ไทยเร่งลงทุนก่อสร้างรถไฟเชื่อมระบบขนส่งลาว-จีน

สรุปข่าว

การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) รายงานว่า ปัจจุบันรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา หรือรถไฟไทย-จีน หลังจาก ระยะทาง 250 กิโลเมตร (กม.) วงเงินก่อสร้างกว่า 179,400 ล้านบาท โดยโครงการได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2560 หรือก่อสร้างมาแล้ว 7 ปี “พบว่ามีความคืบหน้าการก่อสร้างโดยรวมประมาณร้อยละ 38.070 โดยยังล่าช้าจากแผนงานประมาณร้อยละ 39.984

ทางกระทรวงคมนาคม ยังหวังว่า จะใช้เวลาก่อสร้างอีกไม่เกิน 3-4 ปี และตั้งเป้าก่อสร้างเสร็จภายในปี 2571 

ตามแผนในปี 2568 จะมีก่อสร้างเสร็จประมาณ 1-2 สัญญา ได้แก่ ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และช่วงกุดจิก-โคกกรวด ระยะทาง 37.45 กม. กับช่วงสระบุรี-แก่งคอย ระยะทาง 12.99 กม.

จากการก่อสร้างทั้งหมด 14 สัญญา มี 2 สัญญาที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว คือ ช่วงกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. และช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม. ส่วนอีก 12 สัญญา มี 10 สัญญา อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และอีก 2 สัญญา ยังติดปัญหาการการจัดซื้อจัดจ้าง

ส่วนใหญ่โครงการยังติดเรื่องการเวนคืนที่ดิน ขอใช้พื้นที่ส่วนต่างๆ โดยพบว่าปัญหาได้มีการคลี่คลายไปแล้วกว่าร้อยละ 90 ยังมีเรื่องการปรับแบบการก่อสร้างในบางสัญญาและมี 2 สัญญายังรอข้อสรุป เช่น ช่วงสถานีอยุธยา รวมถึงบางสัญญาที่ปรับแบบใหม่อาจจะมีค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้น แต่โดยรวมกระทรวงคมนาคมระบว่าจะพยายามไม่ให้เกินจากกรอบวงเงิน ก่อสร้างที่วางไว้

 

สำหรับการลงทุนระบบรางในปี 2568 กระทรวงคมนาคมจะผลักดันการลงทุนโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ซึ่งมีแผนลงทุนทั้งหมด 7 เส้นทาง ระยะทาง 1,488 กิโลเมตร วงเงินลงทุนรวมกว่า 2.8 แสนล้านบาท 

ปัจจุบันคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างโครงการแล้ว 1 เส้นทาง คือ ช่วงขอนแก่น - หนองคาย และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) คาดว่าจะเริ่มงานก่อสร้างให้เกิดขึ้นในปี 2568

ส่วนอีก 6 โครงการที่เหลือ ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงบประมาณแล้ว กระทรวงคมนาคมกำลังรอความคิดเห็นจากกระทรวงการคลัง และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เพื่อเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติให้ดำเนินการต่อไป คาดว่าภายในต้นปี 2568 นี้ ความเห็นจากหน่วยงานต่างๆ จะครบสมบูรณ์ และ กระทรวงคมนาคม ก็จะเสนอเรื่องเข้าสู่ ครม.เห็นชอบทั้ง 6 เส้นทาง หลังจากนั้นการรถไฟฯ ก็จะนำไปจัดทำเอกสารประกวดราคาแต่ละโครงการ เพื่อผลักดันการลงทุนรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ครบตามแผนต่อไป

ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย - จีน  ระยะที่ 2 ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะทาง 357.12 กิโลเมตร วงเงินลลงทุน 3.41 แสนล้านบาท โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอต่อกระทรวงการคลัง และ สศช. พิจารณาภายใน 1-2 เดือน ก่อนเสนอ ครม. เห็นชอบ และคาดว่าจะเปิดประมูลได้ภายในปี 2568

 

ด้าน สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คมนาคม  ระบุว่า กระทรวงคมนาคมมีแผนที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้เชื่อมโยงระหว่างไทย – ลาว – จีน และภูมิภาคอื่น ๆ ของโลกให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับการลงทุนและการท่องเที่ยว โดยได้ “เร่งรัดพัฒนารถไฟทางคู่” เชื่อมโยงการเดินทางและการขนส่งจากกรุงเทพฯ และพื้นที่ EEC ให้เชื่อมต่อไปยังลาว เวียดนาม และจีนได้อย่างสะดวกและต่อเนื่อง 

ปัจจุบันได้ก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 ช่วงชุมทางถนนจิระ – ขอนแก่น เสร็จแล้ว ส่วนช่วงมาบกะเบา – ชุมทางถนนจิระ และทางคู่สายใหม่ ช่วงบ้านไผ่ – มุกดาหาร – นครพนม อยู่ระหว่างการก่อสร้าง สำหรับระยะที่ 2 ช่วงขอนแก่น – หนองคาย และชุมทางถนนจิระ – อุบลราชธานี คาดว่าจะก่อสร้างได้ในปี 2568 พร้อมนี้ได้เร่งรัดการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ให้แล้วเสร็จ และเปิดให้บริการได้ในปี 2571

นอกจากนี้ “กระทรวงคมนาคมได้พัฒนามอเตอร์เวย์ M6” สายบางปะอิน – สระบุรี – นครราชสีมา ปัจจุบันใกล้เสร็จแล้วและได้เปิดให้บริการตลอดเส้นทางในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2569 ซึ่งจะช่วยลดเวลาการเดินทางจากกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ให้เหลือเพียง 2 ชั่วโมง  

รวมถึง “อยู่ระหว่างศึกษาออกแบบมอเตอร์เวย์สายใหม่ร่วมกับระบบรางจากแหลมฉบัง – นครราชสีมา 

รวมถึง “ยังเร่งรัดเปิดให้บริการสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ – บอลิคำไซ) ภายในปี 2568” 

และกำลังพัฒนาศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม โดยจะเปิดให้บริการได้ในปี 2568 และพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) เพื่อเชื่อมรางกับถนนเข้าด้วยกันอย่างไร้รอยต่อ โดยได้มอบหมายให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยศึกษาความเหมาะสมของตำแหน่งที่ตั้งว่าจะอยู่ที่จังหวัดขอนแก่นหรือนครราชสีมา เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงการขนส่งไปยังท่าเรือแหลมฉบังในอนาคต

เพื่อสนับสนุนนโยบายการเป็นศูนย์กลางการเดินทางทางอากาศ (Aviation Hub) ของประเทศ “กระทรวงคมนาคมได้พัฒนาท่าอากาศยานที่มีอยู่เดิมในพื้นที่” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพรองรับการเดินทางที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต อาทิ ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารเป็น 2.8 ล้านคนต่อปี ก่อสร้างลานกลับลำอากาศยานของท่าอากาศยานนครราชสีมา และสนับสนุนให้มีสายการบินพาณิชย์มาทำการบินให้มากขึ้น ขยายลานจอดเครื่องบินท่าอากาศยานขอนแก่นและนครพนมให้สามารถรองรับจำนวนอากาศยานได้มากขึ้น และศึกษาออกแบบต่อเติมขยายความยาวทางวิ่งของท่าอากาศยานร้อยเอ็ดและเลย ให้สามารถรองรับอากาศยานขนาดใหญ่ได้

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็น Corridor สำคัญของไทย และเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ ถ้ามีการพัฒนา Mega Projects ทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศให้มีประสิทธิภาพ จะสามารถเชื่อมต่อกันกับภูมิภาคอื่นๆ และเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมในภูมิภาคต่อไป

 

ในการเชื่อมต่อระบบขนส่งกับประเทศเพื่อบ้าน เป็นการสร้างโอกาสในการค้าขายของไทยเพิ่มขึ้น 

ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS มองว่าการเชื่อมต่อ รถไฟจีน-ลาว และการปรับเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทาน จะช่วยสร้างโอกาสแก่ผู้ประกอบการไทยในตลาดจีนและลาว 3 ด้านหลัก ได้แก่

1. โอกาสด้านการค้า ไทยจะมีโอกาสส่งออกสินค้าศักยภาพไปตลาดจีนและลาว สำหรับตลาดจีน ได้แก่ ผักและผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง แป้งมันสำปะหลัง ทองแดงและผลิตภัณฑ์ ส่วนตลาดลาว ได้แก่ สินค้าปศุสัตว์ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ โดยผู้ประกอบการไทยอาจเลือกสินค้าเหล่านี้เป็นสินค้าเป้าหมายหรือเป็นทางเลือกใหม่ในการขยายตลาด ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย และสามารถเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในจีนและลาวมากขึ้น คาดการส่งออกสินค้าของไทยไปจีนผ่านรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาวเพิ่มขึ้น 27,000 ล้านบาท ในปี2573  จากในปี 2566 มีมูลค่าเกือบ 1 หมื่นล้านบาท 

2. โอกาสด้านการบริการ ประเมินว่า ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจขนส่งและ Logistics จะได้รับอานิสงส์จากแนวโน้มการเติบโตของการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน และการเติบโตของนักท่องเที่ยวชาวจีนและชาวลาวที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยมากขึ้น ถ้าดูเฉพาะจากมณฑลยูนนาน ซึ่งเป็นสถานีต้นทางของรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว รวมถึง 4 พื้นที่ใกล้เคียงที่สามารถเดินทางถึงกันได้ทางรถไฟ ได้แก่ มณฑลเสฉวน มณฑลกุ้ยโจว มณฑลฉงชิ่ง และเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ถ้าเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยเพียงร้อยละ 1 หรือราว 2.5 ล้านคน จะสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวอย่างน้อยราว 4,685 ล้านบาทต่อปี

3. โอกาสด้านการลงทุน คาดว่า เม็ดเงินลงทุนเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือในอีก 5 ปีข้างหน้า จะอยู่ที่ราว 7.6 แสนล้านบาทเป็น แบ่งเป็นเม็ดเงินจากการลงทุนของภาครัฐ 6.4 แสนล้านบาท ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนาดใหญ่ เช่น รถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ และสนามบิน รวมถึงการลงทุนในการส่งเสริมการท่องเที่ยว การค้าชายแดน เมืองอัจฉริยะ นิคมอุตสาหกรรม และเขตเศรษฐกิจพิเศษ

อีกการลงทุนต้องจับตามองคือการลงทุนของภาคเอกชนที่คาดว่าจะตามมาอีกอย่างน้อยราว 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งการลงทุนทั้งจากภาครัฐและเอกชนเหล่านี้จะสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการทั้งในและนอกภูมิภาคตามมาอีกด้วย

 


ที่มาข้อมูล : -

ที่มารูปภาพ :

แท็กบทความ

ระบบราง
ไฮสปีดไทย-จีน
รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน
รถไฟจีน-ลาว
รถไฟทางคู่