วิจัยกรุงศรีเผยแพร่รายงานเรื่อง "คาร์บอนฟุตพริ้นท์ ข้อมูลสำคัญในยุคโลกเดือด" โดยนายประพันธ์ ลีน้อย นักวิเคราะห์ วิจัยกรุงศรี ระบุว่า เมื่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกลายเป็นวาระเร่งด่วนระดับโลก การดำเนินธุรกิจในปัจจุบันจึงต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งคาร์บอนฟุตพริ้นท์หรือปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมของธุรกิจ ถือเป็นข้อมูลสำคัญที่ใช้ประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุนี้กฎเกณฑ์ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศจึงกำหนดให้ภาคธุรกิจต้องวัดและรายงานคาร์บอนฟุตพริ้นท์มากขึ้น
คาร์บอนฟุตพริ้นท์ คือปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมของธุรกิจ ผลิตภัณฑ์ หรือบริการต่างๆ โดยประกอบด้วยก๊าซหลายชนิดจากหลายแหล่งที่มา อาทิ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ก๊าซมีเทน (CH4) จากกิจกรรมปศุสัตว์และการฝังกลบขยะ ก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O) จากภาคเกษตรกรรม และกลุ่มก๊าซฟลูออรีน (F-gases) จากกระบวนการอุตสาหกรรมและสารทำความเย็น ซึ่งก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น
ทั้งนี้ เนื่องจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มีปริมาณมากที่สุดราว 3 ใน 4 ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดทั่วโลก เราจึงนิยมวัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาในหน่วยคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (Carbon Dioxide Equivalent: CO2e) และเรียกรวมกันว่า “คาร์บอนฟุตพริ้นท์”
ภาคธุรกิจโดยทั่วไปนิยมวัดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ใน 2 ระดับ ได้แก่ ระดับผลิตภัณฑ์ และระดับองค์กร ซึ่งมีรายละเอียดการวัดแตกต่างกัน ดังนี้
1.คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint of Product: CFP) ซึ่งครอบคลุมการปล่อยคาร์บอนตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การกระจายสินค้า การใช้งาน ไปจนถึงการกำจัดเมื่อหมดอายุการใช้งาน ทั้งนี้ CFP จะช่วยให้ผู้บริโภครู้ว่าตลอดชีวิตของผลิตภัณฑ์มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าใด ซึ่งใช้เป็นข้อมูลประกอบการเลือกซื้อสินค้าและบริการได้
2. คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization: CFO) จะครอบคลุมการปล่อยคาร์บอนจากกิจกรรมต่างๆ ของภาคธุรกิจ โดยแบ่งการปล่อยคาร์บอนออกเป็น 3 ขอบเขต (Scope)
Scope 1: การปล่อยทางตรงจากกิจกรรมของธุรกิจ เช่น การใช้รถยนต์หรือรถบรรทุกของบริษัท การใช้เครื่องจักรในโรงงาน การใช้เตาอบ การรั่วไหลของสารทำความเย็นจากตู้แช่ในร้านอาหาร
Scope 2: การปล่อยทางอ้อมจากการใช้พลังงานที่ซื้อจากผู้ผลิตพลังงานภายนอก เช่น การใช้ไฟฟ้าในสำนักงานหรือร้านค้า การใช้เครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความร้อนในโรงแรม
Scope 3: การปล่อยทางอ้อมอื่นๆ ตลอดห่วงโซ่ธุรกิจทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ ซึ่งองค์กรไม่สามารถควบคุมได้โดยตรง เช่น การเดินทางของพนักงาน การจัดหาวัตถุดิบจากซัพพลายเออร์ การขนส่งสินค้า การกำจัดของเสีย
วิจัยกรุงศรี ระบุว่าจากการวิเคราะห์สถานะการรายงานคาร์บอนฟุตพริ้นท์โดยสมัครใจกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. และการรายงานตามข้อกำหนดของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
พบว่า ในช่วงที่ผ่านมา องค์กรในไทยให้ความสำคัญกับการวัดคาร์บอนฟุตพริ้นท์มากขึ้น สะท้อนจากจำนวนองค์กรที่ผ่านการรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์โดย อบก. ในช่วงปี 2563-2567 ที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยเกือบ 40% ต่อปี
โดย ณ วันที่ 8 มกราคม 2568 มีองค์กร 711 แห่งที่ผ่านการรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (CFO) และยังอยู่ในอายุสัญญา (อายุสัญญา 1 ปี) ส่วนบริษัท 437 แห่งผ่านการรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ (CFP) ซึ่งบริษัทเหล่านี้มีสินค้าและบริการที่อยู่ในอายุการรับรอง CFP (อายุรับรอง 3 ปี) รวมกันกว่า 6,000 รายการ
เมื่อวิเคราะห์สถานะการรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์รายอุตสาหกรรม พบว่า ธุรกิจอาหาและเครื่องดื่มผ่านการรับรอง CFO มากที่สุด รองลงมา ได้แก่ ธุรกิจบริการและสำนักงาน พลาสติกและบรรจุภัณฑ์ วัสดุก่อสร้าง ไฟฟ้า ยานยนต์ ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ตามลำดับ
นอกจากนี้ ธุรกิจอาหารยังผ่านการรับรอง CFP มากที่สุด โดยมีบริษัท 100 แห่งที่มีผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้ฉลาก CFP ตามมาด้วยธุรกิจวัสดุก่อสร้าง (64 แห่ง) ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ (50 แห่ง)
ดังนั้นในภาพรวมจะเห็นได้ว่า "ธุรกิจอาหาร" และ "ภาคบริการ" เป็นผู้นำด้านการวัดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ตามมาด้วยกลุ่มอุตสาหกรรมหนักและธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอนเข้มข้นซึ่งเป็นเป้าหมายของมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (EU-CBAM) ได้แก่ ซีเมนต์ ไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็ก อะลูมิเนียม และไฮโดรเจน ซึ่งผู้ส่งออกสินค้า 6 กลุ่มนี้ต้องจัดเตรียมข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของสินค้าที่ส่งไปยังยุโรป ตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2566
สรุปข่าว
สำหรับการรายงานคาร์บอนฟุตพริ้นท์ตามข้อกำหนดสำหรับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (บริษัทจดทะเบียน) ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ( ก.ล.ต.) กำหนดให้บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (ESG) ตามแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี/รายงานประจำปี (แบบ 56-1 One Report) เริ่มใช้บังคับตั้งแต่รอบปี 2565 ซึ่งครอบคลุมถึงการรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก Scope 1 และ 2 จากการดำเนินธุรกิจด้วย
จากการวิเคราะห์ข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SETSMART) ณ ปลายเดือนธันวาคม 2567 พบข้อสังเกตเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่น่าสนใจว่า
บริษัทจดทะเบียนที่รายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประจำปี 2566 มีจำนวน 458 ราย คิดเป็นราวครึ่งหนึ่งของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด โดยจำนวนและสัดส่วนบริษัทที่รายงานฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2563-2566
อย่างไรก็ตาม บริษัทที่ผ่านการทวนสอบปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์มีเพียง 60% ของบริษัทที่รายงาน หรือไม่ถึง 1 ใน 3 ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด สะท้อนว่ายังต้องผลักดันให้เกิดการรายงานและตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลก๊าซเรือนกระจกที่รายงานต่อไป
เมื่อพิจารณาตาม "ขอบเขต" (Scope) ของการปล่อยคาร์บอน พบว่าบริษัทจดทะเบียนเกินครึ่งหนึ่งสามารถรายงานคาร์บอนฟุตพริ้นท์ Scope 1 หรือ Scope 2 ได้ ขณะที่มีบริษัทเพียง 1 ใน 3 ที่รายงาน Scope 3 เนื่องจากการเก็บข้อมูลการปล่อยคาร์บอน Scope 3 มีความซับซ้อนและเกี่ยวโยงกับกิจกรรมทั้งต้นน้ำและปลายน้ำของธุรกิจ จึงมีเพียงบริษัทที่มีความพร้อมจึงจะสามารถรายงานการปล่อยคาร์บอน Scope 3 ได้ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจทรัพยากรและธุรกิจการเงินซึ่งมีสัดส่วนการรายงานสูงที่สุด แต่ก็ยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งของบริษัททั้งหมดในกลุ่ม
อย่างไรก็ดี ในภาพรวมอุตสาหกรรมที่ดูมีความพร้อมมากที่สุดในการรายงานคาร์บอนฟุตพริ้นท์คืออุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร รองลงมา ได้แก่ ธุรกิจพลังงาน และธุรกิจการเงิน
ทั้งนี้ ในปี 2566 บริษัทจดทะเบียนที่เปิดเผยข้อมูลมีปริมาณการปล่อยคาร์บอนรวมกัน 633.7 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2e) หรือเฉลี่ย 1.4 MtCO2e ต่อบริษัท ซึ่งลดลงร้อยละ 14.2 จากค่าเฉลี่ยปีก่อนหน้าที่ 1.6 MtCO2e
โดยวิจัยกรุงศรีพบว่า ธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอนเข้มข้นมักเปิดเผยข้อมูลในระดับสูงด้วย โดยเฉพาะธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภคซึ่งปล่อยคาร์บอนรวมกันมากที่สุด ราว 2 ใน 3 ของปริมาณคาร์บอนทั้งหมด นอกจากนี้ ธุรกิจคาร์บอนเข้มข้นอื่นๆ ที่เปิดเผยข้อมูลมาก ได้แก่ ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ (71.4%) และปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ (64.3%)จะเห็นว่าธุรกิจคาร์บอนสูงเหล่านี้มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น
ขณะที่ธุรกิจรายใหญ่มีระดับการเปิดเผยข้อมูลสูงกว่ารายเล็กถึงสองเท่า โดยในปี 2566 บริษัทขนาดใหญ่ (Large Cap) เปิดเผยข้อมูลคาร์บอนในสัดส่วนถึง 94.4% ซึ่งมากกว่าบริษัทขนาดกลาง (Mid Cap) ที่ 82.9% และบริษัทขนาดเล็ก (Small Cap) ที่ 47.2% เนื่องจากการเก็บข้อมูล การคำนวณ การจ้างที่ปรึกษา และการทวนสอบข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ล้วนต้องใช้ทรัพยากรทางการเงินและความรู้
โดยสรุปข้อมูลการรายงานคาร์บอนฟุตพริ้นท์จาก อบก. และ SET สะท้อนให้เห็นว่า "อุตสาหกรรมอาหาร" และ "บริการทางการเงิน" มีความพร้อมและเป็นผู้นำด้านการวัดและรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งในกลุ่มบริษัทจดทะเบียน รวมถึงกลุ่มบริษัททั่วไปที่ขอรับรอง CFP และ CFO ในขณะที่ธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอนเข้มข้น เช่น ธุรกิจพลังงาน ขนส่ง และวัสดุก่อสร้าง ต่างก็ตื่นตัวกับคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่อาจกลายเป็นต้นทุนสำคัญของบริษัทได้
วิจัยกรุงศรีมองว่าธุรกิจไทยจะได้รับแรงกดดันด้านการจัดการคาร์บอนฟุตพริ้นท์อย่างรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยเป็นผลจากกติกาการค้าระหว่างประเทศและกฎระเบียบในประเทศ ที่จะทยอยยกระดับการบังคับใช้ ซึ่งธุรกิจแต่ละประเภทมีแนวโน้มเผชิญกับความท้าทายและต้องเตรียมความพร้อมแตกต่างกัน
ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้ การวัดและรายงานคาร์บอนฟุตพริ้นท์จะไม่ใช่เพียง “ทางเลือก” ของธุรกิจที่ต้องการแสดงความใส่ใจสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่จะกลายเป็น “ทางรอด” ของการดำเนินธุรกิจท่ามกลางกฏระเบียบด้านความยั่งยืนที่เข้มงวดและผู้บริโภคที่ตระหนักถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมมากขึ้นทั่วโลก
ที่มาข้อมูล : วิจัยกรุงศรี
ที่มารูปภาพ : TNN