121 บจ.ไทยคว้า ESG Score ระดับ "Good Practice" ในการประเมินจาก FTSE Russell ESG Scores

การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนไม่แพ้ผลประกอบการที่เป็นตัวเงิน ทั่วโลกจึงมีแนวโน้มกำหนดให้การเปิดเผยข้อมูล ESG เป็นภาคบังคับกันมากขึ้น ซึ่งบริษัทจดทะเบียนไทยสามารถปรับตัวกันได้เป็นอย่างดี สะท้อนจากจำนวนบริษัทจดทะเบียนที่เปิดเผยข้อมูล ESG ผ่าน SET ESG Data Platform ในปี 2567 จำนวน 690 บริษัท คิดเป็น 78% ของจำนวนบริษัททั้งหมด นอกจากนี้ ยังมีบริษัทจำนวนไม่น้อยที่ทยอยยกระดับการเปิดเผยข้อมูลให้สอดรับกับเทรนด์ และมาตรฐานการรายงานในระดับสากล

121 บจ.ไทยคว้า ESG Score ระดับ "Good Practice" ในการประเมินจาก FTSE Russell ESG Scores

สรุปข่าว

บจ.ไทย มีความโดดเด่นในมิติบรรษัทภิบาลสูงถึง 4.2 จากคะแนนเต็ม 5 โดยกว่า 75% ของบริษัทจดทะเบียนได้คะแนนเฉลี่ยตั้งแต่ 4.0 ขึ้นไป ซึ่งถือว่าบริษัทไทยทำคะแนนได้ดีกว่าคะแนนเฉลี่ยรวมของโลก และกลุ่มประเทศเกิดใหม่ แต่ยังต้องเร่งพัฒนาในมิติสิ่งแวดล้อม

ปี 2567 ที่ผ่านมานับเป็นปีแรกที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเริ่มโครงการนำร่องในการประเมิน FTSE Russell ESG Scores โดยร่วมมือกับผู้ประเมินระดับโลกอย่าง FTSE Russell เพื่อให้บริษัทจดทะเบียนไทยได้มีโอกาสเตรียมความพร้อมและทยอยยกระดับการดำเนินงานด้าน ESG โดยจะยังไม่มีการเปิดเผยผลคะแนนของแต่ละบริษัทต่อสาธารณชนในช่วงโครงการนำร่องระหว่างปี 2567-2568 นี้

โดยปีแรกกับผลการประเมิน FTSE Russell ESG Scores บริษัทจดทะเบียนไทย 225 บริษัทได้รับผลการประเมิน FTSE Russell ESG Scores ประจำปี 2567 สำหรับปีแรกนี้ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีที่จะปูพื้นฐานให้บริษัทจดทะเบียนไทยทราบสถานะว่าต้องปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินงานให้สอดคล้องกับมาตรฐานความยั่งยืนระดับโลกอย่างไร เพื่อให้พร้อมปรับตัวสู่การประเมินระดับสากลเต็มรูปแบบได้อย่างราบรื่น

ซึ่งบริษัทจดทะเบียนไทยจากทั้งหมด 225 บริษัทไทยที่ได้รับการประเมินโดย FTSE Russell มีบริษัทไทยถึง 121 บริษัท ที่ได้คะแนนระดับ Good Practice หรือคะแนนเฉลี่ยตั้งแต่ 3.0 ขึ้นไป นับว่าเป็นสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับมาเลเซีย และไต้หวัน แม้ว่าจะเป็นการประเมินปีแรกของไทยก็ตาม ในขณะที่มีบริษัทเพียง 31% ในดัชนี FTSE4Good Emerging Index ที่ได้คะแนนมากกว่า 3.0 สะท้อนให้เห็นว่าบริษัทไทยจำนวนมากมีความมุ่งมั่นในการดำเนินงานด้านความยั่งยืนและสามารถเปิดเผยข้อมูลได้สอดคล้องกับมาตรฐานการประเมินของ FTSE Russell

จากผลประเมินรายมิติ ESG พบว่า บริษัทจดทะเบียนไทยได้คะแนนเฉลี่ยในมิติบรรษัทภิบาลสูงถึง 4.2 จากคะแนนเต็ม 5 โดยกว่า 75% ของบริษัทจดทะเบียนได้คะแนนเฉลี่ยตั้งแต่ 4.0 ขึ้นไป ซึ่งถือว่าบริษัทไทยทำคะแนนได้ดีกว่าคะแนนเฉลี่ยรวมของโลก และกลุ่มประเทศเกิดใหม่ แสดงให้เห็นว่าบริษัทสามารถเปิดเผยข้อมูล “G” ได้ค่อนข้างครบถ้วน เช่น ข้อมูลจำนวน ความเป็นอิสระ ความหลากหลาย และผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ

ซึ่งอาจเป็นผลมาจากเกณฑ์การประเมินของ FTSE Russell ESG Scores ค่อนข้างสอดคล้องกับเกณฑ์ของหน่วยงานกำกับดูแลและแนวทางการประเมินของ Raters ในประเทศไทย เช่น เกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลตามแบบ 56-1 One Report ของสำนักงาน ก.ล.ต. และเกณฑ์การประเมินการสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียน หรือ Corporate Governance Report of Thai Listed Companies : CGR ของสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือ Thai Institute of Directors : IOD จึงเปรียบเสมือนว่าบริษัทไทยได้มีโอกาสเตรียมตัวให้พร้อมมาล่วงหน้าหลายปีแล้วจึงทำให้ผลคะแนนออกมาในระดับดี

ในขณะที่บริษัทไทยยังต้องเร่งพัฒนาในมิติสิ่งแวดล้อม หรือ Environment : E โดยมีบริษัทไทยถึง 158 บริษัทได้คะแนนเฉลี่ยในมิติสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า 3 คะแนน คิดเป็นกว่า 70% ของจำนวนบริษัทไทยที่ได้รับการประเมินโดย FTSE Russell หากวิเคราะห์ในเชิงลึกจะพบว่า บริษัทไทยส่วนใหญ่ยังไม่คุ้นเคยกับตัวชี้วัดในมิติสิ่งแวดล้อม เช่น การประเมินคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทานในเป็นประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม การบริหารความเสี่ยงด้าน Climate Change เป็นต้น อย่างไรก็ดี ในภาพรวมยังถือว่าบริษัทไทยทำคะแนนในมิตินี้ได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยของบริษัทใน FTSE4Good Emerging Index1

ผลประเมิน ESG ดังกล่าวถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการสะท้อนความมุ่งมั่น และการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียน แต่บริษัทจดทะเบียนและนักลงทุนควรตระหนักว่า คะแนนมิได้เป็นเพียงเครื่องมือเดียวที่ใช้ในการประเมินและวัดผลประสิทธิภาพและพัฒนาการด้านความยั่งยืนของธุรกิจ บริษัทจดทะเบียนจึงควรมุ่งเน้นการลงมือทำและ Integrate ESG ในกระบวนการทำงาน โดยไม่มุ่งหวังเพียงแค่ผลคะแนน ในทำนองเดียวกันผลประเมิน ESG ไม่ใช่สูตรสำเร็จในการพิจารณาลงทุน นักลงทุนจะต้องพิจารณาข้อมูลอื่นควบคู่กันไปด้วย เช่น กลยุทธ์การปรับตัวของธุรกิจ แผนการบริหารความเสี่ยง การกำกับดูแลกิจการ และข้อมูลผลการดำเนินการทางการเงิน เป็นต้น

ทั้งนี้ FTSE Russell ESG Scores คือผลการประเมินการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของบริษัทจากข้อมูลที่บริษัทเปิดเผยสู่สาธารณะ โดย FTSE Russell แบ่งการประเมินออกเป็น 3 มิติ คือ สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล ประกอบด้วย 14 ธีม ครอบคลุมกว่า 300 ตัวชี้วัด ทั้งนี้ จำนวนธีม และจำนวนตัวชี้วัดที่แต่ละบริษัทได้รับการประเมินจะไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับประเทศที่ตั้ง สัดส่วนรายได้ และการจัดกลุ่มอุตสาหกรรมตามมาตรฐาน หรือ Industry Classification Benchmark : ICB

โดยผลคะแนนของ FTSE Russell ESG Scores ประกาศเป็นคะแนน 0.0 ถึง 5.0 คะแนน ซึ่ง 0.0 คะแนน หมายถึง ไม่มีข้อมูลให้ประเมิน ส่วน 3.0 คะแนน หมายถึง Good practice และ 5.0 คะแนน หมายถึง Best practice

ที่มาข้อมูล : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ที่มารูปภาพ : TNN

avatar

มงคล เกษตรเวทิน