
ในสภาวะการลงทุนที่เต็มไปด้วยความผันผวน มีความไม่แน่นอนสูง ปัจจัยเชิงลบมากมายต่างถาโถมกดดันตลาดหุ้นไทยมาอย่างต่อเนื่อง นักลงทุนหลายคนต่างปรับกลยุทธ์การลงทุนเพื่อเอาตัวรอดในสถานการณ์ที่ยากลำบาก แต่หลายคนก็ใช้ทุกลยุทธ์จนคล้ายกับว่า "ยิ่งแก้ยิ่งแย่"
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนเน้นคุณค่า หรือ Value Investor ชื่อนี้มีบทบาทในเรื่องของแนวคิดการลงทุนอยู่เสมอ ล่าสุดเค้ากำลังจะหันหลังให้กับตลาดหุ้นไทย พร้อมกับให้เหตุผลว่า "ถือเงินสดไว้ เพื่อรักษาความมั่งคั่งจะดีกว่า" อะไรทำให้ดร.นิเวศน์ถึงมีแนวคิดแบบนั้น

สรุปข่าว
เหตุผลแรกที่ดร.นิเวศน์ให้ไว้คือดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา “เลวร้าย” มาก คือปี 2565 บวกแค่ 0.7% ปี 2566 ติดลบ 15.2% และปี 2567 ติดลบ 1.1% ในขณะที่ตลาดหุ้นโลกสดใส ส่วนเดือนแรกของปี 2568 ก็ติดลบไปแล้ว 6.1%
ซึ่งถ้าเป็นตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ถ้านับเพียงปัจจัยทางเทคนิคก็จะเป็นโอกาสที่ดัชนีจะฟื้นตัวในปีนี้ แต่ดร.นิเวศน์ในฐานะของคนที่เน้นเรื่องของ “พื้นฐาน” เป็นหลัก “กลับคิดต่างออกไป” ด้วยเหตุผลว่าตลาดหุ้นไทยเปลี่ยนแปลงไปแล้ว และจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนกลยุทธ์การลงทุน
เหตุผลที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ หุ้นที่ตกลงมานั้นเกิดขึ้นในแทบทุกกลุ่มอุตสาหกรรม และแทบทุกกลุ่มหุ้น หุ้นเก็งกำไร หุ้นปั่น หุ้นพื้นฐาน หุ้นปันผล โดนเทกันถ้วนหน้า ไม่เว้นแม้แต่หุ้นที่เติบโตสูง หรือหุ้นคอร์เนอร์ ก็ไม่รอด ราคาหุ้นตกลงมาเรื่อย ๆ ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีเหตุการณ์อะไรรุนแรงเกิดขึ้นกับบริษัท
ซึ่งในมุมมองของดร.นิเวศน์นั้นการที่หุ้นตกลงมาในรอบนี้ บางทีอาจจะเป็นเพียง "จุดเริ่มต้น" เท่านั้น ยังไม่หมดรอบ เพราะเหตุผลที่ทำให้หุ้นตกนั้นยังคงอยู่ครบถ้วน ไม่ขาดตกปัจจัยไหนไปเลย ไม่ว่าจะเป็น การเติบโตของ GDP ที่ดูแล้วจะยังไม่ดีขึ้น
อัตราดอกเบี้ยที่น่าจะ “คงที่” ไม่ลดลงอย่างที่คาดหวัง ซึ่งจะคอยฉุดรั้งทั้งตลาดหุ้นไทย และทั่วโลกไม่ให้ไปไหน กำไรของบริษัทจดทะเบียนไทยน่าจะยังไม่ฟื้นตัว จากการบริโภคในประเทศที่อ่อนแอ เพราะเศรษฐกิจเปราะบาง อสังหาริมทรัพย์ และรถยนต์ยังไม่ฟื้นตัว และสุดท้ายคือตลาดหุ้นไทยโดยรวมมีราคาแพง วัดจากค่า PE ที่สูงถึง 18 เท่า
การปรับกลยุทธ์จาก "รุก" เป็น "รับ" ในมุมมองของดร.นิเวศน์จึงมีความสำคัญมาก เพราะถ้าหากไม่มีหุ้นกลุ่มไหนที่เป็นหุ้นปลอดภัยแล้ว การไม่ลงทุนเลย และถือเงินสดให้มากที่สุดน่าจะเป็นวิธีที่ดี และปลอดภัยที่สุดในการรักษาความมั่งคั่งเอาไว้เท่ากับของเดิม หรือใกล้เคียงกับของเดิมมากที่สุด
แต่การจะลดสัดส่วนของพอร์ตการลงทุนในหุ้นของนักลงทุนรายใหญ่ ๆ อาจจะไม่ได้ทำได้ง่ายเหมือนนักลงทุนรายย่อยทั่วไป โดยเฉพาะการลดสัดส่วนหุ้นที่มีราคาแพง และอาจจะไม่เติบโตเท่าที่ควรในช่วง 1-2 ไตรมาสข้างหน้า การเทขายหุ้นออกมาในช่วงตลาดขาลงแบบนี้ จะมีผลกระทบต่อราคาค่อนข้างมาก และจำทำให้เกิดอาการตื่นตระหนก ทำให้มีแรงเทขายออกมาอีก ราคาจะยิ่งลงหนักเข้าไปอีก ส่งผลให้พอร์ตเสียหายหนักได้ จำเป็นที่จะต้องทยอยขาย
ส่วนหุ้นที่ราคาไม่แพง แต่ก็ไม่มีอะไรโดดเด่น เงินปันผลก็ไม่ได้สูงแค่ระดับ 3-4% ก็ควรขายออกไปเพื่อเก็บเงินสด แม้ว่าเงินสดจะให้ผลตอบแทนแค่ 1% แต่ก็ไม่มีความเสี่ยงที่จะลดลง ในขณะที่หุ้นมีพื้นฐานดีพอสมควร และเงินปันผลก็อยู่ในระดับที่น่าพอใจ ราคาไม่แพง PE ก็แค่ 10 เท่าต้น ๆ ก็ควรถูกกขายออก เพราะความเสี่ยงที่หุ้นจะตกลงไปจากสถานการณ์ในปัจจุบันอาจจะรุนแรงกว่าที่คิด
ส่วนหุ้นที่ยังพอจะถือไว้ได้ก็จะเป็นในกลุ่มที่ราคาถูกมาก PE ต่ำกว่า 10 เท่า และเงินปันผลมากกว่า 5-6% รวมถึงมีหนี้น้อย ก็อาจจะพอสร้างผลตอบแทนได้บ้าง ในขณะที่ผลกระทบด้านราคาค่อนข้างจำกัด
ในอีกฟากหนึ่งก็คือตลาดอเมริกา ที่เต็มไปด้วยซุปเปอร์สต็อก ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมามาก มีราคาค่อนข้างแพง PE ระดับ 30 เท่า เป็นหุ้นที่มีความเสี่ยงสูงมากด้านราคา จากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี และภูมิรัฐศาสตร์ที่สามารถเกิดผลกระทบรุนแรงกับราคาหุ้นได้ในชั่วข้ามคืน
แล้วตลาดไหนที่จะยังมีความน่าสนใจอยู่บ้าง ดร.นิเวศน์ได้ให้มุมมองที่เป็นเชิงบวกกับตลาดที่มีการเติบโตได้ดีต่อเนื่องอย่าง "หุ้นเวียดนาม" โดยเฉพาะหุ้นที่มีราคาถูก PE 10-15 เท่า และเป็นธุรกิจใหม่ที่เติบโตได้ตามเศรษฐกิจ รวมถึงหุ้นที่มีคุณสมบัติสูงมาก และเป็นหุ้นซุปเปอร์สต็อก ถ้า PE อยู่ในระดับไม่เกิน 25 เท่า และการเติบโตของรายได้ หรือกำไรอยู่ในระดับ 2 หลัก ความเสี่ยงที่หุ้นจะตกมาแรง และทำลายความมั่งคั่ง จะมีโอกาสน้อยเมื่อเทียบกับหุ้นไทย
สุดท้ายดร.นิเวศน์ ได้ให้มุมมอง "เรื่องธรรมชาติ" ที่ว่าเมื่อรวยพอแล้ว ถ้ารวยเพิ่มอีก ความพึงพอใจส่วนเพิ่มนั้นกลับน้อยลงเรื่อย ๆ แต่ถ้ารวยอยู่แล้วเกิดจนลง หรือความมั่งคั่งน้อยลง จะได้รับความเจ็บปวดมากเป็นทวีคูณ
เพราะฉะนั้น อย่าต้องการเพียงความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้น แต่จงคิดถึงวิธีที่จะรักษาความมั่งคั่งให้คงอยู่ตลอดไป ซึ่งก็ไม่ใช่การถือเงินสดแล้วออยู่เฉย ๆ แต่เป็นการลงทุนที่มีความยืดหยุ่น ยึดความปลอดภัยโดยเฉพาะในยามที่ตลาดไม่เอื้ออำนวย