"นครปฐม" ครองแชมป์ ที่ดินราคาพุ่ง +59.6 %

ราคาที่ดินย่านนครปฐม พุ่งแรงสูงสุด ราคาสูงขึ้นกว่า 59.6 %  ครองแชมป์ อันดับที่ 1 ราคาที่ดินเพิ่มสูงขึ้นสูงสุดในช่วงไตรมาสที่้ 4 ของปี 2567 


ส่วนที่ดินทำเลรถไฟฟ้า พบว่าพื้นที่โซน MRT สีแดงเข้ม (บางซื่อ - หัวลำโพง ) ราคาปรับเพิ่มสูงสุด 16. 4 %


ทิศทางราคาที่ดินในเมืองไทย ย่านชานเมืองกรุงเทพฯ และปริมณฑล ยังคงปรับตัวสูงขึ้นในหลายพื้นที่


ข้อมูลจากรายงาน “ดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนา ในกรุงเทพฯ - ปริมณฑล ไตรมาสที่ 4 ปี 2567” โดยศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)  พบว่าค่าดัชนีเท่ากับ 401.4 จุด เพิ่มขึ้น1.8 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเพิ่มขึ้น 2.6 % เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) 


เป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าโดยไตรมาส 4 ปี 2566 เพิ่มขึ้น 3.4 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งการชะลอตัวดังกล่าวเป็นผลจากการชะลอตัวของการลงทุนเพื่อพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โครงการใหม่ในช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมา ตามกำลังซื้อที่อยู่อาศัยที่ชะลอตัวตามเศรษฐกิจ ทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนใช้ความระมัดระวังในการตัดสินใจซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการ ส่งผลให้ความต้องการซื้อขายที่ดินเปล่าในกรุงเทพฯ - ปริมณฑลชะลอตัวลง และทำให้ราคาที่ดินเปล่าปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงด้วยเช่นกัน


สำหรับโซนที่มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้นสูงสุด 5 อันดับแรก เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (YoY) ยังคงเกาะกลุ่มอยู่ในพื้นที่ชานเมืองของกรุงเทพฯ และปริมณฑล


 ปัจจัยสำคัญมาจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ อาทิ โครงการก่อสร้างถนนทางหลวงและทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ทำให้การเดินทางเข้า-ออกเมืองได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ประกอบกับราคาที่ดินบริเวณชานเมืองยังคงมีราคาไม่สูงมากนัก ซึ่งผู้ประกอบการสามารถพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบได้ในราคาที่สอดคล้องกับกำลังซื้อของกลุ่มผู้ที่มีความต้องการที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน 


ขณะที่ราคาที่ดินในกรุงเทพชั้นในปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมาจากที่ดินเปล่ารอการพัฒนาในพื้นที่ดังกล่าวมีจำนวนจำกัด จึงทำให้การซื้อขายที่ดินที่มีขนาดแปลงไม่ใหญ่แต่มีมูลค่าสูง และมักถูกพัฒนาเป็นรูปแบบโครงการ Mixed-use ที่ประกอบด้วย อาคารสำนักงาน อาคารพาณิชยกรรม และอาคารที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุด 


ทำเลที่มีการเปลี่ยนแปลงราคาที่ดินสูงสุด 5 อันดับแรก ประกอบด้วย


อันดับ 1  ที่ดินย่านนครปฐม  +59.6 %


อันดับ 2  ที่ดินย่านสมุทรสาคร  +44.2 %


อันดับ 3  ที่ดินในย่านเมืองปทุมธานี-ลาดหลุมแก้ว-สามโคก + 27.3 %


อันดับ 4  ที่ดินย่านกรุงเทพชั้นใน (ประกอบด้วย เขตจตุจักร ห้วยขวาง ยานนาวา วัฒนา คลองเตย   พญาไท บางคอแหลม ป้อมปราบศัตรูพ่าย บางซื่อ ดินแดง ราชเทวี และบางรัก)    +16.4 %


อันดับ 5  ที่ดินย่านบางเขน-สายไหม-ดอนเมือง-หลักสี่-มีนบุรี-หนองจอก-คลองสามวา-ลาดกระบัง   + 1.2 %


"นครปฐม" ครองแชมป์  ที่ดินราคาพุ่ง +59.6 %

สรุปข่าว

รายงานราคาที่ดินในประเทศไทย จากศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2567 พบ ราคาที่ดินย่านนครปฐม พุ่งแรงสูงสุด ราคาสูงขึ้นกว่า 59.6 % ครองแชมป์ อันดับที่ 1 ส่วนที่ดินทำเลรถไฟฟ้า พบว่าพื้นที่โซน MRT สีแดงเข้ม (บางซื่้อ - หัวลำโพง ) ราคาปรับเพิ่มสูงสุด 16. 4 %

นอกจากนี้ REIC ยังได้จัดอันดับราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในแนวเส้นทางที่มีรถไฟฟ้าผ่าน พบว่าทำเลที่มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้นสูงสุดเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (YoY)


ส่วนใหญ่เป็นที่ดินที่มีโครงการรถไฟฟ้าเปิดให้บริการแล้ว และเป็นทำเลที่มีสถานีเชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟฟ้าหรือสามารถเดินทางเชื่อมถึงกันได้ง่าย โดย 5 อันดับแรกที่มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้นสูงสุด ประกอบด้วย


อันดับ 1 ได้แก่ รถไฟฟ้า MRT และรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-หัวลำโพง) 


มีค่าดัชนีเท่ากับ 590.3 จุด และ 581.1 จุด ตามลำดับ แต่มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้นเท่ากันคือ +16.4 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) 

โดยราคาที่ดินในพื้นที่คลองเตย ดินแดง และจตุจักร ซึ่งเป็นพื้นที่บริการตามแนวรถไฟฟ้า MRT เป็นบริเวณที่มีราคาปรับเพิ่มขึ้นมากที่สุด 


อันดับ 2 ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) และรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-มธ.รังสิต) 


รถไฟฟ้าทั้งสองสายเป็นโครงการที่เปิดให้บริการแล้ว มีค่าดัชนีเท่ากับ 540.2 จุด และ 531.9 จุด ตามลำดับ 

แต่มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้นเท่ากัน คือ +15.6 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) 

ราคาที่ดินในพื้นที่ธัญบุรี สามโคก และคลองหลวง ซึ่งเป็นพื้นที่บริการตามแนวที่รถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม เป็นบริเวณที่มีราคาปรับเพิ่มขึ้นมาก


อันดับ 3 ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีเขียว (คูคต-ลำลูกกา) 


มีค่าดัชนีเท่ากับ 345.6 จุด โดยมีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดิน +10.1 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY)  

ราคาที่ดินในพื้นที่ลำลูกกา และสายไหม เป็นบริเวณที่มีราคาปรับเพิ่มขึ้นมาก


อันดับ 4 ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-เตาปูน)


มีค่าดัชนีเท่ากับ 469.3 จุดโดยมีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดิน +10.0 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) 

ราคาที่ดินในพื้นที่บางบัวทอง จตุจักร และบางซื่อ เป็นบริเวณที่มีราคาปรับเพิ่มขึ้นมาก


อันดับ 5 ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-บางแค), รถไฟฟ้าสายสีทอง (ธนบุรี - ประชาธิปก) และสายสีส้ม (ตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม) 


โดยรถไฟฟ้าทั้งสามสายมีค่าดัชนีเท่ากับ 570.8 จุด 562.6 จุด และ 553.9 จุด ตามลำดับ แต่มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้นเท่ากัน คือ 9.2  % เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) 

ราคาที่ดินในพื้นที่ภาษีเจริญ ธนบุรี และบางกอกใหญ่ ซึ่งเป็นพื้นที่บริการของรถไฟฟ้าทั้ง 2 สาย เป็นบริเวณที่มีราคาปรับเพิ่มขึ้นมากที่สุด