สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า เชนร้านชาไข่มุกที่ใหญ่ที่สุดในจีน Mixue (มี่เสวี่ย) ตั้งเป้าระดมทุนเป็นมูลค่ากว่า 3,450 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง หรือกว่า 14,800 ล้านบาท จากการเสนอขายหุ้นต่อสาธารณะครั้งแรก (IPO)
โดยเริ่มขายแล้ว ตั้งแต่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา จำนวนรวม 17.1 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 202.5 ดอลลาร์ฮ่องกง และจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ในวันจันทร์ที่ 3 มีนาคม ที่จะถึงนี้ และข้อมูลจากเอกสารไฟลิ่งที่ยื่นต่อ ก.ล.ต.ฮ่องกง ยังระบุอีกว่า บริษัทฯ จะมีมูลค่าธุรกิจอยู่ที่ราว 9,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นประมาณ 328,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี การขาย ไอพีโอ ครั้งนี้ ได้ลดขนาดลงจากปีที่แล้ว ที่ มี่เสวี่ย เคยมีแผนจะระดมทุน รวมเป็นมูลค่ากว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเกี่ยวกับประเด็นนี้ รอยเตอร์ อ้างแหล่งข่าว บอกว่า การลดขนาด ไอพีโอลง เพราะ บริษัทฯ ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการใช้เงินมากนัก
สรุปข่าว
รอยเตอร์ส รายงานอีกว่า มี่เสวี่ย ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2540 ในเมืองเจิ้งโจว ทางตอนเหนือ โดย จาง หงเชา (Zhang Hongchao) เป็นผู้ก่อตั้ง และมีชื่อเสียงจากตัวมาสคอต ที่ชื่อว่า สโนว์ คิง (Snow King)
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วในกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ และเป็นที่รู้จักดี จากการขายเครื่องดื่มผลไม้ ชาและกาแฟ รวมถึงไอศกรีม ในราคาประมาณ 1 ดอลลาร์ (เท่านั้น)
จากเอกสารไฟลิ่ง ระบุอีกว่า มี่เสวี่ย มีร้านค้าหรือสาขาในจีนแผ่นดินใหญ่กว่า 45,000 สาขา รวมถึงสาขาในต่างประเทศ ครอบคลุม 11 ประเทศ ซึ่งเป็นสาขาแฟรนไชส์เกือบทั้งหมด หรือคิดเป็นร้อยละ 99 แต่บริษัทฯ ก็ไม่ได้พึ่งพารายได้จากค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์เป็นหลัก เพราะค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์นั้น คิดเป็นเพียงร้อยละ 2.4 ของรายได้รวม (โดยเป็นข้อมูล ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2567) แต่รายได้ส่วนใหญ่มาจากการขายสินค้า และอุปกรณ์ให้กับร้านค้าแฟรนไชส์ ที่จะต้องซื้อสินค้าจากบริษัทฯ เท่านั้น
จู ตันเผิง (Zhu Danpeng) นักวิเคราะห์ด้านอาหารและเครื่องดื่มอิสระ คาดการณ์ว่า มี่เสวี่ย ยังมีช่องทางการเติบโตในจีนได้อีกมาก เพราะปัจจุบัน ในเขตนอกเมืองเช่น ตำบล และหมู่บ้านต่าง ๆ ยังมีร้านค้าขนาดเล็กที่ไม่ได้มาตรฐานอีกจำนวนมาก และเท่าที่รู้คือมีมากกว่า 200,000 ร้าน และอาจถูกแทนที่ด้วยแบรนด์ร้าน มีเสวี่ย ก็เป็นได้
ส่วนผลประกอบการงวดที่มีการเปิดเผยล่าสุด คือ 9 เดือนแรกของปีที่แล้ว รายงานว่า บริษัทฯ มีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 เป็น 18,700 ล้านหยวน หรือราว 2,600 ล้านดอลลาร์ และมีกำไรเพิ่มขึ้นร้อยละ 42 เป็น 3,500 ล้านหยวน โดยเครื่องดื่มหลัก จะมีราคาตั้งแต่ 2 หยวน ไปจนถึง 8 หยวน ซึ่งถูกกว่าราคาเครื่องดื่มของแบรนด์ท้องถิ่นรายใหญ่อีกด้วย
ทั้งนี้ นอกจากจะเป็นร้านชาไข่มุกหรือเชนร้านเครื่องดื่มที่มีขนาดใหญ่สุดในจีนแล้ว ในแง่ของจำนวนสาขา มี่เสวี่ย ยังเป็นเชนร้านฟาสต์ฟู้ดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย แซงหน้าแบรนด์ตะวันตกทั้ง สตาร์บัคส์ และแมคโดนัลด์ ไปแล้ว
จากเอกสารไฟลิ่งของ มี่เสวี่ย ระบุว่า ณ วันที่ 30 กันยายน ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ มีสาขาร้านค้าทั่วโลกทั้งสิ้น 45,302 แห่งทั่วโลก ซึ่งมากกว่า แมคโดนัลด์ ที่มีสาขาอยู่จำนวน 43,000 แห่ง และ สตาร์บัคส์ มีจำนวน 40,199 แห่ง และเป็นการขยับจากก่อนหน้านี้ อยูู่อันดับที่ 4 ขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ของโลก ภายในปีเดียว
ซึ่งมีสาขามากกว่าแบรนด์กาแฟสัญชาติจีนรายใหญ่ อย่าง ลักกิน คอฟฟี่ (Luckin Coffee) อีกด้วย โดย ณ วันที่ 30 กันยายน ปีที่ผ่านมา ลักกิน คอฟฟี่ มีสาขาอยู่จำนวน 21,343 แห่ง
และสำหรับสาขาในต่างประเทศของ มีเสวี่ย จากข้อมูล พบว่ามีจำนวนประมาณ 4,792 สาขา และมี่เสวี่ย ถือเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก ของร้านอาหารและเครื่องดื่มจีน ในการขยายตลาดสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย โดยจากข้อมูล ที่ อินโดนีเซีย มีสาขาของ มี่เสวี่ย มากที่สุด จำนวน 2,667 สาขา รองมาคือเวียดนาม 1,304 สาขา ส่วนอันดับ 3 เป็นมาเลเซีย 337 สาขา
ส่วนไทย อยู่อันดับ 4 ด้วยสาขาจำนวน 272 สาขา นอกจากนี้ มีที่ฟิลิปปินส์ จำนวน 98 สาขา, กัมพูชา 40 สาขา, ลาว 22 สาขา, สิงคโปร์ 22 สาขา, ออสเตรเลีย 12 สาขา, เกาหลีใต้ 7 สาขา และญี่ปุ่น 5 สาขา
นอกจากนี้ จากรายงานข่าวของ สำนักข่าวซินหัว ล่าสุด ระบุว่า ณ วันที่ 31 ธันวาคม ปีที่ผ่านมา มี่เสวี่ย ปิงเฉิง (Mixue Bingcheng) มีสาขารวมกันทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น เป็นจำนวน 46,479 แห่ง (เป็นตัวเลขครบทั้งปี) และมียอดขายเครื่องดื่มเป็นจำนวนกว่า 9,000 ล้านแก้วในปีที่ผ่านมา
ก่อนหน้านี้ มีรายงานข่าวด้วยว่า หลังจากร้านชานมไข่มุกแบรนด์จีน เติบโตได้อย่างก้าวกระโดดภายในประเทศจีนเอง ทำให้ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หลายราย มีการขยายออกสู่ตลาดต่างประเทศกันมากขึ้น
โดยแบรนด์ชาจีนสไตล์ใหม่ 2 รายใหญ่ในจีน คือ มี่เสวี่ย และ กูหมิง (ที่ขายหุ้น ไอพีโอ ไปก่อนหน้าไม่นานนี้) ส่วนอันดับ 3 คือ ชาแพนด้า
ซึ่ง หวาง หงเสวี่ย (Wang Hongxue) กรรมการบริหารของ ชาแพนด้า (ChaPanda) บอกว่า เขายังมองเห็นโอกาสการเติบโต ทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการเติบโตภายในประเทศเอง โดย ชาแพนด้า เปิดสาขาแรกในต่างประเทศที่เกาหลีเมื่อปี 2023 ที่ผ่านมา
เช่นเดียวกับ เฮย์ที (Heytea) ที่ผุดสาขาในนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนธันวาคม ในปี 2023 เช่นกัน
ด้าน เจสัน หยู กรรมการผู้จัดการของ กันตาร์ เวิลด์พาเนล (Kantar Worldpanel) บริษัทวิจัยตลาด ให้ความเห็นว่า แบรนด์ชานม มีเสน่ห์ดึงดูดมากกว่าเมื่อเทียบกับร้านกาแฟทั่วไป โดย บริษัทฯ ต่าง ๆ ในจีน ที่อยู่ภายใต้แรงกดดันของการแข่งขัน ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ เป็นการยกระดับให้ชานม เป็นมากกว่าแค่ชานม โดยจะเป็นเครื่องดื่มที่สามารถผสมผสานทุกอย่างเท่าที่จะจินตนาการได้
ส่วน มาร์ก แทนเนอร์ (Mark Tanner) กรรมการผู้จัดการ ไชน่า สกินนี่ (China Skinny) บริษัทที่ปรึกษาด้านการสร้างแบรนด์ ในเซี่ยงไฮ้ มองว่า ชานม เป็นสินค้าประเภทที่มีองค์ประกอบของความภาคภูมิใจในชาติ ที่ผูกโยงกับความต้องการ ต่างจากกาแฟ ที่เป็นสินค้าจากต่างประเทศ แต่ชา เป็นสินค้าของจีนเอง ขณะเดียวกัน นวัตกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ล้วนเป็นแรงผลักดันให้ผู้บริโภครุ่นใหม่จำนวนมากหันมาสนใจดื่มชารูปแบบใหม่ หรือสไตล์ใหม่นี้ กันมากขึ้น
ขณะที่ บลูมเบิร์ก รายงานว่า ตลาดชนนมไข่มุกในจีนแผ่นดินใหญ่ มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 71,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีการแข่งขันสูงด้วยการทำสงครามราคากันอย่างสม่ำเสมอ
อย่างไรก็ดี มี่เสวี่ย อยู่ในตำแหน่างที่ดีกว่าคู่แข่งรายอื่น ๆ เช่น นายูกิ(Nayuki) และ กูหมิง (Guming) เพราะมีห่วงโซ่อุปทานที่กว้างขวางและเข้มแข็งกว่า รวมถึงกลยุทธ์การวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ให้อยู่ในกลุ่มเครื่องดื่มราคาประหยัด และแนวทางในเชิงกลยุทธ์นี้ ทำให้ มี่เสวี่ย สามารถขยายตัวได้อย่างรวดเร็วทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ที่มาข้อมูล : Reuters, Bloomberg
ที่มารูปภาพ : -