"ดร.นิเวศน์" แนะอย่าทิ้งหุ้นไทย ชี้ราคาลงมาถูกมากแล้ว

"ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร" ต้นแบบนักลงทุนหุ้นคุณค่า ได้แสดงความเห็นผ่านเว็บบอร์ดสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) ระบุว่า สัปดาห์ที่แล้ว “หุ้นยักษ์” ตัวหนึ่ง ซึ่งเคยเป็น “เสาหลัก” สำคัญของตลาดหุ้น มีราคาตกลงมาประมาณร้อยละ 14 หลังจากบริษัทประกาศงบรายไตรมาสที่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้พอสมควร และดูเหมือนว่า “อนาคต” ของบริษัทอาจจะเติบโตไม่ได้ดีเท่ากับที่นักวิเคราะห์และนักลงทุนเคยประเมินหรือคาดการณ์ไว้

ซึ่งการที่หุ้นตกลงมากว่าร้อยละ 10 ในวันเดียวโดยที่ไม่ได้มีเหตุการณ์ร้ายแรงครั้งนี้ ถ้าจะเรียกว่า “คอร์เนอร์แตก” ก็อาจจะยังไม่ชัดร้อยเปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม ถ้ามองย้อนหลังไป 3-4 ปี หุ้นก็ถือว่าลดลงมามากในระดับร้อยละ 40 ขึ้นไป ตรงกับอาการคอร์เนอร์แตกได้ นั่นก็คือ นักลงทุนเลิกเชื่อในสตอรี่และผลประกอบการของบริษัท ที่เคยเป็นตอนที่หุ้นถูกคอร์เนอร์ และก็เริ่มขายหุ้นออกมา มากกว่าคนที่อยากจะถือหุ้นลงทุนตามพื้นฐานที่ควรเป็น หลังจากมีข้อมูลผลประกอบการล่าสุดที่ไม่โดดเด่นออกมา

"ดร.นิเวศน์" ชี้ว่าเรื่องของหุ้น “คอร์เนอร์แตก” ในตลาดหุ้นไทยนั้น ดำเนินมานานอย่างน้อยน่าจะ 4-5 ปีแล้ว เริ่มต้นก็เป็นหุ้นขนาดเล็กที่มีการทำคอร์เนอร์โดยนักลงทุนรายใหญ่ หรือเจ้าของ ที่พบว่าทำได้ง่าย และสามารถเพิ่มราคาและมูลค่าของกิจการได้มากมายหลาย ๆ เท่า โดยเฉพาะในวันที่หุ้นเข้าเทรดวันแรกหลังจาก IPO ผลก็คือ คนทำรวยขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจจะเป็นเศรษฐีพันล้านบาทได้ง่าย ๆ โดยที่แทบจะไม่มีความเสี่ยงอะไรเลย 

ต่อมาหุ้นระดับกลางหลายตัวก็ถูกคอร์เนอร์ จากมูลค่าหุ้นระดับ “หมื่นล้านเศษ ๆ” ก็กลายเป็นหลายหมื่นล้านบาท และบางตัวก็กลายเป็น “แสนล้านบาท” โดยไม่มีใครสนใจว่าหุ้นแพงผิดปกติหรือเปล่า และสุดท้าย แม้แต่หุ้นขนาดใหญ่หรือกลางใหญ่บางตัวก็ถูกคอร์เนอร์ จากบริษัทระดับกลางในแง่ของตัวธุรกิจและ Market Cap. ก็กลายเป็นบริษัทขนาดใหญ่หรือขนาดยักษ์ระดับ “Top Ten” ของตลาด เหล่านี้ เป็นต้น

สรุปข่าว

ซึ่ง "ดร.นิเวศน์" อธิบายต่อว่า เหตุผลที่ทำให้หุ้นคอร์เนอร์แตกมากที่สุด ก็คือการประกาศผลประกอบการที่ “น่าผิดหวัง” ซึ่งบ่งบอกถึงแนวโน้มว่าอนาคตก็จะยังไม่สดใสต่อ หรือในกรณีที่เลวร้ายก็คือ ผลประกอบการจะแย่ลง “อย่างถาวร” หรืออย่างน้อยอีก 2-3 ปี ข้างหน้า นอกจากนี้ สถานะของเศรษฐกิจและตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็เป็นปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้คอร์เนอร์แตก เพราะในสภาวะแบบนั้น นักเก็งกำไรที่เข้ามาเล่นหุ้นจะน้อยลง เช่นเดียวกับธุรกิจที่ซบเซาลง ซึ่งทำให้ยอดขายและกำไรของบริษัทด้อยหรือถดถอยลงด้วย 

และจากสถานการณ์ปัจจุบัน "ดร.นิเวศน์" จึงทำนายว่าภายในปีนี้ หรือบางทีก็อาจจะเร็ว ๆ นี้ หุ้นตัวใหญ่ระดับยักษ์จะประสบกับการ “คอร์เนอร์แตก” เกือบหมด และนั่น น่าจะกระทบกับดัชนีตลาดหุ้นไม่น้อย แต่อย่างไรก็ดี หากเกิดขึ้นจริง เชื่อว่าจะส่งผลทำให้ตลาดหุ้นซบเซาลงมากกว่า แต่ไม่ถึงกับวอดวาย หรือถ้าโชคดี ก็จะเป็นโอกาสที่การลงทุนในตลาดหุ้นไทยจะดีและยั่งยืนขึ้น เหตุผลก็เพราะว่า “สิ่งดี ๆ เล็ก ๆ” กำลังกลับมา ซึ่งตลาดอาจจะยังไม่ตระหนัก 

เริ่มตั้งแต่บริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ ที่มีกำไรเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะยังไม่มาก แต่ก็ค่อนข้างมั่นคง ส่วนหนึ่งเพราะบริษัทเหล่านี้ อาจไม่ได้ทุ่มลงทุนที่ต้อง “เสียเงิน” ไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนในตลาดหุ้นไม่ต้องการ และมองแต่เพียงว่าการสร้างกำไร คือสิ่งที่จะดีต่อหุ้นมากที่สุดในยุคนี้

ขณะที่หน่วยงานที่ดูแลกำกับตลาดหุ้นนั้น ในช่วงเวลานี้มีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารสูงสุดเกือบทั้งหมด จากคนที่ “ไม่สนับสนุนตลาดหุ้น” หรือมองว่า “ตลาดหุ้นเป็นของคนรวยที่มีเงินและเห็นแก่ได้” และ “ตลาดหุ้นไม่ได้มีความสำคัญต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ” เป็นคนที่น่าจะเข้าใจตลาดหุ้นได้ดีกว่า และที่สำคัญ พร้อมที่จะพัฒนาตลาดหุ้นให้เป็นแหล่งระดมทุนที่สำคัญแทนที่จะพยายามดูดเงินนักลงทุนผ่านระบบภาษีที่อาจจะทำลายตลาดหุ้นได้

เรื่องสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ "ดร.นิเวศน์" เชื่อว่าน่าจะเกิดขึ้นก็คือ การเปลี่ยนมุมมองและพฤติกรรมของนักลงทุนในตลาดหุ้น จากการเป็น “นักเก็งกำไร” ที่เน้นการเทรดหุ้นเพื่อทำกำไรอย่างรวดเร็ว กลายเป็น "นักลงทุนที่เน้นผลตอบแทนระยะยาว" ซึ่งมีปันผลเป็นผลตอบแทนที่สำคัญมากหรือมากที่สุด ในการเลือกหุ้นลงทุน โดยเฉพาะหุ้นที่สามารถจ่ายปันผลในระดับร้อยละ 5 ต่อปีและไม่ลดลงในอนาคต ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยและมากพอสำหรับนักลงทุนที่ไม่ได้หวังผลกำไรเท่านั้น 

และจากข้อสังเกตุทั้งหมดที่กล่าวมา "ดร.นิเวศน์" จึงสรุปเป็นความเห็รว่า นักลงทุน อาจจะต้องเตรียมตัวรับกับการที่หุ้นขนาดยักษ์คอร์เนอร์แตก ซึ่งจะทำให้ดัชนีตลาดตกลงมาแรง แต่ไม่ต้องหนีออกจากตลาด เพราะหุ้นขนาดใหญ่จำนวนมาก ราคาไม่แพงและสามารถลงทุนได้ โดยเฉพาะหุ้นที่ปันผลดีระดับร้อยละ 5 ต่อปีและยั่งยืน ซึ่งจะเป็นพอร์ตลงทุนในระยะยาวที่ให้ผลตอบแทนได้ถึงร้อยละ 6-7 ต่อปี โดยไม่เผชิญปัญหาขาดทุน

นอกเหนือไปจากนี้ "ดร.นิเวศน์" ยังเชื่อด้วยว่า พฤติกรรมในตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวดีขึ้น โดยภาพใหญ่ก็คือ การเก็งกำไรจะน้อยลงและการลงทุนจะมากขึ้น ในทางกลับกัน "หุ้นปั่น" โดยเฉพาะการคอร์เนอร์หุ้น น่าจะลดน้อยลงถ้าหน่วยงานควบคุมสามารถป้องกันก่อนที่ฟองสบู่จะเกิดขึ้นได้ 


ที่มาข้อมูล : ThaiVI.org

ที่มารูปภาพ : ThaiVI.org