โมเมนตัม เวิร์กส์ (Momentum Works) เปิดเผยข้อมูลยอดขายบน TikTok Shop ปี 2024 ที่ผ่านมา พบว่า GMV (จีเอ็มวี) หรือมูลค่าการขายรวม ทั่วโลก บนแพลตฟอร์มดังกล่าว มีจำนวนกว่า 33,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือมากกว่า 1 ล้าน 1 แสน ล้านบาท และคิดเป็นอัตราการเติบโตกว่า 2 เท่าตัว เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งตัวเลขดังกล่าว เป็นการรวบรวมโดยบริษัทวิเคราะห์ข้อมูล แทบคัต ดอท คอม (Tabcut.com) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการวิเคราะห์ข้อมูลบุคคลที่ 3 ของ TikTok
เมื่อดูแยกตามรายประเทศแล้ว พบว่าแต่ละตลาดมีการเติบโตดีทีเดียว รวมถึงไทย ด้วย ที่พบว่า มีอัตราการเติบโตกว่าเท่าตัว และเปรียบเทียบในแง่ของมูลค่าการขาย ไทย ติดอยู่ในท็อป 3 จากทั่วโลกอีกด้วย
ตัวเลขไล่เรียงอันดับ แต่ละประเทศ สหรัฐอเมริกา ที่มี TikTok Shop มาเพียงปีเศษเท่านั้น พบว่าปีที่ผ่านมา มีการเติบโตของแพลตฟอร์มมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ด้วยมูลค่าการขายรวม สูงที่สุด อยู่ที่ประมาณ 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นอัตราการเติบโตสูงมากกว่า 6 เท่า หรือ 650% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
ส่วนอินโดนีเซีย อยู่อันดับที่ 2 จากปี 2023 มูลค่าการขายรวม อยู่ที่ 4,440 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มาปี 2024 มีมูลค่า 6,198 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นการเติบโต ร้อยละ 39
และ ไทย อยู่อันดับ 3 ในแง่ของมูลค่าการขาย โดย ปี 2023 มีมูลค่า 2,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปี 2024 มูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 5,743 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เติบโตต่อเนื่องที่ 101%
อันดับ 4 เป็นเวียดนาม ปี 2024 มียอดขายรวม 4,454 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เติบโต 157%
และตามมาด้วย ฟิลิปปินส์ ปีที่ผ่านมา มียอดขายรวม 3,120 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เติบโต 116%
ส่วนอันดับ 6 ถึง 8 ได้แก่ มาเลเซีย มียอดขายรวม 2,724 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เติบโต 104% สหราชอาณาจักร มียอดขาย 1,548 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโต 136% และสิงคโปร์ เป็นอีกประเทศที่มีการเติบโตบน TikTok Shop สูง โดยปีที่ผ่านมา มียอดขายรวม 391 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นอัตราการเติบโต 403%
สรุปข่าว
นอกจากนี้ จากรายงานดังกล่าว พบว่ากลุ่มสินค้าความงามและผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล เป็นหมวดหมู่ที่ใหญ่ที่สุดบน TikTok Shop โดยเฉพาะในอินโดนีเซีย ซึ่ง ร้อยละ 90 ของร้านค้าชั้นนำในอินโดนีเซีย และร้อยละ 80 ของผลิตภัณฑ์ที่ทำรายได้สูงสุดนั้น อยู่ในหมวดหมู่ความงาม และการดูแลส่วนบุคคล
ส่วนที่สหรัฐอเมริกา ด้วยอัตราการไลฟ์สด 14 ครั้ง ในจำนวน 20 ครั้ง ที่มียอดขายสูงสุด จัดทำขึ้นโดย KOL หรือผู้มีอิทธิพลในวงการความงามทั้งสิ้น
เมื่อดูตัวเลขการทำธุรกรรมเฉลี่ยต่อรายการ พบว่านักชอปใน สิงคโปร์ มีตัวเลขสูงที่สุด อยู่ที่ 19.77 ดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนอเมริกา มีมูลค่าการทำธุรกรรมเฉลี่ยต่อรายการ ที่ 19.64 ดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนอินโดนีเซีย มีมูลค่า 4.98 ดอลลาร์สหรัฐฯ และ มาเลเซีย 4.64 ดอลลาร์สหรัฐฯ
สำหรับ ในไทย ก่อนหน้านี้ TikTok Shop ประเทศไทย เผยว่า ปีที่ผ่านมา ร้านค้าและแบรนด์ไทยบนแพลตฟอร์ม เติบโตขึ้นถึง 8 เท่า จากยอดคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นกว่า 7.8 เท่า เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และร้อยละ 70 ของมูลค่าการขายรวม มาจากครีเอเตอร์คนไทยที่ทำงานร่วมกันกับ TikTok Shop ทั้งสิ้น
ส่วนภาพรวมในสหรัฐอเมริกา โมเมนตัม เวิร์ก รายงานว่า TikTok Shop เปิดตัวในสหรัฐอเมริกา เมื่อ เดือนกันยายน 2023 และด้วยระยะเวลาเพียง 16 เดือน หรือ 1 ปีเศษ เท่านั้น สหรัฐฯ ก็กลายเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของแพลตฟอร์มดังกล่าวไปแล้ว โดยปี 2024 มีมูลค่าการขายรวม สูงถึง 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นการเติบโตอย่างน่าทึ่งหลายเท่าตัว
โดยมีร้านค้ามากกว่า 98,000 ราย และมีอินฟลูเอนเซอร์ มากกว่า 11 ล้านคน ปีที่ผ่านมา สร้างวิดีโอกว่า 17 ล้านรายการ และสตรีมสด กว่า 4 ล้านครั้ง และอินฟลูเอนเซอร์ หรือ ผู้มีอิทธิพล สร้างยอดขายได้รวม เป็นมูลค่ากว่า 5,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 60 ของยอดขายรวมทั้งหมด
คุณ เจียงกัง หลี่ ผู้ก่อตั้งและ ซีอีโอ ของ โมเมนตัม เวิร์กส์ กล่าวว่า ยอดขายในสหรัฐฯ กว่า 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีแรกของการดำเนินงานเต็มปี ถือเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก และเชื่อว่า TikTok Shop อาจมีเป้าหมายที่ทะเยอทะยานมากกว่านี้สำหรับตลาดในสหรัฐอเมริกา รวมถึงการเปิดตัวในยุโรป และละตินอเมริกาในอนาคตอันใกล้
อีกทั้ง TikTok Shop ยังกลายเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ช่วยกระตุ้นการค้าผ่านวิดีโอ และการไลฟ์สด เกิดเป็นแนวโน้มใหม่ในตลาดการค้าออนไลน์ในสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบัน แอมะซอน กำลังทดลองรูปแบบการค้าแบบ ไลฟ์ คอมเมิร์ซ นั่นแสดงให้เห็นถึงความสนใจของบริษัทขนาดใหญ่ในตลาดนี้ รวมถึงแพลตฟอร์มอื่น ๆ ทั้ง ยูทูป และ เมตะ ก็มีการร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อพัฒนาและการเสริมสร้างการค้าผ่านทางไลฟ์ คอมเมิร์ซ ด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม TikTok ซึ่งมีผู้ใช้งานในสหรัฐอเมริกา มากกว่า 170 ล้านราย ปัจจุบันยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอนสูงในตลาดดังกล่าว
แม้ว่า ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ลงนามในคำสั่งบริหาร เลื่อนการแบน TikTok ออกไป 75 วัน และให้เวลาแก่ ไบต์แดนซ์ ซึ่งเป็น บริษัทแม่ของ TikTok ให้หาคนมาซื้อต่อกิจการ แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่มีความคืบหน้า หรือความชัดเจนใด ๆ
ส่วน ทรัมป์ เอง ได้เขียนข้อความใน ทรูธ โซเชียล ซึ่งเขาเป็นเจ้าของ บอกว่า ต้องการที่จะทำข้อตกลงในการปกป้องความมั่นคงของประเทศ และอยากให้สหรัฐฯ ถือหุ้นร้อยละ 50 ในลักษณะการร่วมทุน ใน TikTok
และทรัมป์ ยังได้ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหาร เพื่อจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ ซึ่งมีรายงานข่าวว่า อาจจะใช้กองทุนดังกล่าวนี้เข้าซื้อหุ้นของ TikTok อีกด้วย
ขณะเดียวกัน มีกระแสข่าวลือว่า อีลอน มัสก์ อาจเข้าซื้อกิจการ TikTok แต่เจ้าตัวก็ออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าวแล้ว ซึ่งกล่าวว่า ไม่สนใจที่จะซื้อแพลตฟอร์มดังกล่าว และไม่ได้ยื่นข้อเสนอซื้อ TikTok แต่อย่างใด รวมทั้งยอมรับด้วยว่าตนเองไม่เคยใช้ และ ไม่คุ้นเคยกับรูปแบบของแอปวิดีโอสั้นนี้
มักส์ ยังกล่าวด้วยว่า สำหรับตัวเองแล้ว ไม่ค่อยซื้อกิจการของบริษัทอื่น แต่ชอบที่จะสร้างบริษัทขึ้นมาเองมากกว่า ส่วนการซื้อทวิตเตอร์ หรือปัจจุบันคือ เอ็กซ์ นั้น ถือเป็นกรณีพิเศษ ด้วยเหตุผลที่เคยพูดย้ำเสมอ ว่าต้องการรักษาเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของชาวอเมริกันเอาไว้
ด้านความเคลื่อนไหวของ TikTok มีเพียงการอนุญาตให้ผู้ใช้ แอนดรอยด์ ในสหรัฐฯ สามารถดาวน์โหลดแอป ได้จากเว็บไซต์แล้ว แม้ว่า TikTok จะยังสามารถเปิดใช้งานในสหรัฐฯ ต่อไปได้ แต่ทาง กูเกิล และ แอปเปิล ยังไม่ได้นำ TikTok กลับมาอีกครั้งใน ร้านค้าแอป นั่นหมายความว่าผู้ใช้งานชาวอเมริกันที่ลบแอป ไปแล้วก่อนหน้านี้ จะไม่สามารถติดตั้งแอปใหม่ได้
ดังนั้น TikTok จึงแก้ปัญหา โดยให้ผู้ใช้แอนดรอยด์ ในสหรัฐฯ สามารถเชื่อมต่อกับแอปวิดีโอสั้นได้จากเว็บไซต์ ซึ่งการดำเนินงานครั้งนี้ ถือเป็นความพยายามที่จะหลีกเลี่ยงข้อจำกัดของแพลตฟอร์มในสหรัฐฯ
ที่มาข้อมูล : Momentum Works
ที่มารูปภาพ : -