นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้มอบให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) หารือกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) และคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) เกี่ยวกับการแก้ไขสัญญาสัมปทานการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้า จากการดำเนินมาตรการรถไฟฟ้าสูงสุดไม่เกิน 20 บาทตลอดสาย
พร้อมเจรจากับผู้ประกอบการรถไฟฟ้า เนื่องจากผลการดำเนินมาตรการฯ ที่ผ่านมา พบว่า ปริมาณผู้โดยสาร และรายได้ของรถไฟฟ้าแต่ละสายเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นเมื่อผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น ก็ควรแบ่งผลประโยชน์ให้กับภาครัฐเพิ่มมากขึ้น
ก่อนหน้านี้ที่ดำเนินมาตรการลดผลกระทบฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ซึ่งเปิดให้ประชาชนใช้บริการรถไฟฟ้าฟรี พบว่า ปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นประมาณ ร้อยละ 50 โดยหากเก็บค่าโดยสารสูงสูดไม่เกิน 20 บาทตลอดสาย
คาดว่าผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นจากปกติไม่น้อยกว่า ร้อยละ 30 ดังนั้นกระทรวงคมนาคมต้องเจรจากับผู้ประกอบการ เพื่อแก้ไขสัญญาฯ ให้แบ่งผลประโยชน์ที่เอกชนจะได้รับให้คืนมายังภาครัฐบาลบ้าง
เบื้องต้นคาดว่าภายในเดือน ส.ค. 68 จะเสนอเข้า ครม. พิจารณาเห็นชอบ จากนั้น รฟม. จะดำเนินการลงนามแก้ไขสัญญาฯ ก่อนที่จะเริ่มดำเนินมาตรการฯ กับรถไฟฟ้าทุกสายในเดือน ก.ย. 68
ด้านนายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะรักษาการผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า เบื้องต้นสัญญาฯ ที่ รฟม. ลงนามร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีชมพู และสายสีเหลืองต้องแก้ไขอัตราค่าโดยสารเป็นสูงสุดไม่เกิน 20 บาทตลอดสาย
จากเดิมที่มีการกำหนดอัตราค่าโดยสารเริ่มต้น และปรับขึ้นทุก 5 ปี นอกจากนี้จะต้องแก้ไขทบทวนส่วนแบ่งรายได้ใหม่ อาทิ สายสีน้ำเงิน ปัจจุบันตามสัญญาเอกชนต้องแบ่งรายได้ให้กับ รฟม. ประมาณร้อยละ 15
ส่วนจะต้องแบ่งรายได้ให้ รฟม. เพิ่มขึ้นเท่าใดนั้น ต้องพิจารณาข้อมูล และรายละเอียดต่างๆ ก่อน โดย รฟม. จะเร่งดำเนินการให้ได้ข้อสรุปเร็วที่สุด และทันก่อนใช้มาตรการฯ กับรถไฟฟ้าทุกสาย
ปัจจุบัน รฟม. ได้รับส่วนแบ่งรายได้จากสายสีน้ำเงินเท่านั้น ส่วนสายสีชมพู และสายสีเหลือง ยังไม่ได้รับ เนื่องจากตามสัญญาฯ การแบ่งส่วนแบ่งรายได้ให้ รฟม. จะต้องมีปริมาณผู้โดยสารถึงเป้าหมายตามที่กำหนด
สรุปข่าว