อินโดฯ จำกัดการส่งออกน้ำมันทำอาหาร

สรุปข่าว

รัฐบาลอินโดนีเซียประกาศในกฎระเบียบใหม่ ว่า อินโดนีเซียได้ออกมาตรการจำกัดการส่งออกน้ำมันทำอาหารใช้แล้ว (UCO) และกากน้ำมันปาล์ม (palm oil residue) เพื่อรับประกันปริมาณที่เพียงพอสำหรับอุตสาหกรรมน้ำมันทำอาหารและไบโอดีเซลภายในประเทศ


สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า มาตรการนี้ของอินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลกนั้น มีเป้าหมายเพื่อรองรับนโยบายใหม่ที่เริ่มใช้ในปีนี้นั่นคือ การผสมเชื้อเพลิงจากน้ำมันปาล์มกับน้ำมันดีเซลในสัดส่วน 40% หรือที่เรียกว่า B40 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากสัดส่วน 35% ก่อนหน้านี้


ทั้งนี้ ทางการอินโดนีเซียได้พยายามหามาตรการจำกัดการส่งออก UCO มาระยะหนึ่งแล้ว แต่ขอบเขตของมาตรการใหม่ยังไม่ชัดเจนในทันที


สื่อรายงานว่า เมื่อเดือนที่แล้ว เจ้าหน้าที่รายหนึ่งอ้างว่า น้ำมันทำอาหารบางส่วนที่ขายภายใต้โครงการของรัฐบาลที่เรียกว่า "Minyakita" ถูกติดฉลากผิดว่าเป็นน้ำมันทำอาหารใช้แล้ว และถูกส่งออกไปยังต่างประเทศเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตไบโอดีเซล


นอกจากนี้  กฎระเบียบใหม่ซึ่งมีผลบังคับใช้ทันทีนั้น กำหนดให้ผู้ส่งออกกากน้ำมันปาล์มและน้ำมันทำอาหารใช้แล้วทั้งหมด รวมถึงน้ำทิ้งจากกระบวนการผลิตน้ำมันปาล์ม (POME) จะต้องได้รับการจัดสรรโควตาการส่งออกจากรัฐบาลอินโดนีเซีย โดย POME นั้นสามารถนำไปใช้ในการผลิตก๊าซชีวภาพ ปุ๋ย และเชื้อเพลิงได้


อย่างไรก็ตาม โควตาดังกล่าวจะถูกกำหนดในการประชุมระหว่างเจ้าหน้าที่จากกระทรวงต่าง ๆ เช่น กระทรวงการค้าและหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านอาหาร


ที่มา รอยเตอร์

ที่มาข้อมูล : -

ที่มารูปภาพ :

แท็กบทความ

ย่อโลกเศรษฐกิจ
อินโดนีเซีย
น้ำมันปาล์ม
ไบโอดีเซล
กากน้ำมันปาล์ม