง นักกีฬาที่มาแข่งขันต้องมาด้วยใจ ไม่หวังผลทางกำไรใด ๆ หวังเพียงเหรียญรางวัลกลับบ้านเท่านั้น


เขาออกบัญญัติ General Technical Rules ที่มีใจความสำคัญว่า “ประเทศเจ้าภาพโอลิมปิกจะต้องจัดหาที่พัก เครื่องนอน และอาหาร รวมไปถึงเงินสนับสนุนการครองชีพตลอดระยะเวลาที่นักกีฬาผู้นั้นอยู่ในการแข่งขันโอลิมปิก” นั่นจึงทำให้เกิดการสร้างหมู่บ้านนักกีฬาขึ้นมาแบบเป็นกิจจะลักษณะ โดยคูแบร์แต็งได้ดำริให้สร้างเป็นอาคารที่ทำด้วยไม้รอบ ๆ สนามแข่งขัน และจัดให้มี Gadgats ต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวก อาทิ ร้านอาหาร ยิมขนาดย่อม หรือไดร์เป่าผม


และเมื่อรูดม่านปิดฉากโอลิมปิก ปารีสก็ประสบความสำเร็จในการกู้ชื่อเสียงกลับมาอีกครั้ง เป็นที่กล่าวขานของผู้เข้าร่วม ทั้งยังเป็นมาตรฐานให้แก่การเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกในยุคต่อ ๆ มา จนถึงปัจจุบัน


World-in-depth by วิศรุต หล่าสกุล [เฮย์เดน วิศว์]


แหล่งอ้างอิง


ที่มาข้อมูล : ทำข่าว

ที่มารูปภาพ : -

แท็กบทความ