สรุปข่าว
เมื่อช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา กัว จื้อฮุย รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจของไต้หวัน ประกาศว่าจะช่วยบริษัทต่างๆ ของไต้หวันให้ย้ายฐานการผลิตออกจากจีน หลังจากพิจารณาผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างมากจากการทรัมป์จะเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน ตรงนี้อาจกระทบต่อบริษัทไต้หวันที่ไปตั้งโรงงานในจีน
สถานการณ์ทางการค้าที่รุนแรงขึ้น ทำให้รัฐบาลไต้หวันรู้สึกกังวลต่อแรงกดดันที่เพิ่มขึ้น จึงได้เห็นคนในรัฐบาลไต้หวันออกมาให้ความเห็นในเรื่องนี้มากขึ้น ซึ่ง รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจของไต้หวัน กล่าวยอมรับการแถลงต่อรัฐสภาฯ ว่า ถ้าจีนถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้น อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อบริษัทไต้หวันที่ผลิตสินค้าในจีน ดังนั้นรัฐบาลไต้หวันจะรีบช่วยเหลือบริษัทต่าง ๆ ย้ายฐานการผลิตออกจากจีนให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ ยังไม่มีการแสดงรายละเอียดเพิ่มเติมใด ๆ จากทางภาครัฐเกี่ยวกับแผนการดังกล่าว
ทรัมป์ซึ่งจะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนม.ค. 2568 มีนโยบายที่จะเก็บภาษีร้อยละ 60 สำหรับสินค้าจีนที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสี่ยงอย่างมากต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจีนซึ่งใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลก และก่อให้เกิดผลกระทบต่อบริษัทต่างชาติที่ใช้จีนเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯ
ก่อนหน้านี้ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่จากพรรครีพับลิกัน เคยตอกย้ำความไม่พอใจที่มีต่อไต้หวันในช่วงของการหาเสียง โดยกล่าวในรายการพอดแคสต์ “The Joe Rogan Experience” วิจารณ์กฎหมายชิป (CHIPS Act) ของสหรัฐฯ และทรัมป์ยังประกาศว่าจะเรียกเก็บภาษีชิปจากไต้หวันหากได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งการเรียกเก็บภาษีดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อผู้นำการผลิตชิปของโลกโลก บริษัท ไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟกเจอริง (TSMC) ทรัมป์ กล่าวว่า “คุณรู้ไหมไต้หวันขโมยธุรกิจชิปของเราไป แถมยังต้องการให้เราคุ้มครองด้วย”
สหรัฐฯ ยังพึ่งพาชิปจากไต้หวัน โดยบริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ที่พัฒนาชิป เช่น Amazon Google Microsoft ต่างต้องนำเช้าชิปจาก TSMC ซึ่งนักวิเคราะห์ของยูบีเอสประเมินว่า ชิปขั้นสูงมากกว่าร้อยละ 90 ของทั้งหมดทั่วโลกผลิตโดย TSMC
นอกจากนี้ ทรัมป์ยังประกาศว่าบริษัทต่างชาติไม่ควรมีสิทธิ์เข้ามาในสหรัฐฯ และใช้เงินของรัฐบาล โดยระบุว่า “กฎหมายชิปมันแย่มาก เราต้องเตรียมเงินหลายพันล้านเหรียญสหรัญฯ ให้บริษัทรวย ๆ เข้ามาและยืมเงินเพื่อสร้างบริษัทชิปขึ้นที่นี่ แต่ก็ไม่ได้ผลิตชิปที่ดีที่สุดที่สหรัฐฯ อยู่ดี” จากเรื่องนี้จึงทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า การที่ทรัมป์ชนะการเลือกอาจส่งผลกระทบต่อไต้หวันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ที่ผ่านมาจะเป็นพันธมิตรที่ดีในหลายเรื่อง
สำหรับกฎหมายชิปของสหรัฐฯ ออกมาโดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน โดยกฎหมายดังกล่าวให้การสนับสนุนเงินทุนจากเพื่อดึงบริษัทผู้ผลิตชิประดับโลกให้มาลงทุนในสหรัฐฯ
พบว่า “Intel ของสหรัฐฯ ได้รับเงินสนับสนุนถึง 8,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วน TSMC ไต้หวัน ได้รับสนับสนุนจำนวน 6,600 ล้านเหรียญสหรัฐ และSamsung ของเกาหลีใต้ได้รับเงินสนับสนุน 6,400 ล้าน เหรียญสหรัฐฯ”
นอกจากนี้ บริษัททั้งสองจากเอเชียยังได้รับจะได้รับเงินกู้จากรัฐบาล และเครดิตภาษีการลงทุนเป็นส่วนหนึ่งของแพ็กเกจจูงใจด้วย
เงินสนับสนุน และสิ่งจูงใจอื่นๆ ที่ประกาศให้ TSMC และ Samsung เมื่อเดือนเมษายน 2567 เป็นเพียงการดำเนินการขั้นต้นเท่านั้น และยังไม่ได้บรรลุข้อตกลงสุดท้าย ซึ่งมีความกังวลว่ารัฐบาลทรัมป์ที่กำลังจะเข้ามาบริหารประเทศอาจ เปลี่ยนแปลงเงื่อนไข และอาจลดทอนสิทธิประโยชน์บางส่วน
เดิมที TSMC วางแผนที่จะเริ่มการผลิตเต็มรูปแบบที่โรงงานแห่งแรกในสหรัฐฯ ซึ่งตั้งอยู่ในรัฐแอริโซนาในปี 2567 แต่ได้เลื่อนเป้าหมายออกไปเป็นปี 2569 นอกจากนี้ยังเลื่อนวันเริ่มต้นสำหรับโรงงานผลิตชิปแห่งที่ 2 ออกไปเป็นปี 2570 หรือ 2571 จากเป้าหมายเดิมในปี 2569
ขณะที่ Samsung ก็ได้เลื่อนการผลิตมวลที่โรงงานในรัฐเท็กซัสจากครึ่งหลังของปี 2567ไปเป็นปี 2569 เนื่องจากผลผลิตที่ไม่เพียงพอ
กฎหมายชิป ถือว่ามีความสำคัญต่อแผนการขยายธุรกิจในสหรัฐ และความล่าช้าในการจัดสรรเงินทุนจะส่งผลต่อความเร็ว และขนาดของการก่อสร้างที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้
กฎหมายดังกล่าว ซึ่งให้แรงจูงใจแก่ผู้ผลิตชิปในการสร้างโรงงานในสหรัฐ กลายมาเป็นหัวข้อที่ถกเถียงกันในช่วงก่อนการเลือกตั้ง โดยนายทรัมป์วิพากษ์วิจารณ์ถึงต้นทุนของกฎหมายดังกล่าว และนายไมค์ จอห์นสัน ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวในตอนแรกว่าพรรครีพับลิกันอาจตั้งเป้าที่จะยกเลิกกฎหมายดังกล่าว แต่ต่อมานายจอห์นสันได้ผ่อนปรนจุดยืนนี้ลง
ซีเอ็นบีซีรายงานว่า ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่น่าจะยกเลิกกฎหมายชิป ของรัฐบาลนายโจ ไบเดน แม้ว่าจะเคยกล่าวโจมตีในการหาเสียงเลือกตั้งก็ตาม เพราะหลายโครงการ เช่น โรงงานของ TSMC ในรัฐแอริโซนาและโรงงานของ Samsung ในรัฐเท็กซัสนั้นตั้งอยู่ในรัฐที่มีการสนับสนุนจากพรรครีพับลิกันอย่างมาก
พอล ทริโอโล รองประธานอาวุโสฝ่ายจีนและผู้นำนโยบายเทคโนโลยีของ ออลไบรท์ สโตนบริดจ์ กล่าวกับรายการโทรทัศน์ของซีเอ็นบีซีว่า ทรัมป์อาจจะไม่ยกเลิกกฎหมายฉบับนี้ เพราะกฎหมายดังกล่าวได้รับการสนับสนุนให้การผลิตขั้นสูงประเภทนี้เกิดขึ้นในประเทศ ซึ่งสนับสนุนกับสิ่งที่ คริส มิลเลอร์ ผู้เขียนหนังสือ “Chip War” บอกไว้เมื่อต้นปี ทั้งพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันต่างก็สนับสนุนการผ่านกฎหมายเพื่อกระตุ้นการลงทุนด้านการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในสหรัฐอเมริกา
ฝ่ายบริหารของไบเดนลงนามกฎหมายชิปและกฎหมายวิทยาศาสตร์ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากทั้งสองพรรคในเดือนสิงหาคม 2565 โดยมุ่งลงทุนเกือบ 53,000 ล้านเหรียญสหรัฐในการผลิตและการวิจัยเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของสหรัฐฯ ให้สามารถแข่งขันกับจีน แต่การจัดสรรงบประมาณสำหรับพระราชบัญญัติกฎหมายนี้ค่อนข้างล่าช้า
ทางด้าน จีน่า ไรมอนโด รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของไบเดน ได้ตั้งเป้าให้สหรัฐฯ ไปเป็น 1 ใน 5 ผู้ผลิตชิปขั้นสูงของโลกภายในปี 2573 อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ จะต้องมีกฎหมายชิปฉบับที่สอง เพราะตอนนี้ พวกเขากำลังประสบปัญหาความล่าช้าในการสร้างโรงงานของ ทีเอสเอ็มซี และ ซัมซุง รวมถึงปัญหาทางการเงินกับ อินเทล
บริษัทผู้ผลิตชิปที่ถูกจับตามอง คือ บริษัทไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟกเจอริง (TSMC) ผู้ผลิตชิปยักษ์ใหญ่ของโลกว่าจะเลื่อนโครงการก่อสร้างในสหรัฐฯ อีกหรือมไ แต่ล่าสุด TSMC ออกมายืนยันว่า แผนลงทุนในสหรัฐฯ ยังคงดำเนินการต่อไป
TSMC ระบุในแถลงการณ์ผ่านอีเมลเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 7 พ.ย. ว่า "แผนการลงทุนในสหรัฐฯยังคงไม่เปลี่ยนแปลง" โดยไม่มีการขยายความเพิ่มเติมแต่อย่างใด
TSMC ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดในโลกกำลังลงทุน 65,000 ล้านเหรียญในการก่อตั้งโรงงานแห่งใหม่ในรัฐแอริโซนา ซึ่งชิปจากTSMC ถือเป็นซัพพลายเออร์สำคัญของบริษัทต่าง ๆ รวมถึง แอปเปิ้ล (Apple) และอินวิเดีย (Nvidia)
มีความเครื่องไหวระหว่าง TSMC กับลูกค้าในจีน ล่าสุดสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า โดยอ้างอิงจากแหล่งข่าวว่า สหรัฐสั่งให้ TSMC หยุดการจัดส่งชิปขั้นสูงให้กับลูกค้าชาวจีนตั้งแต่วันที่ 11 พ.ย.2567 โดย กระทรวงพาณิชย์สหรัฐได้ส่งจดหมายถึง TSMC โดยกําหนดข้อจํากัดการส่งออกสําหรับชิปที่ซับซ้อนบางอย่าง ของการออกแบบขั้นสูง 7 นาโนเมตรหรือมากกว่า ซึ่งมีไว้สําหรับจีนที่ขับเคลื่อน AI และหน่วยประมวลผลกราฟิก (GPU)
คําสั่งของสหรัฐ เกิดขึ้นเพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากที่ TSMC แจ้งกระทรวงพาณิชย์ว่าพบชิปตัวใดตัวหนึ่งในโปรเซสเซอร์ Huawei AI ที่ผลิตโดย TSMC ถือเป็นการละเมิดการควบคุมการส่งออกที่ชัดเจน
Huawei ได้ถูกสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีดำในเรื่องชิป โดยสหรัฐฯ กําหนดให้ซัพพลายเออร์ต้องได้รับใบอนุญาตเพื่อจัดส่งสินค้าหรือเทคโนโลยีใดๆ ให้กับ Huawei เพื่อต้องการควบคุมในเรื่องชิปขั้นสูงที่จะส่งไปยังจีน
ที่มาข้อมูล : -