"โจรขโมยของตามห้าง" (shoplifting) เป็นปัญหาใหญ่ของห้างค้าปลีกใน "อังกฤษ" และสหราชอาณาจักร (UK) เวลานี้
ในทุกๆวัน ทุกๆเมืองใหญ่จะต้องมีคนร้ายเข้ามาก่อเหตุ ตั้งแต่ขโมยของ ลักทรัพย์ หรือข่มขู่พนักงาน
เป็นปัญหาด้านความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
และกลายเป็นปัญหาเศรษฐกิจ เมื่อ"ภาคธุรกิจ"ต้องแบกความเสียหาย
รายใหญ่ต้องเพิ่มรายจ่ายเพื่อป้องกันและปรามเหตุ ส่วนรายเล็กๆก็ใกล้จะหมดลมหายใจ
ข้อมูลล่าสุดจาก สมาคมผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกในอังกฤษ (BRC) เปิดเผยผลสำรวจเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา พบว่า เกิดเหตุลักทรัพย์ตามห้างและร้านค้ามากถึง 55,000 ครั้งต่อวัน สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างหนัก มากกว่า 2.2 พันล้านปอนด์ หรือกว่า 9 หมื่นล้านบาทต่อปี นับว่าเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นสูงสุดแบบไม่เคยมีก่อน หรือเพิ่มสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ที่สำคัญ คือ สถานการณ์หนักขนาดที่หลายฝ่ายยอมรับว่าไม่สามารถควบคุมได้อีกต่อไปแล้ว
สาเหตุสำคัญ ส่วนหนึ่ง มาจากแก๊งอาชญากรรมและมีคนร้ายที่ขโมยของตามใบสั่ง รายงานของ BRC พบว่า ช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาของปีก่อน มีคนร้ายเข้าขโมยของหรือลักทรัพย์ มากกว่า 20 ล้านครั้ง หรือเฉลี่ยกว่า 55,000 ครั้งต่อวัน
เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 50 % โดยเมืองที่เกิดบ่อยสุดคือ เซาธ์แธมตัน, ลีดส์
เป็นวิกฤตที่คนอังกฤษเองก็ท้อใจกับเรื่องที่เกิดขึ้น และยังสะท้อนไปปัญหาเศรษฐกิจได้
สรุปข่าว
อาชญากรรมที่เกิดขึ้นตามห้างร้านต่างๆทั่วเมืองอังกฤษ นอกจากจำนวนครั้งจะมากขึ้นแล้ว ความเสียหายทางเศรษฐกิจก็สาหัสหนักขึ้นเช่นกัน ข้อมูลเผยว่า ธุรกิจค้าปลีกต้องเสียหายรวมกว่า 2.2 พันล้านปอนด์ (2.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) หรือมากกว่า 9 หมื่นล้านบาท
โดยเหตุการณ์ส่วนใหญ่เชื่อมโยงกับกลุ่มอาชญากรรม ซึ่งมีการลงมือกับร้านค้าทั่วประเทศอย่างเป็นระบบ และผู้คนก็ตกอยู่ในความกลัว ไม่กล้าต่อต้าน โดยเฉพาะพนักงานของร้านค้าต่างๆ เพราะมีการใช้ความรุนแรงและการคุกคามต่อพนักงานหนักขึ้นเรื่อยๆ เฉลี่ยเกิดขึ้นมากกว่า 2,000 ครั้งต่อวัน เพิ่มขึ้นจาก1,300 ครั้งต่อวันในปีก่อนหน้า
ขณะที่ร้านที่มีการใช้เครื่องมือชำระเงินด้วยตนเอง (self-checkout kiosks) เพื่อลดความเสี่ยงการเผชิญหน้ากับคนร้ายของพนักงาน ก็กลายเป็นช่องโหว่ เพราะคนที่เข้ามาลักทรัพย์ สามารถหยิบของไปได้อย่างรวดเร็วโดยที่ไม่สนใจระบบเตือนภัยที่ดังขึ้นมา และไม่ระวังกล้องวงจรปิดที่ติดไว้ด้วยซ้ำ
ถือเป็นโจทย์ด้านความปลอดภัยที่ต้องหาทางแก้ เพราะการจ้างงานตำแหน่งในร้านค้าก็ยากขึ้น เนืองจากคนไม่อยากทำงานนี้ แม้จะได้เงินดีแค่ไหน เพราะพนักงานที่มาเฝ้าร้านหรือเก็บเงินต่างก็โดนทำร้าย หรือข่มขู่จนทนไม่ไหว ต่างพากันลาออกไปหมด
สิ่งที่เกิดขึ้นในอังกฤษตอนนี้ น่ากังวลกว่าที่หลายคนคิด ไม่ใช่เพียงแค่ความปลอดภัยของประชาชน แต่หมายถึงภาคธุรกิจที่แบกภาระหนัก และต้องโยนภาระไปที่ประชาชน ด้วยการขึ้นราคาสินค้า และอาจกระทบไปถึงเศรษฐกิจของประเทศได้
บรรดาห้างค้าปลีกต่างๆตอนนี้กำลังแบกต้นทุนที่หนักขึ้น จากค่าใช้จ่ายในการป้องกันอาชญากรรม แต่ก็เหมือนเอาเงินไปทิ้ง ตัวเลขในปีที่ผ่านมา พบว่า มีการทุ่มงบมหาศาลลงไป เพื่อความปลอดภัยมากที่สุดแบบไม่เคยมีมาก่อน หรือเพิ่มสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ด้วยเงินกว่า 1.8 พันล้านปอนด์ เพิ่มจาก 1.2 พันล้านปอนด์ เมื่อช่วงปี 2565/66 โดยยอมจ่ายไปกับมาตรการต่าง ๆ เท่าที่ทำได้ ตั้งแต่ระบบความปลอดภัยมาตรฐานที่ควรมี เช่น ติดตั้งกล้องวงจรปิด จ้างเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเพิ่มขึ้น ซื้ออุปกรณ์ป้องกันการขโมย
ไปจนถึงการคิดค้น การงัดเอาเทคโนโลยีล้ำสมัยมาใช้ในการดูแลตัวเอง เช่น น้ำยาพิเศษที่พ่นใส่คนร้าย ที่สามารถติดตัวคนและเสื้อผ้าได้นานพิเศษ ช่วยมัดตัวเวลาไปตามคนร้าย ที่แม้จะหนีไปได้ในตอนแรกก็ตาม
รวมถึงการใช้ AI และระบบตรวจจับแบบเรียลไทม์ผ่านคลาวด์ ที่สามารถช่วยให้พนักงานแทรกแซงได้ก่อนที่อาชญากรรมจะเกิดขึ้น และยังมีการใช้ กล้องติดตัว ที่สามารถจับภาพใบหน้าที่ชัดเจนและบันทึกเสียง ซึ่งเป็นหลักฐานที่ปฏิเสธไม่ได้ โจรที่เห็นกล้องติดตัวจะต้องคำนึงถึงความเสี่ยงที่จะถูกจับ ทำให้เกิดแรงกดดันและอาจยกเลิกแผนการที่วางไว้
อย่างไรก็ตามทุกอย่างที่พูดมามีราคาเสมอ และไม่น้อย ดังนั้นเมื่อร้านค้าเหล่านี้ ต้องขาดทุนจาก ของที่โดนขโมย ทรัพย์สินก็เสียหาย แต่ยังต้องมาลงทุนเพิ่มอีก เพื่อความปลอดภัย ห้างร้านใหญ่มีเงินหนา ก็อาจจะแบกรับไหว แต่ก็อาจจะไปบวกเอาคืนกับราคาสินค้าที่วางขายได้
ขณะเดียวกัน ในมุมของร้านค้ารายย่อย ร้านค้าเล็กๆของชุมชน อาจทำให้เจ๊งหรือปิดกิจการได้ทันที เพราะไม่มีเงินทุนพอสำหรับการป้องกันใดๆ และแม้ตอนนี้ทุกฝ่ายมีความหวังว่าทางการ และกฎหมายใหม่ของอังกฤษ ที่จะออกมาในปีนี้จะมาช่วยลดความรุนแรงได้ แต่อาจจะมีร้านค้าที่อยู่รอดไปจนถึงสิ้นปีได้ไม่ครบทั้งหมด 100 %
มีการวิเคราะห์ว่า สาเหตุที่เกิดภาวะโจรครองเมืองในอังกฤษแบบนี้ สาเหตุสำคัญเป็นเพราะวิกฤตเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน เพราะอังกฤษก็เหมือนกับอีกหลายประเทศทั่วโลก ที่ตอนนี้ประชากรกำลังเจอกับปัญหาปากท้องค่าครองชีพที่สูงขึ้น สินค้าที่แพงขึ้น แต่รายได้น้อยลง หรือต้องตกงาน บีบให้คนยอมทำผิด ขโมยของตามห้างทั้งเพื่อไปใช้เองและไปขายแลกเป็นเงินในตลาดมืด
ที่มารูปภาพ : TNN Freepik canva

ทิฆัมพร อยู่กำเหนิด