การปรับกลยุทธ์การลงทุนเป็นสิ่งที่จำเป็น โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ภาพรวมเศรษฐกิจ หรือปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการลงทุนเปลี่ยนไป นักลงทุนจึงจำเป็นที่จะต้องปรับกลยุทธ์การลงทุนให้ทันต่อสถานการณ์ ซึ่งการปรับกลยุทธ์โดยใช้เครื่องมือการลงทุน ก็สามารถทำได้หลากหลายวิธี ซึ่งหนึ่งในวิธีที่ได้รับความนิยมนั่นคือ “การลงทุนในอนุพันธ์”
การลงทุนในตราสารอนุพันธ์ หรือ “สัญญาซื้อขายล่วงหน้า” คือ ตราสารทางการเงินที่เป็นสัญญามาตรฐานที่ระบุปริมาณ ระยะเวลาซื้อขาย และราคาซื้อขายในปัจจุบัน ที่ใช้ในการซื้อ หรือขายสินค้าอ้างอิงที่ระบุไว้ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น หุ้น ดัชนีราคาหลักทรัพย์ สินค้าโภคภัณฑ์ สินค้าเกษตร ดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น ซึ่งสามารถเลือกลงทุนได้ทั้งจังหวะที่ตลาดเป็นขาขึ้น และขาลง
สรุปข่าว
โดยการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า จะต้องทำการซื้อขายกันในตลาดซื้อขายล่วงหน้า หรือ futures exchange ซึ่งอาจจะมีการส่งมอบสินค้าจริง ๆ หรือ เป็นเพียงการชำระส่วนต่างราคาก็ได้ เช่น ในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าทองคำ อาจจะมีการส่งมอบทองคำกันจริง ๆ หรือแค่ชำระราคาส่วนต่างของราคาทองคำตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้เป็นต้น ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมในประเทศไทยมี 2 ลักษณะคือ
สัญญาฟิวเจอร์ส เป็นสัญญาที่มีมาตรฐาน เป็นภาระผูกพันที่คู่สัญญาจะต้องปฏิบัติตาม ฝ่ายผู้ซื้อฟิวเจอร์สจะเรียกว่ามีสถานะซื้อ หรือ Long Position ในขณะที่ฝ่ายผู้ขายจะเรียกว่ามีสถานะขาย หรือ Short Position โดยสัญญาฟิวเจอร์สนั้นสามารถที่จะอ้างอิงในสินค้าได้หลากหลายประเภท แต่ที่ได้รับความนิยมก็จะเป็นสินค้าที่อ้างอิงในดัชนีราคาหลักทรัพย์ เช่น SET50 Futures เป็นต้น
สัญญาออปชั่น คือสัญญาที่ผู้ซื้อได้รับ “สิทธิซื้อ” หรือ “สิทธิขาย” สินทรัพย์อ้างอิงตามราคา จำนวน และระยะเวลาที่ระบุไว้จากผู้ขาย โดยผู้ซื้อต้องจ่าย “ค่าพรีเมียม” และสามารถเลือกที่จะใช้สิทธิหรือไม่ก็ได้ แต่ผู้ขายมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามสัญญา หากผู้ซื้อขอใช้สิทธิ
โดยข้อจำกัดในการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่แตกต่างจากการลงทุนในสินทรัพย์โดยตรง คือการไม่ได้รับผลตอบแทนจากสินทรัพย์นั้น เช่น เงินปันผล เป็นต้น หรือจะเป็นข้อจำกัดในเรื่องของอายุของสัญญาที่มีจำกัด และที่สำคัญความผันผวนของราคาสินทรัพย์อ้างอิงที่สูง ก็จะส่งผลต่อกำไร หรือขาดทุนจากการลงทุนที่สูงเช่นกัน ที่สำคัญ การลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้านั้นมี Leverage หรือจํานวนเท่า หรือเปอร์เซ็นต์ ของมูลค่าของสินทรัพย์ที่ลงทุนเทียบกับเงินที่ใช้ลงทุนจริง ซึ่ง Leverage ยิ่งสูงเท่าไหร่ ความเสี่ยงก็จะสูงมากขึ้นเท่านั้น
ที่มาข้อมูล : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย/สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ที่มารูปภาพ : Canva