เหตุใด "การลอบสังหาร" นักการเมืองจึงเยอะขึ้น หรือเพราะประชาธิปไตย “ถดถอย” | World-in-depth by วิศรุต หล่าสกุล
สรุปข่าว
นับเป็นเรื่องที่น่าตกใจจากการที่ “โดนัลด์ ทรัมป์” ผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา 2024 ถูกลอบสังหารด้วยอาวุธปืนในการหาเสียงที่รัฐเพนซิลเวเนีย โชคยังดีที่ได้รับบาดเจ็บที่ใบหูเพียงเท่านั้น
เป็นที่น่าสังเกตว่า ในช่วงหลังมานี้ มีการลอบสังหารนักการเมืองเยอะและถี่มากยิ่งขึ้น ก่อนหน้านั้นก็มีความพยายามในการลอบสังหาร โรเบิร์ต ฟิโก นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสโลวัก ถึงขั้นอยู่ในอาการโคมา แต่ที่สร้างความตกตะลึง นั่นคือ การลอบสังหาร ชินโซะ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ที่ตายคาที่เลยทีเดียว
เหยื่อทั้งหมดนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นผู้นำที่ได้รับการเลือกตั้งในกระบวนการ “ประชาธิปไตย” มาทั้งสิ้น แน่นอน หากไม่พอใจผู้นำ เพราะเขาไม่ทำตามสัญญา บริหารประเทศไม่มีประสิทธิภาพ ประชาธิปไตยก็เปิดโอกาสให้วาระใหม่ อีก 4 ปี เลือกตั้งผู้นำคนใหม่เข้ามาได้
แต่คำถามตามมาก็คือ การที่มีผู้เลือกจะทำการลอบสังหารและใช้ความรุนแรงแบบนี้ ไม่เป็นผลดีต่อประชาธิปไตยเลย เพราะเป็นทางออกที่อยู่นอกคูหาเลือกตั้ง หรือว่าประชาธิปไตยที่หลายคนเชิดชูกำลัง “ถดถอย” กันแน่ ?
ประชาธิปไตยถดถอย
“ประชาธิปไตยถดถอย (Democratic Regression)” เป็นกระแสที่เกิดขึ้นอย่างน้อยที่สุดคือช่วยหลังขึ้นสหัสวรรษใหม่ (ปี 2000) สังเกตได้จากในหลาย ๆ ประเทศแถบเอเชีย ได้หันกลับไปเป็นระบอบ “อำนาจนิยม (Authoritarianism)” อีกครั้ง อย่างในประเทศไทยที่เกิดการรัฐประหาร ปี 2005 เมียนมาร์กับการกักขัง อองซานซูจี หรือในแอฟริกาหลายประเทศที่กลับไปปกครองโดยรัฐบาลทหาร
ยิ่งไปกว่านั้น ประชาธิปไตยยังเหลือเพียง “ระบบเลือกตั้ง” ที่ประชาชนไปกาบัตรเฉย ๆ แต่จริง ๆ ผู้นำ พรรคการเมือง หรือตระกูลที่ปกครองไม่ได้เปลี่ยนไป อาทิ สิงคโปร์ กัมพูชา หรือกระทั่งเกาหลีเหนือ
รวมไปถึงการเกิดขึ้นของนักการเมือง “ประชานิยม” โดยเฉพาะในละตินอเมริกา ที่เน้นนโยบายแบบแจกเงิน แก้ไขปัญหาปากท้อง โดยไม่สนว่าจะต้องไปกู้เงินต่างประเทศให้เกิดการขาดงบดุล หรือเป็นหนี้สาธารณะมากมายเพียงใด เพียงแค่คะแนนเสียงของประชาชนในประเทศมีมากพอที่จะทำให้ชนะเลิกตั้งได้เพียงพอ
อีกทั้งกระแส “ขวาจัด” ที่เกิดขึ้นในยุโรป อย่างการครองอำนาจของ วิคตอร์ โอร์บาน แห่งฮังการี เบ็นจามิน เนทันยาฮู แห่งอิสราเอล หรือ มารีน เลอ แป็ง ที่เฉียดใกล้ตำแหน่งผู้นำในฝรั่งเศส และรวมไปถึง ยาอีร์ โบลโซนาโร แห่งบราซิล พวกนี้ หากพิจารณาตามฐานคิดแล้ว นับว่าไปกันไม่ได้กับประชาธิปไตย ทั้งในเรื่องการกีดกันด้านเชื้อชาติ ศาสนา เผ่าพันธุ์ หรือกระทั่งการเหยียดต่าง ๆ แต่ที่ตลกร้ายคือ พวกนี้มากจากการเลือกตั้งทั้งนั้น
ตรงนี้ นับเป็นปัญหาของประชาธิปไตย ใน 2 ลักษณะ
ประการแรก ประชาธิปไตยนั้น มาจากภาษากรีก 2 คำ นั่นคือ Demos ที่หมายถึง คนหมู่มาก + Kratos ที่หมายถึงกฏ/ระเบียบ รวมแล้วประชาธิปไตยจึงเป็น “กฏหมู่” หมายความว่า ใครได้คะแนนเสียงหรือการยอมรับด้วย “จำนวนที่มากกว่า” ผู้นั้นย่อมมีความชอบธรรม
ประการต่อมา ประชาธิปไตยมีหลักการว่าด้วย “ความเสมอภาค (Equality)” ซึ่งต้องโอบรับทั้งหมด แม้กระทั่งผู้ที่ไม่ได้มีความเป็นประชาธิปไตยก็จะต้องโอบรับเข้ามาด้วย ไม่อย่างนั้น ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตยหากมีการกีดกันออกไป
เมื่อเป็นเช่นนี้ ประชาธิปไตยจึงต้องทำงานบน 2 หลักการข้างต้น ซึ่งปัญหาก็คือ เกิดการขัดแย้งในตนเอง เพราะหากว่ายอมรับกฏหมู่และความเสมอภาค การตัดสินใจของผู้นำในบางครั้ง ก็อาจจะไม่ได้เป็นไปตาม “แนวทางที่จะนำไปสู่การแก้ไขจริง ๆ”
ตัวอย่างเช่น สมมุติว่าผู้นำควรจะต้องขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT ในอัตรา 10% แต่ประชาชนไม่ยอม ต้องการให้คงไว้ที่อัตรา 7% หากผู้นำยืนกรานว่าต้อง 10% การเลือกตั้งครั้งต่อไป ประชาชนก็อาจจะไม่ลงคะแนนเสียงให้เพราะเสียประโยชน์ แต่หากคงไว้ที่ 7% ก็อาจจะได้รับคะแนนเสียงต่อไป
ซึ่งจริง ๆ การไม่เพิ่มอัตราเก็บ VAT ได้ทำให้งบดุลของรัฐบาลอาจเสียหายได้ เพราะถือว่าขาดรายได้ในการบริหารประเทศไป
อีกอย่างหนึ่ง คือการบริหารบ้านเมืองให้ “อยู่ดีกินดี” ซึ่งเป็นเรื่องหลักที่ประชาชนต้องการให้รัฐบาลแก้ไข อาจไม่จำเป็นต้องกระทำผ่านประชาธิปไตยเลย ตัวอย่างที่สำคัญ นั่นคือ “จีน” ที่ระบอบการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์ เลือกเลขาธิการพรรคกันเอง คุยกันเอง ประชาชนเพียงรับลูกนโยบายแบบไม่มีหือมีอือ แต่ประเทศจีนก็สามารถที่จะเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นมหาอำนาจของโลก และยังสามารถสร้างค่านิยมให้แพร่กระจายไปยังทั่วทุกแห่งได้
ตรงนี้ คือทั้งหมดที่ประชาธิปไตยเผชิญมาตลอดหลังสหัสวรรษใหม่
กลับมาที่การลอบสังหารนักการเมืองที่เกิดขึ้นบ่อยและถี่ในปัจจุบัน ตรงนี้ ทำให้คิดได้ว่า เมื่อประชาธิปไตยเป็นเรื่องของกฎหมู่และความเสมอภาค คือต้องใช้จำนวนในการเอาชนะกัน บางครั้ง ผู้ชนะเลือกตั้งก็มีแต่หน้าเดิม ๆ เพราะหยั่งเสียงแล้วอย่างไรก็ชนะ ทำให้บางทีเกิด “ผู้แพ้ถาวร (Eternal Losers)” เกิดขึ้น คือเลือกไปก็ไม่มีทางชนะ
ดังที่เกิดขึ้นกับกระแสขวาจัดและประชานิยม ที่มีผู้คนจำนวนมากให้การสนับสนุน กลไกทางการเมืองไม่สามารถทำอะไรได้ ก็ยิ่งตอกย้ำว่า ทางเลือกของผู้ไม่เห็นด้วยกับพวกนี้มีอยู่ 2 ทาง คือไม่ตามน้ำไป ก็ต้องทำอะไรที่ “หักดิบ”
การเลือกที่จะใช้ความรุนแรงผ่านการลอบสังหาร จึงอาจจะเป็นทางเลือกหนึ่งก็เป็นได้
เรื่องนี้ มีหลักฐานที่ชัดเจน จากงานศึกษา Bosses, Bullets and Ballots: electoral violence and democracy in Thailand, 1975-2011 เขียนโดย ประจักษ์ ก้องกีรติ ได้เสนอว่า เพราะมีประชาธิปไตย จึงมีการลอบสังหารและจ้างวานฆ่าผู้แทนหรือแคนดิเดท สส. ของประเทศไทยมากยิ่งขึ้น การได้เป็น สส. นั้น จบการศึกษาระดับใดก็เป็นได้ แถมยังมีโอกาสไต่เต้าไปถึงรัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรีได้เลย ดังนั้น “ความคุ้มค่าที่จะฆ่า” ย่อมมีมากตามไปด้วย หากผู้แทนอีกฝ่ายตาย ก็จะเหลือเพียงแค่ผู้แทนของเรา
แต่ประชาธิปไตย ณ ตอนนี้ เปลี่ยนไป สมัยนี้ผู้สมัครมีมาก ใคร ๆ ก็ลงเล่นการเมืองได้ ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรค ไม่ได้เป็นเรื่องของการแข่งขันทางอำนาจของผู้สมัครไม่กี่คน เป็นเรื่องของการแย่งคะแนนเสียงโดยทำอย่างไรก็ได้แทน
ความคุ้มค่าจึงเปลี่ยนไปอยู่ที่ว่า มีหนทางอื่นที่จะสามารถสอยผู้นำประเภทประชานิยมหรือขวาจัดลงได้ด้วยวิธีใด ซึ่งหนทางสุดท้าย ก็คือการลอบสังหาร
ประชาธิปไตยคือคำตอบหรือไม่ ?
เมื่อมาถึงตรงนี้ อาจทำให้เข้าใจได้ว่า ประชาธิปไตยนั้นทั้งมีปัญหาในตนเอง และมีปัญหาในการปกครอง จึงเกิดคำถามที่ว่า ตกลงแล้ว ประชาธิปไตยเป็น “คำตอบ” สำหรับการปกครองจริง ๆ หรือไม่ ?
ตรงนี้ สามารถที่จะตอบได้ใน 2 แนวทาง นั่นคือ อย่างแรก ผู้ที่เชื่อว่าประชาธิปไตยยังคงเป็นคำตอบอยู่ และอย่างหลัง คือลองหาทางเลือกใหม่ ๆ ในการปกครองดีหรือไม่
อย่างแรก หากยังเชื่อมั่นในประชาธิปไตยอยู่ สิ่งที่ต้องเพิ่มเติมเข้ามาคือ “ขันติธรรม (Toleration)” ต้องเข้าใจธรรมชาติของประชาธิปไตยว่า เป็นเรื่องของกฏหมู่และความเสมอภาค ไม่พอใจอะไรจะไปทำตามใจฉันไม่ได้ ต้องอดทนรอไปตามวาระรัฐบาล จะ 4 ปี หรือ 5 ปีก็ตาม ไม่อย่างนั้นก็ไม่อาจที่จะปกครองได้
อย่างหลัง หากอยากได้ทางเลือกอื่น ๆ ก็ต้องไปทำความเข้าใจให้ดี ๆ ก่อนว่า ระบอบที่เราอยากได้นั้น มีข้อดีและข้อเสียอย่างไร สมมุติว่าต้องการระบอบคอมมิวนิสต์ ก็ต้องเรียนรู้ว่า การถือครองทรัพย์สินเอกชนจะไม่มี ริบเข้ารัฐทั้งหมด หากต้องการเผด็จการ ก็ต้องเข้าใจว่า ห้ามหือห้ามอือกับรัฐบาล ไม่อย่างนั้นชีวิตจะไม่ปลอดภัย หรือหากต้องการอำนาจนิยม ก็ต้องเข้าใจว่า อิสรภาพนั้นมีจำกัด มีบางเรื่องที่ทำไม่ได้แม้จะอยากทำเพียงใดก็ตาม
แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด นั่นคือ ระบอบที่เราอยากได้นั้น “เราคิดอยู่ผู้เดียว” หรือไม่ เพราะระบอบการปกครองนั้น ประชาชนทุกคนต้อง “ยอมรับร่วมกัน” ทั้งหมดเสียก่อน
ซึ่งตอนนี้ ประชาธิปไตยยังคงเป็นระบอบหลักที่ผู้คนยึดมั่น หากแต่มีปัญหาเพียงเล็กน้อยให้ต้องปรับแก้กันไปไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
World-in-depth by วิศรุต หล่าสกุล
แหล่งอ้างอิง
- บทความ Facing Up to the Democratic Recession
- บทความ What halts democratic erosion? The changing role of accountability
- บทความ Democratic Decay: Conceptualising an Emerging Research Field
- บทความ Democratic regression in comparative perspective: scope, methods, and causes
- บทความ The Rise of Illiberal Democracy
- https://www.politico.eu/article/europe-populist-politicians-donald-trump-shooting-assassination-attempt/?utm_source=Facebook&utm_medium=social&fbclid=IwZXh0bgNhZW0CMTEAAR3-Jd6IV1F42lw-dShGvOkmzLaicv7Ct2BQDE0EtVNXveJjVMQFGqHGF1M_aem_y1pYq02k3nHXnUwIKrocNg