ดีเดย์วันนี้ 2 เมษา 68 "ไทย" รับแรงกระแทก ภาษี "ทรัมป์"

ภาษี "ทรัมป์" พ่นพิษทั่วโลก ประเทศไทยเตรียมรับแรงกระแทก


วันนี้ 2 เมษายน 2568 คือ วันดีเดย์  ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะประกาศและเริ่มใช้ "ภาษีศุลกากรตอบโต้" (Reciprocal Tariff) ต่อทุกประเทศทั่วโลก


แรงกระแทกครั้งใหญ่กำลังจะเกิดขึ้น ทั้งกับประเทศไทยและทั่วโลก

ที่ทรัมป์ย้ำว่าจะขึ้นภาษีให้หมดทุกประเทศพร้อมๆกันไม่เว้นแม้แต่กลุ่มเดียว 

เพื่อลดการเสียเปรียบ ลดการขาดดุล ให้สหรัฐได้ประโยชน์ที่สุด 

ตามนโยบายอเมริกาต้องมาก่อน



หลังจากลงนามคำสั่งดังกล่าวไปเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ประธานาธิบดีทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงประธานาธิบดี

ที่มีชื่อว่า “แผนการค้าที่เป็นธรรมและเท่าเทียม (Fair and Reciprocal Plan)”

 ซึ่งสั่งให้มีการตรวจสอบมาตรการทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมของประเทศคู่ค้าอย่างครอบคลุม 

แผนดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อกำหนด “ภาษีศุลกากรตอบโต้” (Reciprocal Tariffs) 

กับประเทศที่เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ


“ภาษีศุลกากรตอบโต้” หมายถึง การเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากประเทศคู่ค้า

ในอัตราเดียวกับที่ประเทศเหล่านั้นเก็บภาษีสินค้าส่งออกจากสหรัฐฯ

นโยบายนี้มีเป้าหมายเพื่อให้เกิด “ความเท่าเทียมทางการค้า” ระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้า

หรือพูดง่ายๆสหรัฐไม่เสียเปรียบ ไม่ขาดทุน 


ภาษีเป็นเครื่องสำคัญของประธานาธิบดีทรัมป์ ในการสู้รบทางการค้ากับทั่วโลก 

นับตั้งแต่วันเข้ารับตำแหน่งเมื่อ 20 มกราคม 2568  ผู้นำสหรัฐ ได้เดินหน้าขึ้นภาษีนำเข้าอย่างต่อเนื่อง  

เริ่มจากแคนาดา-เม็กซิโก ขึ้น 25% จีน 20% กลุ่มเหล็ก-อะลูมิเนียมทั่วโลกขึ้น 25% 

และยังมีการขู่เก็บ 200% กับไวน์-สุรายุโรปอีกด้วย 


โดยภาษีตอบโต้ที่เกิดขึ้นนี้ ประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ 

ประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ในระดับสูง 

ซึ่งหมายรวมครอบคลุมไปถึงประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศเดียว

เช่น สหภาพยุโรป (EU), ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้


รวมไปถึงกลุ่มประเทศเกิดใหม่ เช่น อินเดีย ซึ่งมีอัตราภาษีค่อนข้างสูง

อาจได้รับผลกระทบเช่นกัน ตัวอย่างเช่น อินเดียเรียกเก็บภาษี 25% 

สำหรับการนำเข้ารถยนต์จากสหรัฐฯ 

หมายความว่า สหรัฐฯ อาจเรียกเก็บภาษีในอัตราเดียวกันกับรถยนต์นำเข้าจากอินเดียด้วย

และจะมีผลกระทบไปทั้งห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรม 


อย่างไรก็ตามหลายประเทศเองต่างก็พยายามหาทางเจรจาต่อรอง 

 และตอบโต้กลับมา เช่น กรณีของจีน ที่ขึ้นภาษีโต้กลับสหรัฐ และฟ้ององค์กรการค้าโลก WTO 

ทำให้บรรยากาศการค้าโลกเต็มไปด้วยความตึงเครียด จนกลายเป็นสถานการณ์สงครามการค้า




สรุปข่าว

ดีเดย์วันนี้ 2 เมษา 68 "ไทย" รับแรงกระแทก ภาษี "ทรัมป์" คาดกระทบส่งออกหนัก เร่งหาทางรับมือเจรจาและหาตลาดทดแทน

กลับมามองที่บ้านเรา ประเทศไทยของเราเอง

ก็ต้องรับกับแรงกระแทกครั้งนี้เช่นกัน

เป็นวิกฤตที่จะกระทบกับการส่งออกอย่างหนัก 

มีหลายกลุ่มสินค้าที่จะได้รับผลกระทบ

ทั้งทางตรงและทางอ้อม 

 

ไทย ติดอันดับเป็นหนึ่งในประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าลำดับที่ 11 - 12 

ส่วนในประเทศกลุ่มอาเซียน ไทยเราเป็นรองแค่เวียดนามเท่านั้น 

ปี 2566 สหรัฐอเมริกาเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย

 โดยมีมูลค่าการส่งออก 67,659 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 ไทยได้เกินดุลการค้าสหรัฐฯ 29,045 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

ขณะที่ปี 2567ไทยยังคงเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ 

ประมาณ 45,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสที่ไทยอาจถูกเพ่งเล็งจากรัฐบาลสหรัฐฯ

 ในเรื่องความไม่สมดุลทางการค้า


นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย 

และประธานศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า 

ผลกระทบของทรัมป์ 2.0 โดยเฉพาะมาตรการภาษี

และมีการตอบโต้กันระหว่างสหรัฐ จีน ยุโรป 

รวมถึงเม็กซิโก และแคนาดา เป็นสิ่งที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด


ต้องติดตามว่าในอาเซียนจะมีการปรับขึ้นภาษีจากสหรัฐหรือไม่ 

เพราะมี 2 ประเทศที่เกินดุลการค้าสูง ได้แก่ เวียดนามและไทย 

อาจมีผลต่อเศรษฐกิจไทย 


เบื้องต้นประเมินผลกระทบ

ทางตรง ทางอ้อม 

รวมเม็ดเงินที่อาจจะต้องสูญเสีย

ไปประมาณ 160,472 ล้านบาท 

ส่งออกติดลบ 1.52% ผลต่อจีดีพีลดลง 0.87%


นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ยังต้องติดตามผลกระทบทางอ้อม 

ที่อาจมีสินค้าจีนทะลักเข้ามาในไทยมากขึ้น 

เพราะสินค้าจีนส่งไปขายสหรัฐด้วยราคาต้นทุนที่แพงขึ้น 

เช่น จีนขายโน๊ตบุ๊คให้สหรัฐ ราคาเพิ่มขึ้นจาก 1,000 เหรียญสหรัฐ 

เป็น 1,600 เหรียญสหรัฐ ยอดขายปรับลดลง 


ไทยที่ส่งสินค้าชิ้นส่วนประกอบไปขายให้จีนก็จะส่งออกปรับลดลงเช่นกัน 

โดยกลุ่มสินค้าไทยที่จะได้รับผลกระทบ ได้แก่ 

เหล็ก ผลิตภัณฑ์เหล็ก อะลูมิเนียม รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ 



ทางด้านของกระทรวงพาณิชย์ 

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า โฆษกกระทรวงพาณิชย์

เปิดเผยว่า กลุ่มสินค้าไทยที่มีความเสี่ยงอาจถูกสหรัฐฯ พิจารณาใช้มาตรการทางภาษี

มีประมาณ 29 กลุ่มสินค้า 

เนื่องจากพบสถิติการค้าที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับไทยมากขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

 (ปี 61 – 66) 

เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ, 

เครื่องโทรศัพท์มือถือ, 

ไดโอด ทรานซิสเตอร์และอุปกรณ์กึ่งตัวนำแบบไวแสง (โซลาร์เซลล์), 

ยางนอกชนิดอัดลมที่เป็นของใหม่

หม้อแปลงไฟฟ้า 

เครื่องเปลี่ยนไฟฟ้าชนิดอยู่คงที่

 เครื่องปรับอากาศ 

เครื่องพิมพ์ที่ป้อนกระดาษเป็นม้วน 

เครื่องส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์

วงจรรวมอิเล็กทรอนิกส์

เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณ

และส่วนประกอบของสินค้าดังกล่าว


นอกจากนี้ ยังมีรายการกลุ่มสินค้าอื่น ๆ ที่อาจมีความเสี่ยงโดนเก็บภาษีเช่นกัน 

เช่น 

เครื่องจักรไฟฟ้า 

ตู้เย็นตู้แช่แข็ง 

เฟอร์นิเจอร์และส่วนประกอบ 

ผลิตภัณฑ์จากไม้ 

รวมถึงสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปบางรายการ 

อาทิ ปลาสด แช่เย็น แช่แข็ง ขนมหวานที่ไม่มีส่วนผสมจากโกโก้


จากความเสี่ยงดังกล่าว ทำให้เอกชนเกิดความกังวลใจ

ขอให้มีการตั้ง Special Team ขึ้นมา 

และล่าสุดก็ได้มีการพบหน้าประชุมกันแล้ว

กับตัวแทนภาคเอกชน และรัฐบาล 

และหลังจากนี้จะมีการทำงาานร่วมกันอย่างใกล้ชิด

ในนามของ "Team Thailand"



14 มีนาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) 

 (สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย)

เข้าหารือกับนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

 เพื่อร่วมกันกำหนดผลกระทบของประเทศไทยในนโยบายด้านเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา 

โดยมี นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีแล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง 

และทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลเข้าร่วมด้วยทั้งหมด


นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า รัฐบาลให้ความสำคัญและตระหนักถึงเรื่องนี้อย่างมาก

โดยได้มีการตั้งคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐฯ ขึ้นมาเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา

เพื่อเตรียมพร้อมที่จะรับมือเรื่องนี้แล้ว รวมถึงได้มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

เพื่อปรับแผนการดำเนินการให้สอดคล้องกับสถานการณ์และทันกับบริบทต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลง


และเชื่อมั่นว่าด้วยความรู้ความสามารถของภาคเอกชนทุกท่านสามารถที่จะช่วยรัฐบาลได้อย่างมาก 

และรัฐบาลพร้อมร่วมมือกับภาคเอกชนในด้านต่าง ๆ

 รวมถึงการหาแนวทางรับมือผลกระทบด้านเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจไทย


พร้อมกันนี้นายกรัฐมนตรียังย้ำถึงการใช้ศักยภาพด้านสินค้าเกษตรของไทย

ในการรับมือกับสถานการณ์เศรษฐกิจดังกล่าวด้วย


 ด้าน นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 

ระบุว่า การมาพบนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ เพื่อนำความคิดเห็น

 ของภาคเอกชน นำเรียนต่อนายกรัฐมนตรี 

หลังจากที่ผ่านมา นโยบายการค้าของสหรัฐ มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย 

และช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกมีการเปลี่ยนแปลง อย่างรวดเร็ว

 ที่ส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจของไทย 

ไม่ว่าจะเป็นด้านการค้าการลงทุนและค่าเงิน 

ภาคเอกชน ได้ตระหนักถึงความท้าทายจากปัญหาดังกล่าว 

จึงมุ่งมั่นที่จะทำงานกับภาครัฐอย่างใกล้ชิด 

เพื่อปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจไทย

 เพื่อให้ไทยสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกได้

และเบื้องต้นภาคเอกชน พอใจแนวทางที่รัฐบาลจะดำเนินการ


 และมองว่าภาครัฐและเอกชน ต้องทำงานในแนวทางเดียวกัน 

เพื่อผลประโยชน์ของผู้ประกอบการ และประเทศของเราด้วย

 ซึ่งประเทศอื่นๆ ก็ทำแบบนี้เช่นเดียวกัน โดยที่ภาคเอกชนและภาครัฐต้องเป็นทีมงานเดียวกัน 

และขับเคลื่อนไปด้วยกัน ซึ่งตนเองมองว่า 

การทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์คิดว่าคงจะเป็นประโยชน์ ต่อเศรษฐกิจ และประชาชนของคนในชาติ 


พร้อมย้ำว่านโยบายของโดนัลด์ทรัมป์มีความไม่แน่นอนสูง 

ต้องหาแนวทางรับมือให้ทันและมีความคล่องตัว 

ซึ่งทั้งภาครัฐและเอกชนเห็นตรงกันว่าไทยควรจะมีข้อเสนอแลกเปลี่ยนกับสหรัฐ

เพื่อไม่ให้เสียเปรียบและ ยังให้รู้สึกว่าเป็นมิตรซึ่งกันและกัน


Team Thailand  เกิดขึ้นแล้ว และเป็นความหวังของคนไทยทุกคน

ในการรับมือกับทรัมป์ 2.0 ที่อะไรก็เกิดขึ้นได้เสมอ 

และไทยเองก็พึ่งพาการส่งออกเป็นรายได้สำคัญ 

ที่มาข้อมูล : TNN รัฐบาลไทย หอการค้า รัฐบาลสหรัฐ

ที่มารูปภาพ : Freepik TNN

avatar

ทิฆัมพร อยู่กำเหนิด