ไทยทำสถิติต้องการทองคำสูงอันดับ 7 ของโลก

รายงานแนวโน้มความต้องการทองคำประจำไตรมาสที่ 4 และการสรุปภาพรวมตลอดปี 2567 ของสภาทองคำโลก (World Gold Council: WGC) ได้เปิดเผยข้อมูลความต้องการทองคำทั่วโลกที่รวมปริมาณการซื้อขายทองคำนอกตลาดหลักทรัพย์ ‎(Over-the-counter: OTC) ซึ่งได้ทำระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ด้วยจำนวนรวม 4,974 ตัน

โดยประเทศไทยได้ก้าวขึ้นเป็นตลาดทองคำที่มีความแข็งแกร่งในปี 2567 และมีปริมาณความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำสูงเป็นอันดับ 7 ของโลก ที่จำนวน 39.8 ตัน คิดเป็นการเติบโตสูงถึงร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า 

คุณเซาไก ฟาน (Shaokai Fan) หัวหน้าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมประเทศจีน) และหัวหน้าฝ่ายธนาคารกลางระดับโลก ของสภาทองคำโลก กล่าวว่า ราคาทองคำที่สูงต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2567 นั้นถือว่าเป็นความท้าทายที่สำคัญสำหรับผู้บริโภคในตลาดกลุ่มประเทศอาเซียน 

อย่างไรก็ตามประเทศไทยนับว่ามีความแข็งแกร่งกว่าตลาดอื่น ๆ โดยมีปริมาณการบริโภคทองคำเครื่องประดับของไทยลดลงเพียงร้อยละ 2 ขณะที่ทั่วโลกได้ปรับลดลงร้อยละ 11  เราเชื่อว่าส่วนหนึ่งมาจากเศรษฐกิจภายในประเทศที่ได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งช่วยจำกัดระดับการปรับตัวลดลงของปริมาณความต้องการทองคำเครื่องประดับได้ 



สรุปข่าว

สภาทองคำโลกเผยประเทศไทยทำสถิติสูงเป็นอันดับ 7 ของโลกด้านความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำในปี 2567

คุณหลุยส์ สตรีท (Louise Street) นักวิเคราะห์การตลาดอาวุโส ของสภาทองคำโลก กล่าวว่า ทองคำยังคงเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในปี 2567 โดยราคาทองคำได้ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 40 ครั้งในปีที่ผ่านมา

สำหรับในปี 2568 นี้ สภาทองคำโลกคาดว่าธนาคารกลางจะยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ผลักดันตลาดทองคำต่อไป สนับสนุนด้วยนักลงทุนในกองทุน ETF ทองคำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากอัตราดอกเบี้ยปรับลดลง  

ทั้งนี้ ในปี 2567 ธนาคารกลางยังคงซื้อทองคำในปริมาณที่มหาศาลอย่างต่อเนื่อง โดยมีปริมาณการซื้อในระดับสูงกว่า 1,000 ตัน เป็นปีที่สามติดต่อกัน และการเข้าซื้อทองคำที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของธนาคารกลางในไตรมาสที่ 4 จำนวน 333 ตัน ส่งผลให้ยอดรวมการซื้อทองคำของธนาคารกลางตลอดทั้งปีอยู่ที่ 1,045 ตัน

ในทางกลับกันทองคำเครื่องประดับอาจยังคงชะลอตัวต่อไป เนื่องจากราคาทองคำที่สูงและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงตามไปด้วย ความไม่แน่นอนด้านภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจมหภาคนั้นน่าจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญของปี ซึ่งสภาวะนี้จะช่วยเสริมความต้องการทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ช่วยรักษามูลค่าและเป็นเครื่องมือลดผลกระทบจากความเสี่ยง


ที่มาข้อมูล : TNN

ที่มารูปภาพ : TNN