
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการขับเคลื่อนนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดเส้นทาง โดยระบุว่า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้รายงานว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำแผนการขับเคลื่อนนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดเส้นทาง ในส่วนรถไฟฟ้าภายใต้การกำกับของ รฟม.
ทั้งนี้กระบวนการในการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนจะต้องดำเนินตามมาตรา 46-48 ของ พ.ร.บ. การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โดยมีแผนดังนี้
1. แผนการดําเนินงาน กรณีแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโดยการแก้ไขสัญญามีหลักการแตกต่างจากหลักการและเงื่อนไขสำคัญของโครงการร่วมลงทุน
2. แผนการดําเนินงาน กรณีแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโดยหลักการและเงื่อนไขสำคัญของโครงการร่วมลงทุนคงเดิม
3. แผนการดําเนินงานระบบตั๋วร่วม EMV ในรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและชมพู

สรุปข่าว
โดยในส่วนของ “แก้ไขสัญญาร่วมลงทุน” ได้มอบหมายหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หารือร่วมกันเพื่อหาข้อสรุปที่เหมาะสม โดยขณะนี้กรมขนส่งทางราง (ขร.) ได้จัดทำข้อกำหนดทางธุรกิจ (Business Rule) เช่น เงื่อนไขการเดินทาง การคิดอัตราค่าโดยสาร การจัดแบ่งและชดเชยรายได้ และแหล่งเงินชดเชย เป็นต้น
ส่วนระยะต่อไป รฟม.จะเข้าเจรจากับภาคเอกชนที่ได้รับสัมปทาน เพื่อแก้ไขสัญญาสัมปทานต่อไป หลังจากนั้นจะเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. พิจารณา และภายในเดือน ส.ค.2568 จะเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาเห็นชอบ หลังจากนั้น รฟม.จะดำเนินการลงนามแก้ไขสัญญาฯ ดังนั้นกระบวนการต่างๆ จะแล้วเสร็จทั้งหมด ก่อนที่มาตรการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย จะเริ่มภายในช่วงเดือน ก.ย.2568
ทั้งนี้นโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย จะดำเนินการครอบคลุมรถไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 8 สายทาง โดยในระยะแรกผู้ที่จะได้รับสิทธิ์ค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย จำกัดเฉพาะผู้ที่มีเลขบัตรประชาชนไทย 13 หลักเท่านั้นและต้องลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” เพื่อยืนยันตัวตน คาดว่าจะเปิดให้ลงทะเบียนในช่วงเดือน ส.ค.นี้
ขณะเดียวกัน กระทรวงคมนาคม จะเร่งดำเนินการพัฒนาในระยะที่ 2 คาดว่าภายใน 2569 จะมีการเปลี่ยนไปใช้ระบบสแกนชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายผ่านช่องทาง QR Code บนโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะทำให้ในอนาคตไม่จำเป็นต้องใช้บัตรโดยสารอีกต่อไป