ผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ของสำนักข่าวรอยเตอร์ที่เผยแพร่วันนี้ (24 ก.พ.) ระบุว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.25% ในการประชุมวันที่ 26 ก.พ.นี้ และอาจปรับลดเพียงครั้งเดียวในปี 2568 เพื่อรักษาพื้นที่นโยบายในการรับมือความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก
ผลสำรวจระหว่างวันที่ 14-21 ก.พ. พบว่า นักเศรษฐศาสตร์ 16 จาก 26 คน หรือกว่า 60% คาดว่า ธปท.จะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25% ขณะที่อีก 10 คน คาดว่าจะลดลง 0.25%
ด้านแนวโน้มระยะยาว นักเศรษฐศาสตร์ 17 จาก 23 คน คาดว่า ธปท.จะลดดอกเบี้ย 0.25% ลงมาอยู่ที่ 2.00% ภายในสิ้นเดือนมิ.ย.นี้ โดยมี 2 คน คาดว่าจะลดลงไปอยู่ที่ 1.75% และอีก 4 คน คาดว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง
สรุปข่าว
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 2567 ขยายตัว 3.2% สูงสุดในรอบกว่า 2 ปี และเงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมาย 1-3% แล้ว ขณะที่ธปท.อาจรอดูผลมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล รวมถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ตก่อนตัดสินใจดำเนินนโยบายเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเสี่ยงจากอุปสงค์ที่ลดลงของจีน ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญ และนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่อาจกระทบภาคการค้าและการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นหัวใจหลักของเศรษฐกิจไทย
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ (BBL) กล่าวว่า มองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีรูมในการ “ลดอัตราดอกเบี้ย” ได้ ทั้งดูจากปัจจุบันที่ “เงินเฟ้อ” อยู่ระดับที่เหมาะสม และไม่ใช่ปัญหา และอยู่ในทิศทางขาล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อด้วย
ทั้งนี้ ปัจจัยเหล่านี้ก็เอื้อต่อการลดดอกเบี้ยได้ และหากดูอัตราดอกเบี้ยที่เป็นกลาง หรือ Neutral Real Interest Rate มองว่าระดับเหมาะสมอยู่ที่ 2-2.50% ดังนั้น มองว่าอัตราดอกเบี้ยมีรูมให้สามารถลดลงได้อีก
อย่างไรก็ตาม มองว่าจังหวะเหมาะสมคือ หลังวันที่ 1 เม.ย.2568 ที่จะเห็นได้ชัดเจนว่า “นโยบายทรัมป์” จะเป็นอย่างไร ซึ่งเชื่อว่าประเทศไทยมี “ความเสี่ยงสูง” ในการเป็นหนึ่งในเป้าหมายของ “โดนัลด์ ทรัมป์” หากมีการเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้น