นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยความคืบหน้ามาตรการ “คุณสู้ เราช่วย” ตั้งแต่เปิดลงทะเบียนวันที 12 ธันวาคม 2567 ถึง วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 มีลูกหนี้ลงทะเบียนผ่านระบบธปท. และผ่านสถาบันการเงินรวมทั้งหมด 820,000 ราย เป็นจำนวนบัญชี 990,000 บัญชี โดยประเภทสินเชื่อที่ลงทะเบียนมากที่สุดอันดับแรก คือ สินเชื่อบัตรเครดิต รองลงมาเป็นสินเชื่อบ้าน และสินเชื่อเช่าซื้อ
ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า ลูกหนี้ที่ลงทะเบียนถือว่าน้อย ซึ่งธปท.พบว่ามีปัญหาและอุปสรรคจากการที่สถาบันการเงินไม่สามารถติดต่อลูกหนี้บางส่วนที่มีคุณสมบัติเข้าร่วมมาตรการได้ โดยเฉพาะลูกหนี้เช่าซื้อรถยนต์ และลูกหนี้บางส่วนติดข้อจำกัดเงื่อนไขของมาตรการ เช่น ห้ามก่อหนี้เพื่ออุปโภคบริโภคในช่วง 12 เดือน และกังวลเรื่องการรายงานข้อมูลในเครดิตบูโร
สรุปข่าว
อย่างไรก็ดี ธปท.ได้ปรับแนวทางดำเนินการ โดยขยายระยะเวลาลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการถึงวันที่ 30 เม.ย. 68 และเปิดตัวมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยของ Non-bank ที่ไม่ใช่บริษัทในกลุ่มขอธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเปิดลงทะเบียนตั้งแต่ 13 ก.พ.-30 เม.ษ.68 ล่าสุดมีลูกหนี้ลงทะเบียนในส่วนของ Non-bank แล้วราว 15,000 ราย
และย้ำให้สถาบันการเงินทุกแห่งแจ้งลูกหนี้ที่มีคุณสมบัติเข้าร่วมมาตรการได้ทุกราย ให้เข้ามาลงทะเบียนแล้ว และสื่อสารแก้ความเข้าใจผิดของลูกหนี้ต่อโครงการว่าลูกหนี้ยังมีสภาพคล่องส่วนเพิ่มจากค่างวดที่ส่งลดลงร้อยละ 50 ในปีแรก ร้อยละ 70 ในปีที่สอง และร้อยละ 90 ในปีที่สาม ก่อนจะกลับไปส่งค่างวดตามปกติร้อยเปอร์เซ็นเหมือนเดิม โดยไม่มีภาระดอกเบี้ยเพิ่มเติม และยังสามารถกู้เพื่อประกอบธุรกิจได้
ส่วนการรายงานข้อมูลในเครดิตบูโร เป็นการให้ข้อมูลว่าเข้าร่วมโครงการ หากชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไข จะสะท้อนให้เห็นความตั้งใจ และมีวินัยในการแก้หนี้จะเป็นผลดีต่อลูกหนี้ในระยะต่อไป
สำหรับลูกหนี้ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการคุณสู้เราช่วยแล้วผ่านคุณสมบัตินั้น ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า มีลูกหนี้ผ่านเกณฑ์ค่อนข้างน้อย โดยจากการสำรวจข้อมูล ณ วันที่ 31 มกราคม 2568 พบว่ามีลูกหนี้ลงทะเบียน 630,000 ราย แต่มีผู้ผ่านเกณฑ์เข้าคุณสมบัติเพียง 240,000 ราย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 38 ของลูกหนี้ที่ลงทะเบียน
สาเหตุที่ลูกหนี้คุณสมบัติไม่ผ่านเข้าเกณฑ์ส่วนหนึ่งมาจากลงทะเบียนสินเชื่อผิดเจ้าหนี้ เพราะสับสนเรื่องชื่อผลิตภัณฑ์กับชื่อเจ้าหนี้ ซึ่งได้มีการแก้ไขระบบลงทะเบียนใหม่แล้ว นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ลงทะเบียนเป็นลูกหนี้ดีไม่ได้ค้างชำระหนี้ มียอดวงเงินเกินกำหนด และบางส่วนลูกหนี้ปิดบัญชีไปแล้ว
ทั้งนี้ธปท.จะเร่งประชาสัมพ้นธ์โครงการคุณสู้ เราช่วย เพื่อให้ลูกหนี้มีความเข้าใจมากยิ่งขึ้น จะได้เข้าร่วมโครงการและได้รับความช่วยเหลือจนสามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติในระยะข้างหน้าเมื่อรายได้ฟื้นตัว